โดนการเมืองแทรกแซงตลอด! ป.ป.ช.ชง ครม.ปรับปรุงคัด หน.อุทยานแห่งชาติ ป้องเงินรั่วไหล
ป.ป.ช. ชงมาตรการแก้ปัญหาการจัดเก็บเงินบำรุงอุทยานแห่งชาติรั่วไหล เน้นกระบวนการสรรหาหัวหน้าอุทยานฯ ชี้ที่ผ่านมาถูกฝ่ายการเมืองแทรกแซง ตั้งคนไม่เหมาะสม-ไร้ประสบการณ์มาทำงานส่งผลให้เกิดปัญหา ระบุต้องจัดทำหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าทางอาชีพให้ชัด ยกตัวอย่างอุทยานต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาตรการและข้อเสนอแนะป้องกันการทุจริตในการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ เช่น การปรับปรุงการจัดเก็บรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ การพิจารณาและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และปัญหาด้านการบริหารจัดการ
มาตรการตอนหนึ่ง ระบุถึง ประเด็นปัญหาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า ตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ เพราะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ของอุทยานแห่งชาติ
จากข้อเท็จจริง พบว่า ตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ เป็นตำแหน่งที่ถูกโยกย้ายบ่อยครั้งที่สุด และที่ผ่านมาระบบการสรรหาหัวหน้าอุทยานแห่งชาติมีปัญหาอย่างมาก การคัดเลือกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่จะแล้วแต่ความเหมาะสมของผู้บริหาร ซ้ำในอดีตมีการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายหัวหน้าอุทยานแห่งชาติจากนักการเมือง และการโยกย้ายเมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้บางครั้งมีการแต่งตั้งที่ไม่มีความเหมาะสม หรือไม่มีประสบการณ์ทำงานด้านอุทยานแห่งชาติมาก่อน ทำให้ประสบปัญหาในการบริหารจัดการ เนื่องจากไม่มีประสบการณ์การทำงานมาก่อน
จากข้อมูลของผู้ทรงคุณวุฒิที่ให้คำแนะนำแก่ ป.ป.ช. พบว่า ในอดีตกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยมีการเสนอให้แก้ปัญหาดังกล่าว โดยการศึกษาและเสนอให้ทำเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ โดยกำหนดเกณฑ์ว่า การจะเข้ามาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติในระดับต่าง ๆ ต้องผ่านหลักเกณฑ์และประสบการณ์ที่กำหนด เช่น การขึ้นเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเกรดเอ เช่น อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ต้องผ่านการเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเกรดบี และเกรดซี ไม่ต่ำกว่ากี่ปี ต้องมีผลงานใดบ้าง มีการผ่านอบรมหลักสูตรมาตรฐานใด เป็นต้น แต่ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวมีการศึกษาแล้ว แต่กลับไม่มีการนำมาใช้แต่อย่างใด
เมื่อพิจารณารายงานการบริหารจัดการของอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศ เช่น อุทยานแห่งชาติ Yellowstone อุทยานแห่งชาติ Yosemite และอุทยานแห่งชาติ Grand Canyon ของประเทศสหรัฐอเมริกา และอุทยานแห่งชาติในต่างประเทศอื่น ๆ พบว่า มีการให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไปปฏิบัติหน้าที่ในอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง โดยมีกระบวนการคัดเลือกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่เข้มข้น โปร่งใส เพราะถือว่าการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติ จะสัมฤทธิ์ผลตามเจตนามรมณ์๘องกฎหมายและนโยบายได้ ขึ้นอยู่กับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเป็นสำคัญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติจึงต้องมีความรู้ความสามารถ และคุณสมบัติอื่น ๆ ตามที่กำหนด ดังนั้นประเทศที่มีการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติประสบความสำเร็จ มักมีระบบพัฒนาบุคลากรทุกระดับสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดให้มีหลักสูตรอบรมภายในองค์กรที่ได้มาตรฐาน เพื่อเอื้อให้บุคลากรระดับต่าง ๆ สามารถนำองค์ความรู้ และทักษะไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มาตรการของ ป.ป.ช. สรุปว่า ดังนั้นเพื่อให้การคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งอุทยานแห่งชาติ เกิดความโปร่งใสเป็นธรรม และทำให้เกิดการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติที่มีประสิทธิภาพ ที่จะเป็นกลไกช่วยป้องกันการรั่วไหลของเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแหงชาติ จึงเห็นควรให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการกำหนดระบบการสรรหา และหลักเกณฑ์ในการดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ หรือการทำเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพของหัวหน้าอุทยานแห่งชาติที่เป็นมาตรฐาน รวมทั้งมีระบบติดตามและประเมินผลหัวหน้าอุทยานแห่งชาติด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage