บทบาทขององค์กรวิชาชีพในเรื่อง "กัญชาทางการแพทย์"
"...American Medical Association (AMA) ซึ่งเป็นสมาคมแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน หลังได้รับการร้องขอจากสมาชิกให้มีการทบทวนหลักฐานวิชาการเกี่ยวกับกัญชา ได้ข้อสรุปว่า มีโรคไม่กี่โรคเท่านั้นที่ได้รับการวิจัยพิสูจน์แล้วว่าใช้กัญชาช่วยในการรักษาได้ ทั้งนี้การจะนำกัญชาไปรักษาโรคใดๆ จำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการวิจัยตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้รัฐควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายผลิตภัณฑ์กัญชาที่มิได้ผลิตโดยหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องระบุคำเตือนไว้อย่างชัดเจนในทุกผลิตภัณฑ์ว่า "กัญชามีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด" และควรมีการเก็บภาษีจากกัญชา..."
ท่ามกลางกระแสกัญชาในสังคมไทย มีการปั้นแต่งเชิงวิชาการให้คนหลงเชื่อว่า รักษาได้ร้อยแปดพันเก้า เอาเรื่องสารเคมี โมเลกุลโน่นนี่นั่น แล้วเคลมว่ากัญชาช่วยได้หมด ทั้งๆ ที่ในโลกแห่งการแพทย์สากล ไม่สามารถยอมรับแบบนั้นได้ เพราะการรักษาแต่ละอย่างนั้นจำเป็นต้องผ่านการพิสูจน์ตามมาตรฐานอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้แน่ใจเรื่องความปลอดภัย และประสิทธิภาพ เนื่องจากชีวิตคนทุกคนนั้นมีคุณค่า
ปัญหาหนักหน่วงตอนนี้คือ เมืองไทยมาไกลเกินกว่าจะแก้ไขสถานการณ์หรือไม่?
ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจของเมืองไทยคือ องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ไม่ค่อยได้ออกมาแถลงการณ์เรื่องการใช้กัญชากันเท่าใดนัก
คราวนี้มาดูกันว่า ต่างประเทศที่กระแสคลั่งกัญชามากมายจนกู่ไม่กลับ และล่วงหน้าเมืองไทยไปมากแล้ว องค์กรวิชาชีพเค้าทำอะไรกันบ้าง?
ที่จะยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ และตรวจสอบกันได้คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาครับ
American Epilepsy Society ซึ่งเป็นสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ออก position statement เรื่องนี้เมื่อ 19 ก.พ. 2019 อย่างชัดเจนว่า "การใช้กัญชาในการรักษาโรคลมชักนั้นยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำให้ใช้ได้"
การอ้างอิงงานวิจัยที่มีส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยแบบหาแหล่งที่มาไม่ได้ ตามตัวตนไม่เจอ (anecdotal reports) ทั้งนี้มีงานวิจัยที่เพียงพอแก่การอนุมัติกัญชาเป็นยาเพื่อรักษาโรคลมชักในอเมริกาที่ชื่อ Epidiolex นั้นใช้เพื่อรักษาเฉพาะโรค Lennox-Gastaut syndrome (LGS) และ Dravet syndrome เท่านั้น แต่ระบุไว้ด้วยว่า งานวิจัยที่ใช้ขออนุมัติยานี้นั้นเป็นการเปรียบเทียบกัญชากับยาหลอกเท่านั้น มิได้เปรียบเทียบกับยามาตรฐานอื่นๆ เลย นอกจากนี้ในงานวิจัยนี้ยังพบว่าการใช้กัญชาก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากกว่ากลุ่มที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญ และมีปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์ระหว่างกัญชากับยาอื่นด้วย
ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้กัญชาในการรักษาโรคลมชักกันแบบส่งๆ และระวังให้ดีเรื่องการซื้อกัญชามาใช้จากตลาด เพราะมีปัญหาการเจือปน ปลอม หรืออื่นๆ มากมาย และจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเอง
การจะตัดสินใจเพื่อใช้รักษาโรคลมชักอื่นๆ นั้น จำเป็นจะต้องได้รับการวิจัยพิสูจน์ตามมาตรฐานสากลต่อไป ไม่ใช่คิดจะใช้ก็ใช้เลยแบบที่กำลังปั่นให้เชื่อกันในสังคมไทย
American Academy of Neurology (AAN) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นที่รวมกันของทั้งแพทย์ทางประสาทวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ ใหญ่กว่า American Neurology Association (ANA) ได้มีแถลงการณ์แสดงจุดยืนในปีค.ศ.2018 ว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยระดับมาตรฐานสากลที่ได้รับการตรวจสอบจากคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยประจำแต่ละสถาบัน และมีการวิจัยประเมินผลจากกัญชาในระยะยาว ทั้งนี้งานวิจัยที่มีอยู่นั้น พบเพียงการใช้กัญชาในการรักษาเฉพาะโรคบางโรค เช่น Dravet syndrome เท่านั้น แต่โรคทางระบบประสาทอื่นๆ นั้นยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ดังนั้นจึงไม่สนับสนุนให้มีการนำกัญชาไปใช้ในโรคอื่น ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทั้งหลายเกี่ยวกับกัญชา ควรจะได้รับการตรวจสอบมาตรฐาน เพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด
American Medical Association (AMA) ซึ่งเป็นสมาคมแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน หลังได้รับการร้องขอจากสมาชิกให้มีการทบทวนหลักฐานวิชาการเกี่ยวกับกัญชา ได้ข้อสรุปว่า มีโรคไม่กี่โรคเท่านั้นที่ได้รับการวิจัยพิสูจน์แล้วว่าใช้กัญชาช่วยในการรักษาได้ ทั้งนี้การจะนำกัญชาไปรักษาโรคใดๆ จำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการวิจัยตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องให้รัฐควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายผลิตภัณฑ์กัญชาที่มิได้ผลิตโดยหน่วยงานที่ได้มาตรฐาน จำเป็นต้องระบุคำเตือนไว้อย่างชัดเจนในทุกผลิตภัณฑ์ว่า "กัญชามีความเสี่ยงสูงที่จะนำไปใช้ในทางที่ผิด" และควรมีการเก็บภาษีจากกัญชาเข้าสู่กองทุนสาธารณสุขเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการลดหรือแก้ไขผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากสังคม เช่น ปัญหาการเสพติด การรณรงค์ให้ความรู้เพื่อป้องกันผลกระทบจากการปลดล็อคกัญชา เป็นต้น ที่สำคัญคือ รัฐจำเป็นต้องทำการวิจัยประเมินผลกระทบต่อการสาธารณสุข การแพทย์ สังคม และเศรษฐกิจอย่างครบถ้วนรอบด้าน อย่าผลีผลามบ้าจี้ไปตามกระแสสังคมที่เรียกร้องให้เปิดเสรีกัญชา ซึ่งมักเป็นขั้นตอนต่อไปของการเคลื่อนไหวเป็นขบวนการเรียกร้องปลดล็อคกัญชา
American Academy of Pediatrics (AAP) ซึ่งเป็นที่รวมของกุมารแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ชัดเจนในจุดยืนตั้งแต่ปีค.ศ.2015 โดยออก technical report ระบุว่า กัญชาส่งผลเสียต่อเด็กและเยาวชนทั้งร่างกาย จิตใจ และความจำ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมองในเด็กทั้งในด้านโครงสร้างของสมองและกระบวนการทำงาน การมีนโยบายปลดล็อคกัญชานั้นจำเป็นต้องมีการตรวจสอบ ติดตามกำกับอย่างเข้มงวด เพื่อลดโอกาสเกิดผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
