'ศุภชัย เจียรวนนท์' ห่วงเสถียรภาพทางการเมือง ปัจจัยเสี่ยงศก.ไทยในสงครามการค้าโลก
"ความเป็นปึกแผ่นของไทยมีบทบาทสำคัญมาก หากบ้านเราไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การเมืองต่างประเทศจะเห็นโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้หรือไม่ ฝากให้ทุกท่านคิด หรือประเทศมหาอำนาจ สหรัฐ และจีน มีทำสงครามการค้ากันอยู่นี้จะมองไทยเป็นโอกาสของเขาหรือไม่ ในการสร้างฐานพันธมิตรระดับการเมืองโลกในภูมิภาคนี้"
วันที่ 5 มีนาคม 2562 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานดินเนอร์ทอล์ค ประจำปี 2562 เนื่องในโอกาสครบรอบ 64 ปี ณ โรงแรมอโนมาแกรนด์ ถนนราชดำริ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ปาฐกถาพิเศษ เรื่องเศรษฐกิจไทยในสงครามการค้าโลก โดยชี้ให้เห็นถึงนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนโยบายกีดกันทางการค้า (Protect) รักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ (Preserve) การทำให้เศรษฐกิจน่าลงทุน การจ้างงานเพิ่มพูน เศรษฐกิจไม่ซบเซา (Promote) และนโยบายให้สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญไปทั่วโลกในทุกด้าน (Advance)
ขณะที่เศรษฐกิจของจีน ภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็มีนโยบายกินข้าวให้พอดี ไม่ใช่กินเหลือ (Focus on supply side structural reform) มีนโยบายทางเศรษฐกิจก็ให้นักลงทุนจีนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ และให้เศรษฐกิจจีนโตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
“ตัวเลขการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ที่จีนยังเกินดุลการค้าสหรัฐ กลาย เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้สหรัฐ ถอยหลังจากที่ปฏิบัติตามเป็นสิบๆ ปีต้องสร้างเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ”
นายศุภชัย กล่าวถึงการเจรจาระหว่างสหรัฐ กับจีน ที่สหรัฐพยายามประนีประนอม และคุยกับจีน ประเด็นการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงสุด 25% นั้น ท่าทีนี้ทำให้เศรษฐกิจโลกตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งในสหรัฐฯ มีคำพูดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งสหรัฐปีนี้ คือ ภาษีการนำเข้า ก็คือภาษีของคนอเมริกัน คนที่จ่ายภาษีไม่ใช่จีน คือคนอเมริกันเอง ทำให้มีต้นทุนการดำเนินชีวิตสูงขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นภาษีนำเข้าจึงไม่รู้ใครจะเจ็บกว่ากัน
“ช่องว่างตัวเลขการส่งออกของทั้งสองประเทศ ห่างกันมาก เชื่อว่า สหรัฐฯ ไม่รามือง่ายๆ”
ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ของจีน ปี 2025 ที่ตั้งเป้าไว้ 10 ด้าน โดยทั้งหมดเชื่อมต่อกับเทคโนโลยี AI โดยจีนตั้งเป้าเป็นผู้นำโลกด้าน AI
“การเมืองโลกที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี การที่สหรัฐ กดดันจีนนั้น ทำให้จีนต้องสร้างเทคโนโลยีของตนเอง และพัฒนา R&D รวมทั้งฟื้นฟูระบบการศึกษา คุณภาพคน หนึ่งในการปฏิรูปสำคัญของจีน คือการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจะนำมาสู่การต่อยอดด้านเทคโนโลยี ขณะที่นโยบายของจีนออกมาหลายเรื่องที่เตรียมรับมือกับสหรัฐ เช่น Mega regions รวม 3 เมืองใหญ่ๆ เข้าด้วยกัน และเชื่อมกันด้วยรถไฟความเร็วสูง โดยจะพัฒนาด้านเทคโนโลยีเป็นลำดับต่อไป"
นายศุภชัย กล่าวถึงการไปร่วมการประชุมเศรษฐกิจประจำปี หรือ World Economic Forum (WEF) ที่เมือง Davos ในสวิสเซอแลนด์ ปี 2019 ว่า ทุกคนเป็นห่วงเรื่องของการกีดกันทางการค้า (Trade war) และที่มีการพูดกันมาก คือเรื่องของการเติบโตของอาเซียน ที่มีประชากรเกือบ 700 ล้านคน รวมถึงการที่มีความยอมรับว่า โลกได้มีผู้นำทางเศรษฐกิจอีกรายเกิดขึ้น นั่นคือ จีน
“วันนี้เราคงบอกไม่ได้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะหยุดอยู่ตรงไหน แต่ผมคิดว่า หากเราดูความสัมพันธ์เศรษฐกิจโลกกับจีน ความสัมพันธ์เศรษฐกิจโลกกับสหรัฐ และมองความสัมพันธ์เศรษฐกิจสหรัฐกับจีน จริงๆ แล้วสองประเทศนี้เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจกันด้วยซ้ำไป ซึ่งต่างจากรัสเซีย ฉะนั้นการใช้มาตรการกีดกันการทางค้ากับจีน จึงไม่มีผลเหมือนที่สหรัฐฯ เคยทำกับประเทศอื่นๆ”
ช่วงท้าย นายศุภชัย กล่าวถึงโอกาสสำหรับประเทศไทยด้วยว่า ท่ามกลางสงครามการค้าโลก ความเป็นฮับของอาเซียน หลายโรงงานที่ตั้งอยู่ประเทศจีน คิดย้ายฐานการผลิตมาเมืองไทย หรือสหรัฐ ก็สนใจไทยเช่นกัน ยิ่งสหรัฐ กดดันจีนเท่าไหร่ ทำให้จีนยิ่งจับมือกับเพื่อนบ้านมากเท่านั้น และทำให้ภูมิภาคนี้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
"ขณะที่ความเสี่ยง ก็คือ หลายประเทศก็ไม่ได้มองไทยประเทศเดียว มองไปที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น ความเสี่ยงบ้านเราคือความมั่นคงทางการเมือง ความเป็นปึกแผ่นของไทยมีบทบาทสำคัญมาก จึงอยากจะฝากไว้ หากบ้านเราไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การเมืองต่างประเทศจะเห็นโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้หรือไม่ ฝากให้ทุกท่านคิด หรือประเทศมหาอำนาจ สหรัฐ และจีน มีทำสงครามการค้ากันอยู่นี้จะมองไทยเป็นโอกาสของเขาหรือไม่ ในการสร้างฐานพันธมิตรระดับการเมืองโลกในภูมิภาคนี้"