ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ถูกใครอุ้มหายจาก สนช.
ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอุ้มหาย ทนายสมชาย นีละไพจิตร ก็คือการผลักดันกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการบังคับบุคคลให้สูญหาย หรือ "ร่าง พ.ร.บ.อุ้มฆ่าอุ้มหาย" เพื่อป้องกันปัญหานี้ไม่ให้เกิดขึ้นง่ายๆ อีก
ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในยุครัฐบาล คสช. จนได้รับการขานรับอย่างกว้างขวางจากนักสิทธิมนุษยชน และองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่ปรากฏว่าถึงที่สุดแล้ว กลับมีการระงับการพิจารณาในนาทีสุดท้าย จนขณะนี้เรียกได้ว่า ร่างกฏหมายเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนฉบับนี้อาจไม่มีโอกาสได้ออกในยุค คสช. เพราะอยู่ในช่วงใกล้เลือกตั้ง และ สนช.ถูกเรียกร้องให้หยุดการพิจารณาร่างกฎหมาย
ร่าง พ.ร.บ.อุ้มฆ่าอุ้มหาย มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ร่างกฎหมายฉบับนี้ ออกตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับของสหประชาชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้สัตยาบันเมื่อปี 59 และมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับความผิด "อุ้มฆ่า-อุ้มหาย" เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
ฐานความผิดนี้ไม่มีกฎหมายรองรับโดยตรงมาก่อน ต้องอาศัยการปรับบทจากกฎหมายอาญา คือ กักขังหน่วงเหนี่ยว ทำร้าย หรือฆ่า ทำให้การจะเอาผิดตามหลักกฎหมายอาญาได้ ต้องมีหลักฐานที่มีน้ำหนักชัดเจน
ฉะนั้นหากผู้กระทำการ "อุ้มฆ่า" หรือ "อุ้มหาย" เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเสียเอง ย่อมเป็นเรื่องยากที่ครอบครัวผู้สูญเสียจะแสวงหาหลักฐานมาได้ ทำให้มีโอกาสสูงที่ผู้กระทำจะลอยนวล พ้นผิด เหมือนดังเช่นคดีทนายสมชายที่สุดท้ายศาลฎีกาก็ยกฟ้อง ทั้งๆ ที่ในศาลชั้นต้น ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยซึ่งเป็นอดีตตำรวจ 1 นาย และอดีตตำรวจคนนี้ยังหายตัวไปอย่างลึกลับจากเหตุโคลนถล่มที่อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลกด้วย
ร่างกฎหมายฉบับนี้เคยผ่านคณะรัฐมนตรี และส่งเข้าพิจารณาใน สนช. ผ่านวาระแรกไปสู่วาระที่ 2 แล้ว แต่กลับมีการท้วงติงว่า ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (เมื่อปี 60) ทำให้มีการตีกลับร่างกฎหมายจาก สนช.ออกไป จากนั้นร่างกฎหมายได้ถูกส่งเข้า สนช.อีกครั้งหนึ่งในช่วงท้ายของอายุ สนช. คือเมื่อเร็วๆ นี้เอง และกำลังจะพิจารณวาระ 2-3 แต่กลับมีข่าวการเลื่อนวาระ และมีข่าวลือการถอนร่าง เพราะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงหน่วยหนึ่งส่งหนังสือคัดค้านหากจะพิจารณาร่างกฎหมายนี้ต่อไป
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาทนายสมชาย ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า กระบวนการพิจารณากฎหมายของ สนช. ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่รับฟังเสียงของเหยื่อและครอบครัว ทั้งๆ ที่กฎหมายนี้ยกร่างขึ้นมาเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับเหยื่อและครอบครัวของผู้ที่ถูกอุ้มหาย หนำซ้ำสาระสำคัญของกฎหมายยังเทน้ำหนักในการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าคุ้มครองและปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งๆ ที่องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ยืนยันในหลักการว่า การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ ซึ่งเป็นการรับประกันสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมของเหยื่อทุกคน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
สาเหตุที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับสถานการณ์ "อุ้มฆ่า อุ้มหาย" เพราะในบ้านเราไม่ได้มีแค่ทนายสมชายคนเดียวที่ถูกอุ้มหาย แต่ยังมีคนถูกอุ้มหายอีกเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากรายงานของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของยูเอ็น พบว่ามีผู้ถูกบังคับสูญหาย หรือถูกอุ้มหายในประเทศไทยอีกอย่างน้อยๆ 82 รายที่ยังไม่ทราบชะตากรรม
ถ้าให้ยกตัวอย่างคนที่เคยเป็นข่าว ก็เช่น ลุงเด่น คำแหล้ นักปกป้องสิทธิ์ที่ดินทำกินที่จังหวัดชัยภูมิ, "บิลลี่" นายพอละจี รักจงเจริญ ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เป็นต้น
ขณะที่คดีทนายสมชาย เป็นคดีเดียวที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล แต่สุดท้ายก็เอาผิดใครไม่ได้ กฎหมายที่จะออกมาใหม่ ก็ไม่ออกแล้ว นี่คือความสิ้นหวังของการป้องกันการทรมานและอุ้มฆ่าอุ้มหายในประเทศไทย
ที่น่าตกใจก็คือ คดีที่เกี่ยวเนื่องกับคดีทนายสมชาย เช่น ผู้ต้องหาบางชุดที่ถูกจับกุมหลังเกิดเหตุรุนแรงช่วงต้นปี 47 อย่างคดีปล้นปืน แล้วร้องเรียนเรื่องถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ และทนายสมชายได้เข้าไปช่วยเหลือ พร้อมยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่ถูกระบุว่าเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมาน กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนที่ทนายสมชายจะถูกอุ้มหาย เมื่อทนายสมชายถูกอุ้มหายไปแล้ว คดีที่ฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าต่อไป มีพยานบางคนเข้ากระบวนการคุ้มครองพยาน แต่สุดท้ายคดีก็ทยอยยกฟ้อง พยานเหล่านั้นบางคนก็ถูกลอบสังหารโดยมือมืดที่ไม่รู้ว่าคือใคร
และไม่เคยมีใครจับคนร้ายในคดีเหล่านี้ได้เลย
---------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
15 ปีทนายสมชาย...อุ้มหายไร้คนผิด
อังคณา ซัด14 ปีคดีอุ้มทนายสมชาย สะท้อนวัฒนธรรมลอยนวลคนผิด รัฐไม่จริงใจสืบสวน