เมื่อประชาธิปไตยร่วงโรย เผด็จการก็กลับมา
ทัศนคติและความห่างเหินต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย สู่ความโน้มเอียงต่อความต้องการผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จของคนรุ่นใหม่ อาจเป็นสัญญาณที่บอกให้โลกรู้ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เคยออกแบบไว้เมื่อนับพันปีก่อนและพัฒนามาสู่ยุคปัจจุบันนั้น กำลังเผชิญกับความสั่นคลอนของโลกที่เปลี่ยนไปและกำลังท้าทาย
เหลือเวลาอีกไม่กี่วันประเทศไทยก็จะเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญหลังจากที่ว่างเว้นมานานหลายปีจากความไม่สงบทางการเมืองและการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากความตื่นตัวของประชาชนต่อการเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้งเองยังมีจำนวนมากถึง 11,181 คน จาก 81 พรรคการเมือง ซึ่งนับว่ามากกว่าจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งในปี 2554 ถึงสี่เท่า และยังมีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่อีกเฉียด 7 ล้านคนซึ่งอาจเป็นตัวแปรสำคัญต่อคะแนนเสียงของพรรคการเมืองบางพรรคด้วย
บทเรียนจากการยึดอำนาจครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้พรรคการเมืองทั้งฟากที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตย พรรคที่บอกว่า ตัวเองเป็นกลาง และพรรคใหญ่บางพรรคต่างออกมาประสานเสียงสารภาพผ่านสื่อว่า นักการเมืองเองมีส่วนผิดพลาดในการบริหารประเทศเมื่อได้เข้ามาเป็นฝ่ายบริหาร จนทำให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองและนำไปสู่การยึดอำนาจในที่สุด
แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐและพรรคแนวร่วม ซึ่งชูคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะถูกผลักไสให้อยู่ใน ฝ่ายเผด็จการอย่างยากที่จะหาข้อโต้แย้งได้ แต่เมื่อดูผลสำรวจจากโพล ครั้งใดก็ตาม ชื่อของคุณ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีผู้ถวิลหาอยากให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปมากเป็นอันดับหนึ่งหรือไม่ก็เป็นอันดับสอง อยู่เสมอ
ชื่อของคุณ ประยุทธ์ จึงอยู่ในอันดับที่เหนือกว่าบุคคลหลายๆ คนที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจากฝั่งที่เรียกตัวเองว่า ฝ่ายประชาธิปไตยเสียอีก
ปรากฏการณ์นี้น่าจะมีนัยสำคัญบางอย่างที่บอกให้สังคมได้รับรู้ว่า ประชาธิปไตยที่เราเคยรู้จักนั้นถูกกัดกร่อนมาโดยตลอดจากฝ่ายการเมือง รวมทั้งความเชื่องช้าของระบบที่ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป จนทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความคาดหวังต่อผู้นำที่มีคุณสมบัติแบบ คุณประยุทธ์ ทั้งๆที่ คุณประยุทธ์ ถูกคนบางกลุ่มตราหน้าว่าเป็นพวกเผด็จการก็ตาม
มิใช่สังคมไทยเท่านั้นที่คนกลุ่มใหญ่เคยออกมาเรียกหาผู้นำที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จนับตั้งแต่การชุมนุมหลายต่อหลายครั้งในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ประชาชนบางกลุ่มของประเทศที่ได้ชื่อว่า มีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งหลายประเทศมีแนวโน้มออกห่างจากระบอบประชาธิปไตยโดยหวังพึ่งพิง ผู้นำที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเช่นเดียวกัน
จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่า เหตุใดคนจำนวนหนึ่งกำลังตีตัวออกห่างจากระบอบประชาธิปไตย ทั้งๆที่การปกครองระบอบนี้ถือว่าเป็นระบอบที่ยอมรับกันมากที่สุดในโลก
จากข้อมูลการศึกษาของ ยาสชา เมาค์ ( Yascha Mounk) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาและ โรเบอโต สเตฟาน โฟ ( Roberto Stefan Foa) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเมลเบอร์น ออสเตรเลีย พบว่า คนรุ่นใหม่ในสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มให้ความสำคัญต่อการอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยน้อยลง เมื่อเทียบกับคนรุ่นเดียวกันในอดีต
นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มลักษณะเดียวกันในประเทศ สวีเดน ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ และอังกฤษ
ผลการศึกษา พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศ ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมัน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดนและสหรัฐอเมริกา ที่เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยซึ่งใช้ในการปกครองประเทศของตนเอง “แย่” และ “แย่มาก” มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากประชากรรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งนั้น มีจำนวนสูงถึง 23 เปอร์เซ็นต์มากกว่าทุกประเทศในกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจข้างต้น
ผู้วิจัยยังพบว่า คนรุ่นใหม่มีมุมมองต่อระบอบประชาธิปไตยเปลี่ยนไปจากคนรุ่นก่อน โดยมีความแคลงใจต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่าคนรุ่น พ่อ-แม่
ตัวอย่างการสำรวจประชากรรุ่นใหม่ของประเทศ เยอรมัน สหราชอาณาจักร สวีเดน และ สหรัฐอเมริกา ต่อการมี “ผู้นำที่เข้มแข็ง” ที่ไม่ได้มาจากระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง ได้แสดงให้เห็นว่า ประชากรรุ่นใหม่มีแนวโน้มนิยม ผู้นำลักษณะนี้ มากกว่าคนรุ่น พ่อ-แม่ ในขณะอยู่วัยเดียวกัน
นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรกลุ่มอายุ 14 – 35 ปี ของประเทศ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน เยอรมัน และ ออสเตรเลีย ยังนิยมชมชอบการเมืองในลักษณะ “สุดโต่ง” มากกว่าในอดีตอีกด้วย
ไม่เฉพาะกลุ่มประเทศดังกล่าวเท่านั้นที่มีแนวโน้มไม่เชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตย จากข้อมูลการศึกษาหลังจากยุคอินเทอร์เน็ตมีเข้ามามีบทบาทในสังคมโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (1995-2014) จาก ประเทศในภูมิภาคต่างๆ 31 ประเทศ พบว่า ทัศนคติของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตยอยู่ในสถานะที่เปราะบางและมีความโน้มเอียงไปสู่ระบอบเผด็จการเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง
ภาพแสดงความโน้มเอียงของประชาชนต่อความนิยมอำนาจเผด็จการ
ที่มา : https://www.washingtonpost.com/news/wonk/wp/2016/12/08/yes-millennials-really-are-surprisingly-approving-of-dictators/?utm_term=.00adc00a0efe
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มของคนรุ่นใหม่ต่อระบอบประชาธิปไตยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต แต่จากการสำรวจของ สำนักวิจัย พิว ( Pew Research Center) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า โดยภาพรวมประเทศจำนวนมากยังสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีจำนวนประเทศไม่มากนักที่สนับสนุนระบอบเผด็จการ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจว่า บางประเทศ ในเอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนิเซีย และ ฟิลิปปินส์ มีความโน้มเอียงที่ชอบผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มากกว่าประเทศใดๆ ในกลุ่มที่มีการสำรวจ และยังพบว่า ในบางประเทศผู้ที่ได้รับการศึกษาน้อยมักมีแนวโน้มที่จะชอบผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่มีการศึกษาที่สูงกว่า
ผลการสำรวจเดียวกัน พบว่า ประเทศจำนวนน้อยมีความชื่นชอบรัฐบาลทหาร ยกเว้น ประเทศเวียดนามเพียงประเทศเดียวที่ประชาชนสนับสนุนรัฐบาลทหารมากถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยอินโดนิเซียและอินเดีย ข้อมูลในกลุ่มประเทศที่ทำการสำรวจในหัวข้อนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่มีการศึกษาน้อยมีแนวโน้มชื่นชอบรัฐบาลทหารมากกว่าผู้มีการศึกษาที่สูงกว่า
ทัศนคติและความห่างเหินต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย สู่ความโน้มเอียงต่อความต้องการผู้นำที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จของคนรุ่นใหม่ อาจเป็นสัญญาณที่บอกให้โลกรู้ว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เคยออกแบบไว้เมื่อนับพันปีก่อนและพัฒนามาสู่ยุคปัจจุบันนั้นกำลังเผชิญกับความสั่นคลอนของโลกที่เปลี่ยนไปและกำลังท้าทายต่อคำพูดที่ว่า “ เมื่อใดก็ตามที่ประเทศก้าวสู่วิถีเสรีประชาธิปไตย มันก็จะดำรงอยู่ตามวิถีนั้น ” เป็นอย่างยิ่ง
การไขว่คว้าระบอบประชาธิปไตยด้วยการฆ่าระบอบเผด็จการโดยปากกาเป็นภารกิจที่คนไทยยังไม่เคยทำได้สำเร็จ ตราบเท่าที่ประชาธิปไตยของประเทศยังถูกกัดกร่อนและบิดเบือนจากนักการเมืองที่ หลงตัวเอง มีผลประโยชน์แอบแฝง ลุแก่อำนาจ และไม่ยอมปรับตัวต่อสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป
อ้างอิง
3. https://www.nytimes.com/2016/11/29/world/americas/western-liberal-democracy.html
ภาพประกอบ https://www.bloomberg.com/quicktake/thailands-troubled-democracy