American Psychiatric Association (APA) เป็นสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนตั้งแต่ปีค.ศ.2013 ว่า ไม่มีหลักฐานวิชาการว่ากัญชาจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคทางจิตเวชใดๆ แต่การใช้กัญชากลับมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคจิตเวชเสียด้วยซ้ำ การจะทำการวิจัยเรื่องกัญชานั้นควรได้รับการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดโดยรัฐ และคำนึงถึงความเสี่ยงเรื่องการเสพติดกัญชาด้วยเสมอ ทั้งนี้การที่มีนโยบายปลดล็อคเพื่อใช้กัญชาทางการแพทย์นั้นจำเป็นต้องทำตามมาตรฐานสากล มิใช่ให้ลองกันแบบมั่วซั่วหรือเลือกปฏิบัติกันได้ตามใจชอบ นอกจากนี้ให้รูกันไว้ด้วยว่า "การสูบกัญชา"นั้นไม่ใช่วิธีการรักษาที่เหมาะสม และไม่ได้รับการยอมรับ ดังนั้นหากแพทย์หรือใครก็ตามที่ไปยุยงส่งเสริม หรือให้ผู้ป่วยสูบกัญชาเพื่อรักษานั้น จะต้องรับทราบถึงความเสี่ยงต่อการปฏิบัติที่ไม่เป็นมาตรฐาน ไม่ได้รับการพิสูจน์ทางการแพทย์ และต้องรับผิดชอบผลเสียหรือผลไม่พึงประสงค์ที่นำมาสู่การฟ้องร้องต่อไปได้
ครับ...ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นคือตัวอย่างของการแสดงบทบาทขององค์กรวิชาชีพทางการแพทย์ ที่แสดงออกถึงความห่วงใยผลกระทบจากนโยบายปลดล็อคกัญชาทางการแพทย์ และเสรีกัญชาในประเทศสหรัฐอเมริกา
แทบทุกองค์กร ทั้งหมอผู้ใหญ่ หมอเด็ก จิตแพทย์ สมาคมโรคลมชัก และอีกหลายองค์กรที่ไม่ได้นำมากล่าวถึง ล้วนชี้ไปในทางเดียวกันว่า
หนึ่ง กัญชานั้นได้รับการพิสูจน์ถึงประโยชน์ในโรคไม่กี่โรคเท่านั้น และจำเป็นต้องได้รับการวิจัยอย่างเป็นขั้นตอนมาตรฐานสากลต่อไป ไม่ใช่รักษาได้ร้อยแปดพันเก้า
สอง กัญชามีผลเสีย ต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนในสังคม ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สมอง ความจำ และเป็น"สิ่งเสพติด" ซึ่งหมายถึงเสพแล้วติดได้จริง ไม่ต้องไปนั่งเถียงว่าติดน้อยติดมากติดยากติดง่ายกว่าเหล้าหรือบุหรี่
สาม การวิจัยกัญชาต้องได้รับการควบคุมมาตรฐานอย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจในเรื่องความปลอดภัย และประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่นึกอยากจะเอาไปลองใช้รักษาใครต่อใครก็ได้ตามใจชอบ แล้วเอารูปมาเปรียบเทียบก่อนหลังเหมือนโฆษณาลดความอ้วน
สี่ เค้าชี้ตรงกันว่า กัญชานั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด และต้องการกลไกควบคุมที่รัดกุม
ประเทศเค้า...องค์กรวิชาชีพช่วยกันส่งเสียงเตือนและทำกันมาหลายปีแล้วนะครับ
รอองค์กรวิชาชีพในประเทศไทยครับ...ถ้ายังไม่ได้แสดงออก ผมคิดว่าควรตัดสินใจได้แล้วครับ ก่อนจะสายเกินไป
ด้วยรักและปรารถนาดีต่อทุกคน
อ้างอิง
1. American Epilepsy Society. (http://www.aesnet.org)
2. American Academy of Neurology. (http://www.aan.com)
3. American Medical Association. (http://www.ama-assn.org)
4. American Academy of Pediatrics. (http://www.aap.org)
5. American Psychiatric Association. (http://www.psychiatry.org)
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก HonestDocs