กรมคุ้มครองสิทธิฯ เผยศาลไทยรับวางหลักคู่เพศเดียวกัน จดทะเบียน ตปท. ใช้พ.ร.บ.ขัดกันฯ ตัดสินจัดการมรดก
รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ เผยศาลไทยตัดสินคู่รักจดทะเบียน 'หุ้นส่วนชีวิต' เป็น ผจก.มรดก กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต ยอมรับวางหลักเเล้ว ใช้ กม.การขัดกันเเห่งกฎหมาย พิจารณา -อนาคตครอบคลุมคู่รักไทย-ไทย ต้องดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต ระบุความคืบหน้า อยู่ในชั้นกฤษฎีกา คาดใช้เวลา 3 เดือน คาบเกี่ยวรัฐบาลใหม่ น้อมรับความเห็นปรับปรุงทุกฝ่าย ขอให้อยู่ในหลักความเสมอภาค สิทธิเท่าเทียม ไม่ใช่ปิดกั้น
สืบเนื่องจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีการขอจัดการมรดก โดยให้นายชาติวุฒิ วังวล เป็นผู้จัดการมรดกของ นายไซม่อน วอลทตี้ ลอเร้นซ์ ผู้ตายสัญชาติชาวอังกฤษ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนชีวิต (Civil Partnership) ตามสิทธิเเละกฎหมาย โดยมีมรดกเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาเอ็มโพเรียม 1,196,303.91 บาท ทั้งนี้ ตามการยินยอมของทายาทผู้ตาย 4 คน คือ บิดา มารดา พี่สาว และน้องสาว (อ่านประกอบ:คดีตัวอย่าง! ศาลไทยตัดสินให้คู่รักจดทะเบียน ‘หุ้นส่วนชีวิต’ มีสิทธิจัดการมรดก)
นายเกิดโชติ เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุปัจจุบันศาลไทยยอมรับในการวางหลักแล้วว่า ถ้าชายกับชาย หรือหญิงกับหญิง ได้จดทะเบียนสมรสในต่างประเทศ เมื่อกลับมาอยู่ในประเทศไทย คู่รักเสียชีวิต ศาลจะนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาใช้ในการพิจารณา ส่วนเรื่องความเป็นคู่สมรสหรือคู่ชีวิตนั้น ยังไม่มีกฎหมายรองรับแท้จริง
“หากคู่สมรสอยู่กินร่วมกันสองคน แต่ไม่ได้วางแผนครอบครัวให้ดี เช่น ไม่ได้เขียนพินัยกรรม ไม่ได้เขียนกรมธรรม์ประกันชีวิต จะไม่ได้รับมรดกของผู้ตายตามอานิสงค์กฎหมาย แม้คำพิพากษาของศาลตัดสินยอมให้นำกฎหมายขัดกันมาใช้กับการใช้ชีวิตคู่ของคนที่ได้มีโอกาสไปจดทะเบียนกับคนต่างประเทศที่ยอมรับแล้ว แต่โอกาสเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น ดังนั้น การแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่มคนไทยกับคนไทยที่มีรักกันเอง จึงพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้”
รองอธิบดีฯ กล่าวต่อถึง ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังจากผ่านมติ ครม. เมื่อ 25 ธ.ค. 2561 ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อ ม.ค. ที่ผ่านมา และได้แต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษที่มีจากผู้เชี่ยวชาญทุกหลายภาคส่วนขึ้นมาพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 3 เดือน เพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวของรัฐบาลชุดใหม่ ก่อนจะเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่ทราบผลการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จึงไม่ทราบว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะขอให้เพิ่มเติมเนื้อหารายละเอียดในส่วนใดบ้าง และยังไม่มีการเรียกประชุมคณะผู้เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจง
“ยินดีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งหมด ไม่ว่าคณะกรรมการกฤษฎีการับฟังความคิดเห็นมาอย่างไร หรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอย่างไร กระทรวงยุติธรรมยินดีน้อมรับ แต่ขอให้หลักการและเหตุผลเป็นไปตามความต้องการให้มีกฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับสิทธิของคนหลากหลายทางเพศเหล่านี้ ในฐานะความเสมอภาค สิทธิความเท่าเทียม แต่ไม่ใช่สิทธิที่ถูกปิดกั้น”
นายเกิดโชติ ยังกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่เสนอฉบับร่างไปนั้น ได้ระบุถึงบทบัญญัติเรื่องของคนสองคนอยู่กินร่วมกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะไม่อยู่ร่วมกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปจะได้อะไรบ้าง โดยแบ่งทรัพย์สินร่วมกันที่มีอยู่จะแบ่งอย่างไร หน้าที่ต้องดูแลซึ่งกันและกันไปจนกว่าการอยู่ร่วมกันนั้นจะสิ้นสุด เช่น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพิการ เสียชีวิต ได้รับอุบัติเหตุ แม้กระทั่งการเข้ารับสิทธิในฐานะผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งที่เสนอร่างไปได้เขียนสิทธิคู่ชีวิตได้หมดเช่นเดียวกันกับคู่สามีภรรยา แต่ไม่ได้กล่าวถึงบุคคลที่ 3 อย่างเช่นบุตรบุญธรรม รวมทั้งเรื่องการเปลี่ยนนามสกุล เพราะนามสกุลเกี่ยวพันกับเจ้าของนามสกุล อะไรที่เกี่ยวพันกับบุคคลที่ 3 จะไม่ใส่เข้าไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/