4 มุมมองพรรคการเมือง VS นโยบายเกี่ยวข้องกับสื่อ
4 พรรคร่วมแสดงมุมมองพร้อมแจงนโยบายเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ก่อน-หลังเลือกตั้ง มีความเห็นตรงกันประเด็นคืนเสรีภาพแท้จริงให้สื่อมวลชนอีกครั้ง
วันที่ 14 มี.ค. 2562 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเวทีเสวนา “รับฟังนโยบายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สำหรับ 4 พรรคการเมืองเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคอนาคตใหม่
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมุมมองปัญหาของสื่อมวลชนว่า กระบวนการของสื่อมวลชนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน สมัยก่อนการที่ประชาชนจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่จะตอบได้ว่า จริงหรือเท็จอย่างไร ต้องรอยืนยันผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เสียก่อน และในปัจจุบันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนสามารถสืบค้นข่าวสารผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและรวดเร็ว สามารถรับรู้ข่าวสารได้หลายช่องทาง ดังนั้นการจะปล่อยข่าวที่ไม่เป็นจริงออกมาไม่สามารถทำได้ สังคมในปัจจุบันเกิดการกลั่นกรองมากขึ้น อีกทั้งประชาชนสามารถบอกได้ว่า ข่าวที่มีการปล่อยออกไปมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดจากตัวขององค์กรเอง
ด้านนโยบายทางพรรคเพื่อไทย นายจิรายุ กล่าวว่า ไม่ได้มีการวางกรอบกฎหมายด้านสื่อไว้ตรงๆ เพียงแต่ส่งเสริมรากฐานทางประชาธิปไตยให้สังคมมีส่วนร่วมในทุกเรื่องของรัฐบาล เพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ลดอำนาจการปกปิดข้องมูลของทางราชการ
“ประชาชนต้องรู้เท่าทัน เท่ากันเพื่อที่จะเข้าถึงข้อมูล ต่อไปสื่อไหนที่ลำเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะอยู่ไม่ได้ในสังคมไทย” นายจิรายุ กล่าว
ขณะที่ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงโครงสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน นอกจากสื่อมวลชนที่เป็นผู้ส่งสารแล้ว ประชาชนยังสามารถเป็นผู้ส่งสารได้เช่นเดียวกัน แต่ปัญหาที่ตามมาคือ หน้าที่ของสื่อมวลชนที่แท้จริงนั้น ทุกคนเข้าใจตรงกันหรือไม่ เพราะหากเป็นสื่อมวลชน เราจะต้องสะท้อนหรือแสดงตัวตนออกมาให้สังคมได้รับรู้ และสังคมเองก็จะสะท้อนตัวตนของสื่อมวลชนออกมาเช่นกัน
สำหรับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับสื่อมวลชน มีประมาณ 9 ข้อ เช่น ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม, สนับสนุนสื่อมวลชนให้ทำหน้าที่อิสระ, ไม่ละเมิด ไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน, แก้ไขกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ส่วนสภาวิชาชีพที่จะออกมาเพื่อปกป้องสิทธิ และส่งเสริมจริยธรรมวิชาชีพ หากประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล จะไม่ทำหน้าที่เป็นเร็กกูเรเตอร์ (Regulator) ไม่ไปจับผิดแต่จะเป็นรัฐบาลที่ให้การสนับสนุน ช่วยผู้ประกอบวิชาชีพให้เติบโตแข็งแรงด้วยตัวเอง
ด้าน นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ผู้แทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า สื่อมีการต่อสู้เพื่อเสรีภาพมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ช่วงที่สื่อจะมีเสรีภาพมากที่สุดคือตอนที่รัฐบาลขณะนั้นมาจากการเลือกตั้งแบบปกติ ในปัจจุบันมองว่า สื่อมีความสามารถที่จะดูแลซึ่งกันได้ เพราะฉะนั้นทางพรรคชาติไทยพัฒนาจะกระจายอำนาจให้องค์กรดูแลกันเอง
"รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อาจจะมีเวลาทำงานบริหารประเทศได้ไม่นาน ฉะนั้นแล้วหากสื่อต้องการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพที่สื่อควรจะได้รับจะต้องมีการกระตุ้นย้ำเตือนให้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เร่งด่วนเพื่อที่รัฐบาลชุดนั้นจะได้ดำเนินการให้ ส่วนแนวทางนโยบาย รัฐธรรมนูญฉบั บ2560 มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆชัดเจนอยู่แล้วว่าสื่อจะสามารถปฏิบัติอะไรได้ แต่ไม่ควรมีคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มาตรา44 เข้ามาแทรกแซง ความอิสระของสื่อต้องมี และเมื่อมีอิสระแล้วก็ต้องสามารถจัดการดูแลกันเองได้”นายสัมพันธ์ กล่าว
สุดท้ายนางสาวพรรณิการ์ วานิช ผู้แทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงมุมมองสภาพสื่อในปัจจุบันว่ามี ทั้งหมด 4 เรื่องที่สื่อกำลังเผชิญ เรื่องแรกคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องด้วยจากรูปแบบสื่อที่นำเสนอเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบดิจิทัล ผู้คนส่วนมากมักจะเปิดรับสื่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งข้อดีคือทำให้ผู้รับสื่อสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น เป็นการแสดงออกถึงความเสรี และประชาธิปไตยในการแสดงความคิดเห็น แต่ในขณะเดียวกันด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยเอื้อให้ทุกคนสามารถจับต้องได้ จึงทำให้เห็นผู้รับสื่อกลายเป็นสื่อเช่น การใช้เฟซบุคไลฟ์ในการรายงาน ส่วนภาวะด้านเศรษฐกิจที่สื่อได้รับส่วนหนึ่งคือเรื่องของการประมูลช่องทีวีดิจิทัลที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกับช่วงของการรัฐประหาร ภายหลังจากการประมูลทำให้หลายสื่อต้องมีการปรับตัวซึ่งส่วนมากเจ้าของสื่อรายใหญ่ที่ทุนมากถึงจะสามารถปรับตัวได้
นางสาวพรรณิการ์ กล่าวต่อว่า เรื่องของการเมืองมีผลกระทบต่อสื่อเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557 ถึง 22 ก.พ.2562 มีการ “ลงดาบ”กับสื่อเองทั้งสิ้น 59 ครั้ง ซึ่งเป็นผลจากหลักเกณฑ์ของ คสช. ตัวอย่างเช่น ช่อง Voice ทีวีถูกคำสั่งลงโทษ 24 ครั้งและช่อง Peace ทีวีถูกคำสั่งลงโทษ 14 ครั้งซึ่งทั้งสองช่องมีลักษณะหัวก้าวหน้าทางประชาธิปไตยและยังมีช่องอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ทีวีสาธารณะอย่าง Thai PBS ทุกสื่อล้วนได้รับผลกระทบกันหมด และในเรื่องของจรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อ การตรวจสอบด้วยกันเองไม่เพียงพอต้องอาศัยประชาชนร่วมตรวจสอบและตัดสินเพราะผู้บริโภคมีวิจารณญาณ
“กฎหมายสื่อต้องมีน้อยที่สุดและต้องเป็นกฎหมายที่ปกติที่จะสามารถคุ้มครองทั้งผู้บริโภคและสื่อมวลชน จากบทเรียนการลงโทษสื่อทั้ง 59 ครั้งทำให้เห็นว่ากฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือของพรรคการเมืองเพื่อกำจัดสื่อฝ่ายตรงข้าม”นางสาวพรรณิการ์ กล่าว และว่า ในส่วนนโยบายที่ทางพรรคอนาคตใหม่เสนอคือการยกเลิกกฎหมายพิเศษที่เป็นเครื่องมือทางการเมือง การพิจารณาคำสั่งหรือประกาศต่างๆของ คสช.ที่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และ การพิจารณาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารฯ ที่จะต้องอำนวยความสะดวกมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนหรือสื่อเข้าถึงและสามารถตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานจองภาครัฐได้