นักวิจัยชี้เกษตรกรขาดแรงจูงใจ ไม่หยุดเผาอ้อย แนะรง.เพิ่มราคาตัดสดสูงกว่าไฟไหม้
นักวิจัยเศรษฐศาสตร์ มก. ชี้เกษตรกรไม่หยุดเผาอ้อย เหตุขาดแรงจูงใจ ขณะที่วิธีหักค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บ./ตัน ยังไม่ได้ผล ยกผลศึกษาเฉพาะ 2 จว. ‘กาญจน์ฯ-สุพรรณ’ ค่าเฉลี่ยต้องอยู่ที่ 38 บ./ตัน มีข้อแม้ รง.น้ำตาล ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย
วันที่ 6 มี.ค. 2562 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ จัดเสวนาข้อค้นพบจากงานวิจัย “เผาอ้อย...ทางเลือก...ทางรอด?” ณ อาคารปฏิบัติการคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.ธนาภรณ์ อธิปัญญากุล อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ม.เกษตรกร กล่าวถึงสาเหตุแรงงานตัดอ้อยไฟไหม้แทนการตัดอ้อยสด เพราะแรงงานตัดอ้อยส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากคนในพื้นที่ โดยภาคเหนือมีแรงงานอพยพชั่วคราวมาจากภาคอีสาน ขณะที่ภาคกลางและตะวันออก มีแรงงานมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ต้องเก็บเกี่ยวแข่งกับเวลา เพื่อให้เกิดรายได้กลับภูมิลำเนามากที่สุด
ทั้งนี้ พบว่า การตัดอ้อยไฟไหม้ได้ค่าจ้างแรงงานสูงกว่าตัดอ้อยสด ซึ่งแต่ละวันแรงงานตัดอ้อยสดได้เพียง 1-1.5 ตัน/คน/วัน หรือมีรายได้ 120-210 บ./คน/วัน ขณะที่อ้อยไฟไหม้ ได้มากถึง 2-3 ตัน/คน/วัน หรือมีรายได้ 200-300 บ./คน/วัน
ดร.นภสม สินเพิ่มสุขสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องมีหน้าที่ในการแก้ไข มิฉะนั้นเกษตรกรจะไม่ยอมปรับเปลี่ยน เพราะยังมีแรงจูงใจเหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้มาตั้งแต่ปี 2529 โดยหักเงินเกษตรอ้อยไฟไหม้ 20 บาท/ตันอ้อย ปัจจุบัน 30 บาท/ตันอ้อย แล้วเฉลี่ยคืนให้เกษตรกรนำอ้อยสดมาขาย ไม่เกินตันละ 120 บาท แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่ได้ผล เพราะอ้อยไฟไหม้ยังมีมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการเผาอ้อยในจ.สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี จากประชาชน 800 คน พบว่า การเผาอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยวสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐศาสตร์ให้กับจ.สุพรรณบุรีเท่ากับ 296 ล้านบาท/ฤดูการผลิต และจ.กาญจนบุรีเท่ากับ 192 ล้านบาท/ฤดูการผลิต
โดยเมื่อนำความเสียหายมาคำนวณหาอัตราหักค่าอ้อยไฟไหม้ จะได้ค่าเฉลี่ยทั้งสองจังหวัดอยู่ที่ 38 บาท/ตันอ้อย แต่ควรรับผิดชอบร่วมกันระหว่างโรงงานน้ำตาล และเกษตรกร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้โรงงานน้ำตาลลดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้จากเกษตรกร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ท้ายที่สุด งานวิจัยมีข้อเสนอมาตรการ 3 ระยะ คือ ระยะสั้นต้องทำเร่งด่วนก่อนการเปิดหีบ โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือในการกำหนดสัดส่วนอ้อยและอ้อยไฟไหม้ในแต่ละปีอย่างชัดเจนว่าจะลดลงปีละเท่าไหร่ และภายในระยะเวลากี่ปีถึงจะปลอดจากการเผาอ้อย ขณะที่โรงงานน้ำตาลและเกษตรกรเจ้าของรถตัดอ้อย ต้องร่วมกันสำรวจแปลงอ้อย เพื่อวางแผนเลือกใช้รถตัดที่เหมาะสมตามสภาพพื้นที่
ในกรณีไม่สามารถใช้รถตัดอ้อยได้ ต้องจัดเตรียมแรงงานตัดอ้อยสำหรับตัดอ้อยสด โดยสร้างแรงจูงใจเพิ่มค่าตัดอ้อยสดให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ และโรงงานต้องเพิ่มราคาอ้อยสดให้สูงกว่าอ้อยไฟไหม้ และต้องบังคับใช้กฎหมายห้ามเผาจริงจัง ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจแก่เกษตรกรและแรงงานตัดอ้อย กำหนดบทเฉพาะกาลในการเคลื่อนย้ายรถตัดอ้อยบนถนนหลวงและทางหลวงชนบท
ระยะปานกลาง ต้องกำหนดมาตรฐานรถตัดอ้อยมือสองและมาตรการควบคุมการนำเข้าอย่างชัดเจน โดยรถตัดอ้อยมือสองจะต้องมีอายุการใช้งานไม่เกิน 7,000 ชม. เพื่อให้การทำงานตัดอ้อยคล่องตัว ลดต้นทุนการตัดและขนส่งอ้อย จัดการและจัดรูปที่ดินเพื่อรองรับมาตรการระยะยาวด้านโซนนิ่ง และผลักดันเกษตรกรที่มีเครื่องปลูกอ้อย เครื่องจักรกลเกษตร รถตัดอ้อย และรถบรรทุก เป็นผู้ให้บริการปลูก เก็บเกี่ยว และขนส่ง โดยใช้ระบบผู้รับเหมา
ระยะยาว รัฐและภาคเอกชนต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนารถตัดอ้อยขนาดเล็ก เนื่องจากแปลงปลูกอ้อยส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 มีขนาดเล็ก และจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านวิศวกรรมเกษตรและการตั้งสถาบันเพื่อพัฒนารถตัดอ้อยของประเทศไทย รวมถึงต้องหาแนวทางใช้ประโยชน์จากใบอ้อยและพัฒนาโลจิสติกส์เขาเข้าของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ และรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จัดระบบโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกอ้อยภายในรัศมี 50 กม. จากโรงงาน .