หวั่นเร่งอนุมัติเอื้อทุนใหญ่ก่อนมีรบ.ใหม่! ACTจับตาประมูลดิวตี้ฟรี-ข้องใจรายได้ต่ำกว่าตปท.
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ยันจับตาประมูลร้านค้าดิวตี้ฟรี 4 สนามบินอย่างใกล้ชิด ข้องใจรายได้จากการขายสินค้าปลอดภาษีที่ผ่านมาต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น หวั่นเร่งอนุมัติประมูลเอื้อปย.ให้ทุนใหญ่ก่อนได้รัฐบาลใหม่
สืบเนื่องจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ทางองค์กรฯได้ทำหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าในการนำ “ข้อตกลงคุณธรรม” มาใช้ในการประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีอากร (Duty Free Shop) ครั้งใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ทางองค์กรฯเคยทำหนังสือเสนอนายกฯแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 4 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าและคำตอบใดๆ (อ่านประกอบ : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ จี้บิ๊กตู่ ใช้ ‘ข้อตกลงคุณธรรม’ ประมูลดิวตี้ฟรีใหม่-ป้องกันผูกขาด)
ล่าสุด ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า การประมูลโครงการร้านค้าปลอดภาษีอากร (Duty Free Shop) ครั้งใหม่ในสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบิน หาดใหญ่, สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ รวมทั้งสิทธิ์เปิดจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick-Up Counter) ที่นักท่องเที่ยวซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีในเมือง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจนี้มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท เป็นอีกโครงการประมูลใหญ่ที่ทางองค์กรฯเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่า อาจถูกสอดแทรก เร่งอนุมัติหรือปรับแก้เงื่อนไขเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ก่อนมีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง
ข้อมูลจาก Generation research พบว่า ปี 2559 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 32.6 ล้านคน (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ค้างแรม) กลับสามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าปลอดภาษีอากรได้แค่ราว 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 6.1 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีจานวนผู้มาเยือนเพียง 16.9 ล้านคน แต่ยอดขายสินค้าปลอดภาษีและธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสูงกว่าประเทศไทยถึง 5.7 เท่า โดยเป็นจำนวนเงินถึง 10.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 3.49 แสนล้านบาท
เมื่อพิจารณาข้อมูลต่างๆแล้ว ยังพบว่า ประเทศชาติได้ผลตอบแทนจากอุตสาหกรรมนี้ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และกว่าสิบปีที่ผ่านมามีข่าวไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับร้าานค้าปลอดภาษีอากรมากมาย ทั้งที่เป็นคดีความและเรื่องที่ถูกตรวจสอบโดยรัฐสภา สภาปฏิรูป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป เช่น การจ่ายผลตอบแทนไม่เป็นไปตามสัญญา การตรวจสอบของเจ้าหน้ารัฐด้อยประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการไม่โปร่งใส เป็นต้น ขณะที่หลายประเทศสามารถสร้างจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ด้วยการช้อปปิ้งโดยเฉพาะสินค้าปลออดภาษีอากร นอกจากจะทำให้ตลาดท่องเที่ยวเติบโตแล้วยังสร้างรายได้ สร้างการจ้างงาน ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่รัฐ จึงไม่สมควรที่จะเสียโอกาสเหล่านี้ไปอีกฃ
“กว่าสิบปีที่ผ่านมาประเทศไทยเสียโอกาสหารายได้และสร้างชื่อเสียงด้านนี้ไปมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ถ้าวันนี้เอกชนไม่สามารถผูกขาดธุรกิจได้อีกต่อไป จะเกิดการพัฒนาธุรกิจเพื่อการแข่งขัน ยอดขายโดยรวมของไทยสามารถเพิ่มจากปีละ 6 หมื่นล้าน เป็น 3 แสนล้านต่อปี รายได้ของรัฐ เพิ่มจาก 9,000 ล้านบาท เป็น กว่าแสนล้านบาทต่อปีได้ ดังนั้นการประมูลครั้งใหม่ที่จะมีขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อความโปร่งใส เปิดกว้างและเป็นธรรม เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เราจึงทำหนังสือถึงนายกฯอีกครั้ง เสนอให้ใช้ข้อตกลงคุณธรรมกับการประมูลนี้ ให้ประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบตั้งแต่ต้น เพื่อความโปร่งใส และหวังว่าท่านนายกฯ จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้” ดร.มานะ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/