ผู้ตรวจการแผ่นดินคอนเฟิร์ม! หน.คสช. ไม่ใช่ จนท.รัฐ-เป็นรัฏฐาธิปัตย์ คุม ปท. ชั่วคราว
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ยันชัด! ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯได้ ยกคำวินิจฉัยศาล รธน. 5/2543 ประกอบ ชี้เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ เพื่อเปลี่ยนผ่านสถานการณ์รุนแรงให้กลับสู่ปกติ เป็นการควบคุมประเทศระยะหนึ่ง บทเฉพาะกาล รธน. ให้การรับรองอำนาจอยู่
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2562 ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ประชุมเพื่อพิจารณากรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องเรียนให้ตรวจสอบกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ดังนั้นจึงไม่สามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ รวมถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้ว เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2543 และหัวหน้า คสช. เป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งเป็นความจำเป็นในช่วงต้องเปลี่ยนผ่านจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในประเทศไปสู่สถานการณ์ปกติ อันเป็นการเข้าควบคุมประเทศระยะหนึ่ง โดยรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 265 ยังคงให้การรับรองอำนาจนี้อยู่ แสดงให้เห็นว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. มิได้มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนรักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และมิได้มีลักษณะครบถ้วนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2543
ส่วนประเด็นร้องเรียนว่า กกต. ประกาศรับรองชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ มิได้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐแล้ว ดังที่ได้พิจารณาแล้ว การที่ กกต. รับรองชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 13 และ 14 กรณีนี้จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นแก่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองเพื่พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ระบุว่า ที่มาของกรณีนี้เกิดขึ้นจากที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณี กกต. วินิจฉัยลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ว่า เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 109 (11) ที่ระบุว่า บุคคลที่เป็นพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครับเลือกตั้ง
โดยเมื่อปี 2543 กกต. (ขณะนั้น) เห็นว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 109 (11) ต้องมีลักษณะว่า ตำแหน่งนั้น ๆ มีที่มาจากกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการระบุไว้ การดำรงตำแหน่งเกิดจากการแต่งตั้ง โดยอาศัยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ อำนาจหน้าที่ของตำแหน่งนั้น ถูกกำหนดโดยกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ ซึ่งกระทำตามอำนาจหน้าที่ดังกล่าว มีผลกระทบต่อบุคคลอื่น หรือก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ และบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าว อาจได้รับค่าตอบแทนเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดจากรัฐ
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญ (ขณะนั้น) วินิจฉัยคำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 109 (11) เห็นว่า เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในมาตรา 109 (11) เป็นการตีความบทบัญญัติจำกัดสิทธิบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ ส.ว. เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำในลักษณะเช่นนี้ควรถือว่าคำทั่วไปมีความหมายในแนวทางเดียวกันกับคำเฉพาะที่มาก่อน
หมายความว่า ในกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำเฉพาะตั้งแต่ 2 ถ้อยคำขึ้นไป และมีถ้อยคำที่เป็นคำทั่วไปตามหลักคำเฉพาะ คำทั่วไปนั้นต้องมีความหมายแคบกว่าความหมายธรรมดาของคำนั้น โดยจะต้องมีความหมายเฉพาะในเรื่องและประเภทเดียวกับคำเฉพาะที่มาก่อนหน้าคำทั่วไป
คำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ เป็นคำทั่วไป จึงต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือในแนวทางเดียวกับคำว่า ‘พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น’ ดังนั้นคำว่า ‘เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ’ มีลักษณะดังต่อไปนี้
1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย
2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ
3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ
4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย (อ่านประกอบ : กาง กม.-ดูคำวินิจฉัย ศาล รธน.ปี’43 นิยามตำแหน่ง จนท.รัฐ-หัวหน้า คสช.เข้าข่ายไหม?)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/