ปี 61 ‘บังคลาเทศ’ มีค่าฝุ่น PM2.5 สูงสุดในโลก-ไทยอันดับ 23
กรีนพีซฯ เผยรายงานคุณภาพอากาศโลก ปี 61 พบ ‘บังคลาเทศ’ มีค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 สูงสุดในโลก ‘ไทย’ อยู่อันดับ 23 และอันดับ 3 กลุ่มอาเซียน เรียกร้องรบ. เร่งขยายยกระดับคุณภาพสถานีตรวจวัด ปชช.เข้าถึงข้อมูล
วันที่ 5 มี.ค. 2562 กรีนพีซ ประเทศไทย เเถลงข่าวรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก พ.ศ. 2561 ณ โรงเเรม VIC3 กรุงเทพฯ
นายธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยถึงรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศโลก พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นของ IQAir AirVisul มีฐานอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยเน้นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) พบว่า ประเทศไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับ 23 ของโลก (ค่าเฉลี่ย 26.4 ไมโครกรัม/ลบ.ม.) ในฐานะประเทศที่มีความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 มากที่สุด โดยอันดับ 1 คือ บังคลาเทศ (ค่าเฉลี่ย 97.1 ไมโครกรัม/ลบ.ม.) รองลงมา คือ ปากีสถาน (ค่าเฉลี่ย 74.3 ไมโครกรัม/ลบ.ม.) และอินเดีย (ค่าเฉลี่ย 72.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม.)
“ส่วนใหญ่ 10 อันดับแรก ที่มีความเข้มข้นคุณภาพอากาศ PM2.5 จะเป็นแถบเอเชียใต้“ ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ กล่าว และว่าขณะที่จีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าเรื่องคุณภาพอากาศดีขึ้น
นายธารา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นอันดับ 3 (สมุทรสาคร) ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองจากอินโดนีเซีย (จาร์กาต้า) และเวียดนาม (ฮานอย) ด้วย
“มี 10 จังหวัดในไทยติดอยู่ในการจัดอันดับ 15 เมืองที่มีมลพิษ PM2.5 สูงสุด ในภูมิภาค ได้แก่ สมุทรสาคร นครราชสีมา หนองคาย (ท่าบ่อ) สระบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี (ศรีมหาโพธิ)ราชบุรี ตาก (แม่สอด) แม่ฮ่องสอน (ปาย) และชลบุรี”
ขณะที่เมืองหลวงที่ประสบปัญหามากที่สุด คือ กรุงเดลี ประเทศอินเดีย รองลงมา กรุงธากา ประเทศบังคลาเทศ คาบูล อัฟกานิสถาน โดยกรุงเทพฯ ของประเทศไทยอยู่อันดับ 24 ขณะที่กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ เป็นเมืองหลวงที่มีอากาศดีที่สุด จากข้อมูลที่มีการสำรวจ
“จีนมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศมากที่สุดในโลก 1,500 สถานี รองลงมา สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป” ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ กล่าว และว่า ญี่ปุ่นมีกว่า 1,100 สถานี ขณะที่ไทยมีเพียง 53 สถานี
นายธารา กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกรีนพีซต่อรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก โดยให้ขยายและยกระดับสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศ โดยประชาชนไม่ว่าจะอยู่แห่งใด สามารถตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้ เพราะการเข้าถึงข้อมูลและความรู้จะช่วยให้ผู้คนลงมือปฏิบัติการเพื่อให้อากาศดีกลับคืนมาได้
อ่านรายงานเฉบับเต็ม:รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พ.ศ.2561
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/