9 ปีไฟใต้ นักวิชาการแนะรัฐ หยุดกดขี่อัตลักษณ์คนในพื้นที่
เวที 9 ปีความรุนแรงภาคใต้ "ชัยวัฒน์" เสนอสันติสนทนา สร้างความไว้วางใจ ชี้ไม่จำเป็นต้องได้ข้อตกลง ด้านนักวิชาการ ย้ำมหานครปัตตานีทำได้ อยู่ภายใต้กรอบ รธน.
เมื่อเร็วๆ นี้ แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภพ (สสส.) ร่วมกับ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ จัดเวทีสาธารณะ 9 ปีความรุนแรงภาคใต้ อัศจรรย์ความรู้ในดินแดนเนรมิต? ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มธ. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. กล่าวว่า เหตุที่ปัญหาความรุนแรงภาคใต้แก้ไขได้ยาก เนื่องจาก อุตสาหกรรมความไม่มั่นคง (insecurity industry) ในชายแดนใต้ ที่มีการผลิต การจำหน่าย จ่ายแจกและมีผลกำไร วาทกรรมความมั่นคง (security discourse) ที่มีอำนาจทางความมั่นคงควบคุมโอกาสและทางเลือกเพื่อทางรอดอยู่ ความเข้าใจตนเองของสังคมไทย (self understanding of Thai society) ซึ่งมักคิดว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ดี แม้จะมีส่วนจริงอยู่ แต่ความคิดเช่นนี้ก็บดบังความสามารถที่จะนำไปสู่สังคมไทยที่ควรจะเป็นและจะเป็นสังคมที่เป็นทางรอดได้
สำหรับแนวทางการเผชิญหน้ากับปัญหาความรุนแรงภาคใต้ว่า ศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า หากพิจารณาจากงานวิจัยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีหลายข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่น 1.สันติสนทนา (peace dialogue) ซึ่งเป็นการสนทนาที่ข้อยุติไม่จำเป็นต้องเป็นข้อตกลง แต่จะสร้างความไว้วางใจ และไม่ใช่การเจรจาสันติภาพ (peace talk) ผลที่ได้จะต้องเป็นข้อตกลง อย่างที่รัฐบาลแต่ละแห่งชอบทำกัน 2.เขตปกครองตนเอง (autonomy) ที่ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่อาจเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน 3.รัฐเดี่ยว ที่เป็นประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและมีพระมหากษัตริย์ที่มีเขตปกครองพิเศษ ซึ่งค้นพบบางประเทศที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ได้แก่ เวลส์กับสก็อตแลนด์ และญี่ปุ่นกับสำนักพัฒนาแห่งฮอกไกโด และสำนักพัฒนาแห่งโอกินาวา
ทางเลือก สำหรับทางรอดของภาคใต้
ในส่วนทางเลือก สำหรับทางรอดของภาคใต้ มีเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยน โดย ศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า นับตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. 2547 ถึง พ.ค. 2555 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น 11,754 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ 14,000 คน แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 5,000 พันคน บาดเจ็บ 9,000 คน ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2550 แนวโน้มความรุนแรงของเหตุการณ์ลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเหตุการณ์แต่ละเดือน พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บยังคงที่และไม่ลดลง จนเหมือนเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศทั่วโลก
"ปัญหาที่ต้องยอมรับ คือ รัฐกดขี่ข่มเหงด้านอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหา นอกจากนี้ยังมีปัญหาความยากจนและยาเสพติดอีกบางส่วน แต่ถ้าไม่แก้ที่รากเหง้าก็จะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง"
ดร.ศรีสมภพ กล่าวถึงนโยบายของรัฐที่ลงไปในพื้นที่ 9 ปีที่ผ่านมา มีงบประมาณ 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ลงไปช่วยพยุงให้ภาวะเศรษฐกิจใต้ให้อยู่ได้ แต่ก็ยังกระจายรายไปไม่ถึงคนส่วนใหญ่ เนื่องจากงบประมาณส่วนมากถูกใช้เรื่องการทหาร ตำรวจ ทหารพราน อส. และกองกำลังอาสาสมัคร ซึ่งแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ไมได้ช่วยเรื่องความรู้สึกของประชาชน
"ในส่วนทางเลือก สำหรับทางรอด มองว่าจะต้องมีการกระจายอำนาจ อาทิ ศอ.บต.หรือมหานครปัตตานี ซึ่งเป็นโมเดลที่อยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการพูดคุย เจรจากับฝ่ายตรงข้ามรัฐ ผู้ที่ใช้ความรุนแรงเพื่อนำไปสู่ทางออก อย่างไรก็ตาม ควรเริ่มในหลากหลายแนวทางไปพร้อมๆ กัน"
ขณะที่นายดนัย มู่สา ผอ.สำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนใต้และชนต่างวัฒนธรรม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงร่าง "นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557 ของ สมช. ว่าเป็นร่างที่มาจากพูดคุยกับหลากหลายภาคส่วนและอาศัยงานวิจัย แต่ปัญหาสำคัญของการใช้นโยบาย คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่เข้าใจนโยบาย จึงไม่นำไปปฏิบัติ เจ้าหน้าที่บางส่วนเข้าใจนโยบายแต่ไม่เห็นด้วย จึงไม่ปฏิบัติตามและเจ้าหน้าที่บางส่วนเข้าใจนโยบาย แต่ไม่เห็นด้วยและปฏิบัติสวนทาง
"หัวใจสำคัญที่เป็นทางรอดของปัญหา ผมมองว่าในระยะสั้น ต้องสร้างความปลอดภัยและพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่วนระยะยาว ต้องให้ความสำคัญกับการศึกษา ทั้งนี้ รัฐและหน่วยงานรัฐ จะต้องมีความเข้าใจตรงกันในเชิงนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน"
ด้านพันเอกชินวัฒน์ แม้นเดช กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ที่ผ่านมาเป็นปัญหาความมั่นคงที่กระทบฐานรากของประเทศ และหากยังแก้ไขไม่ได้ในเร็วๆ นี้จะกระทบต่อการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนว่า สร้างความรุนแรงเพื่ออะไร ต่างกับในยุคสงครามเย็น แต่กลับมีการโฆษณาชวนเชื่อในพื้นที่อย่างกว้างขวาง เพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เกิดความสับสน
"ในสังคมเชิงจารีตนิยมของภาคใต้ มีความจำเป็นที่ต้องเข้าใจแก่นของปัญหาให้ถ่องแท้ เพราะภาคใต้ เป็นสังคมเชิงจารีตนิยม ที่มีความโดดเด่นเชิงอัตลักษณ์ แต่นโยบายรัฐที่ผ่านมาได้ทำลายความแตกต่างเพื่อสร้างความเหมือน จึงทำให้เกิดปัญหาและเกิดการต่อต้านรัฐขึ้น ทั้งที่ความแตกต่างเหล่านี้จะเป็นต้นทุนทางสังคมที่สามารถนำมาสร้างศักยภาพของประเทศได้ ฉะนั้น นโยบายดังกล่าวจึงไม่ควรมีอีกต่อไป"
พันเอกชินวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับทางรอด ประชาสังคมไทยต้องสร้างเอกภาพทางความคิด ขจัดวิวาทะ ที่จะทำให้เกิดพลังในการหยุดยั้งปัญหา รัฐต้องกุมสภาพประชาชนมุสลิมให้ได้ ด้วยวิธีการ "ได้ใจ" ประชาชน และรัฐกับผู้นำรัฐต้องมีเอกภาพ ภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ท้ายสุดต้องควบคุมและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศ