ศาลคือปลายทาง ตุลาการฯ ชี้แก้ฝุ่น PM 2.5 ให้ได้ผล ภาครัฐต้องเข้มแข็ง บังคับใช้กม.จริงจัง
นักวิชาการ ชี้ PM 2.5 ปัจจัยหลักๆ มาจากจราจร ผู้ก่อมลพิษจึงมีหลายเจ้าภาพมาก ยากหาผู้รับผิดชอบ ระบุ ต้องไปแก้เชิงระบบ ด้านหมอศิริราช ยันช่วงปัญหาฝุ่นละออง ปิดกรุง คนป่วยพุ่งจริง ทั้งคนไข้เด็ก -ผู้ใหญ่ มาด้วยโรคทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ระคายเคืองจมูก ติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส
วันที่ 14 มีนาคม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ถอดบทเรียนคดีสิ่งแวดล้อม ตอน อุทาหรณ์ฝุ่น PM 2.5" ณ อาคารสิ่งแวดล้อมพัฒนดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
นางมณีวรรณ พรหมน้อย ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงคดีสิ่งแวดล้อม มีการฟ้องคดีทั้ง 2 ศาล ถ้าฟ้องผู้ประกอบการที่เป็นภาคเอกชน โดยมากผู้เสียหายจะฟ้องศาลยุติธรรม แต่หากเป็นหน่วยงานภาครัฐ ก็จะฟ้องมาที่ศาลปกครอง ซึ่งการพิจารณาในศาลปกครอง จะพิจารณาว่า เขามีหน้าที่ปฏิบัติแล้วละเลย หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือไม่
"ทำไมศาลปกครองตัดสินให้หน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าเสียหาย กรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ กฟผ.ถูกฟ้อง เนื่องจากเป็นผู้ก่อมลพิษ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกิดจากการเผาถ่านหิน ส่วนที่ให้หน่วยงานรัฐจ่าย เป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา ศาลปกครองเคยกำหนดค่าเสียหาย โดยเฉพาะกับสุขภาพ จะสงวนไว้ ศาลจะกำหนดค่าเสียหายเพิ่มเติม ในอีก 2 ปีข้างหน้าหากปรากฎว่า มีผู้เจ็บป่วยจากการละเลยจากหน้าที่เพิ่มขึ้น
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 บ้านเรามีกฎระเบียบมาก ทั้งกฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายการป้องกันสาธารณภัย กฎหมายสาธารณสุข ให้อำนาจกรณีเกิดเหตุเป็นภัยร้ายแรง ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี ให้อำนาจผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปฏิบัติการได้เลย ดังนั้น จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของผู้บริหารว่า ถึงเวลาหรือยังที่เขาจะเข้าไปทำหน้าที่นั้นๆ
"ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ ต้องช่วยกันทุกฝ่าย แม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าแต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น คนในสังคมต้องตระหนักรู้ถึงพิษภัยของปัญหาก่อน รู้ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เข้มแข็ง ศาลซึ่งเป็นปลายทาง ก็จะทำงานด้านนี้น้อยลง "
ขณะที่นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ประธานแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ในศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงคดีสิ่งแวดล้อมมีความยากในการพิจารณา เพราะไม่ได้เกิดทันทีทีทันใด แต่ค่อยๆ สะสมจนเกิดผลกระทบกับประชาชน รวมถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งความยากในการคำนวณเพื่อเยียวยาความเสียหาย
"คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่ศาลตัดสินให้กฟผ.จ่ายเงินเยียวยาชาวบ้านเป็นรายบุคคลตามความเหมาะสมนั้น เป็นผลดีกับภาคราชการ ต่อไปนี้ทำอะไรต้องเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน"
นายสุเมธ กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 สิ่งสำคัญคือข้อมูลทางการแพทย์ ที่ภาครัฐต้องบอกถึงผลกระทบกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา มลพิษในประเทศไทยแทบทุกเรื่องหากภาครัฐเอาใจใส่ กำกับให้เป็นไปตามกฎหมาย ก็จะบรรเทาปัญหาให้น้อยลงได้ ซึ่งการนำเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องหน่วยงานภาครัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่แทบทั้งสิ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอื้อมพร มัชฌิมวงศ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเมืองที่เกิดขึ้น แตกต่างจากเหตุการณ์มลพิษทางอากาศจากเหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หลักๆ มาจากการจราจร ฉะนั้นผู้ก่อมลพิษ (polluter) จึงมีหลายเจ้าภาพมาก การพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม จึงยากมากที่จะหาผู้รับผิดชอบ หรือมาจ่ายชดเชยด้านสิ่งแวดล้อม
"การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ จึงมักไปแก้เชิงระบบ เช่น การเปลี่ยนคุณภาพน้ำมัน การปรับปรุงคุณภาพการระบายมลพิษทางอากาศของโรงงานต่างๆ " ผศ.ดร.เอื้อมพร กล่าว และว่า PM 2.5 ผู้ก่อมลพิษจึงไม่ชัดเจน เป็นเรื่องที่พิสูจน์กันยากมากว่ามาจากที่ไหน นอกจากตรวจพบมาจากโรงงานที่ปล่อยมลพิษอย่างชัดเจน
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงปัญหาสุขภาพมีทั้งระยะสั้น และระยะยาว ที่น่ากลัวมากกว่า คือระยะยาว ซึ่งมองไม่เห็นและไม่สามารถรู้สึกได้ ฉะนั้น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ระยะสั้น มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยในโรงพยาบาลอย่างชัดเจน ทั้งคนไข้เด็ก และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ระคายเคืองจมูก ส่วนคนที่มีโรคเดิมอยู่แล้ว ก็ไอมากขึ้น ส่วนผลทางอ้อม ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส ซึ่งฝุ่นเข้าไปทำให้ระบบการป้องกันของร่างกายแย่ลง
"ปีนี้เราเจอคนไข้มากขึ้นจริง มีคนไข้จำนวนมากมาด้วยโรคผื่นคัน ระคายเคืองตา ติดเชื้อที่ตาเป็นโจทย์ใหม่ที่หมอผิวหนังไม่เคยเจอมาก่อน" รศ.นพ.สัมมน กล่าว และว่า เรายังเจอคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นด้วย ฉะนั้น แนวทางการใช้ชีวิตต้องปรับตัว เช็คปริมาณฝุ่นก่อนออกจากบ้าน ประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพด้วยตัวเอง ลดการสัมผัสเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะยอมรับว่า ปัญหาฝุ่นยังคงอยู่กลับเรา และจะกลับมาทุกๆ ปี ตามฤดูกาล
สุดท้ายนายกรศิษฐ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวการดำเนินงานเพียงเพื่อให้ประชาชนให้ใช้ไฟราคาถูก แต่กลับไปสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนกลุ่มหนึ่งต้องมาเสียสละนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้องแล้ว วันนี้กฟผ.มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานกฟผ.จะเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดตั้งแต่ต้น เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฉะนั้น โรงไฟฟ้าใหม่ๆ ใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลก และให้ชุมชนร่วมตรวจสอบ