หมอชนบท-ผู้ป่วย จุดเทียนประท้วง เรียกร้องงบจัดซื้ออุปกรณ์แพทย์จำเป็น รพ.กันดาร
แพทย์ชนบทกว่า 200 คน จุดคบเพลิงประท้วงหน้า สธ. ไม่พอใจงบ 3 พันล.จัดซื้ออุปกรณ์ล่าช้า ถูกตัดทิ้ง700ล.
วันที่ 2 ก.ค.55 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) น.พ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้นำแพทย์และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลต่างๆในต่างจังหวัด รวมทั้งตัวแทนผู้ป่วยประมาณ 200 คนมาจุดคบเพลิงและจุดธูปเทียน พร้อมชูป้ายประท้วงถึงปัญหาความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ ตามโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 หรือโครงการเงินกู้ DPL 3,426 ล้านบาทมานานกว่า 9 เดือน ทั้งที่โครงการดังกล่าวได้มีการจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทเอกชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าก่อนที่จะมีการรวมตัวกันในวันนี้ นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เรียกแกนนำกลุ่มแพทย์ชนบทไปเข้าพบเพื่อหารือกรณีดังกล่าวว่าจะเร่งรัดดำเนินการให้ พร้อมขอร้องไม่ให้นำม็อบมาประท้วง
น.พ.เกรียงศักดิ์ เปิดเผยว่าการมาประท้วงครั้งนี้นอกจากมาเรียกร้องให้มีการเร่งพิจารณาโครงการดังกล่าวแล้ว ได้มาไหว้สักการะพระบิดาแห่งวงการสาธารณสุข เพื่อให้ช่วยผลักดันให้โครงการได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับกรณีที่นายวิทยาได้เรียกไปพบและแจ้งให้ทราบว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม.พรุ่งนี้ (3ก.ค.) และแจ้งว่าสาเหตุของความล่าช้าเนื่องจากต้องการให้มีความรอบคอบ และได้มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดยมีการแบ่งแยกประเภทของอุปกรณ์คุรุภัณฑ์ที่จะจัดซื้อออกเป็น3 ประเภท ได้แก่ 1.อุปกรณ์ฉุกเฉิน 2.อุปกรณ์สนับสนุนที่สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง 3.อุปกรณ์สนับสนุนที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง พร้อมกับแจ้งว่างบประมาณที่เสนอจะจัดซื้อเฉพาะอุปกรณ์ 2 ประเภทแรกก่อนในวงเงิน 2,726 ล้านบาท
ส่วนประเภทที่ 3 ถือว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนวงเงินประมาณ 700 ล้านบาทให้ตัดออกไปก่อน ซึ่งทางกลุ่มแพทย์ชนบทไม่เห็นด้วย และเห็นว่าอุปกรณ์ประเภทที่ 3 ซึ่งแยกออกมาถือว่ามีความจำเป็นในการให้บริการผู้ป่วย จึงขอให้ สธ.หางบประมาณมาจัดซื้อให้ได้ ซึ่ง สธ.รับที่จะไปดำเนินการหางบประมาณในส่วนอื่นมาจัดซื้อให้ แต่คงต้องรอติดตามผลว่าจะเป็นอย่างไร
"เราเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมโครงการที่ได้มีการกลั่นกรองจนไปถึงขั้นการจัดซื้อจัดจ้างคัดเลือกเอกชนไปแล้ว ต้องนำกลับมาทบทวนตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองอีกรอบ ทำให้โครงการล่าช้าไปอีก ขณะที่เทียบกับโครงการของหน่วยงานอื่นได้รับอนุมัติกันไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามวันนี้กลุ่มแพทย์ชนบทได้ส่งเอกสารสอบถามโรงพยาลชุมชนเกือบทุกแห่งให้เร่งทำเอกสารยืนยันมาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้อุปกรณ์ต่างๆเพื่อเป็นเอกสารประกอบในการพิจารณาของ ครม.
น.พ.เกรียงศักดิ์กล่าวและว่า สำหรับอุปกรณ์ประเภทที่ 3 ที่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ไม่จำเป็น แต่ทางการแพทย์ถือว่ามีความจำเป็น เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองจะใช้กรณีเมื่อเกิดไฟฟ้าดับ อยู่ระหว่างการผ่าตัด อยู่ระหว่างทำคลอด ใช้กับเครื่องช่วยชีวิตผู้ป่วย, เครื่องฆ่าเชื้อโรคสำหรับอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ ปัจจุบันหลายแห่งเป็นเครื่องรุ่นเก่า นึ่งไปแล้วต้องมาตาก ผึ่งลมให้แห้ง ถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ,เครื่องเอ็กซเรย์ บางแห่งเก่ามากใช้มากว่า 30 ปีแล้ว รังสีรั่วมีปัญหากับเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน เป็นต้น
สำหรับงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์เดิมขอไปทั้งหมดประมาณ 9,800 ล้านบาท แต่ถูกตัดเหลือเพียง 3,426 ล้านบาทตามความสำคัญ โดยจัดแบ่งให้กับโรงพยาบาล 4 ประเภท 1.โรงพยาบาลชุมชน มีจำนวนเตียงต่ำกว่า 60 เตียงลงมามี 600 แห่ง 2.โรงพยาบาลชุมชนทุติยภูมิ เป็นโรงพยาบาลที่มีขนาด 120 เตียง มีจำนวน 600 แห่ง 3.โรงพยาบาลตติยภูมิ มี 69 แห่ง 4.Excellence พวกศูนย์ที่รักษาพยาบาลทั้งนี้ แต่ละแห่งจะได้งบเฉลี่ยใกล้เคียงกัน ประมาณ 800-1,000 ล้านบาท และปัจจุบันยังถูกตัดอีกเหลือเพียง 2,726 ล้านบาท
ด้านนายวิทยา กล่าวว่าไม่ได้วิตกกับการเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบท แต่ไม่เข้าใจเหตุผล เพราะในส่วนของงบประมาณดีพีแอลที่ทวงถามนั้น ครม.มีมติแล้วว่าให้ขยายกรอบการจัดซื้อจัดจ้างจนถึง ก.ย.56 ล่าสุดได้นำเสนอโครงการบางส่วนเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลังตามขั้นตอน เพื่อเตรียมนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เบื้องต้นได้จัดกลุ่มตามอันดับความจำเป็น ในส่วนของโครงการที่มีความเร่งด่วน 2,000 กว่าล้านบาท หากผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงการคลังแล้วจะสามารถนำเข้า ครม.ได้ทันที รัฐบาลต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเน้นที่ความจำเป็นการที่ต้องตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองฯเพื่อให้เกิดความรอบคอบและเพื่อให้ได้เรื่องที่มีความจำเป็นจริงๆ อย่าพยายามมองว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์ เรื่องนี้ได้มีการจัดซื้อจัดจ้างต่อเนื่องก่อนจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรี