มองปัญหาใต้ผ่านแว่นฝ่ายความมั่นคงไทย... จากคำพิพากษาคุกตลอดชีวิต "ซาการิม"
แม้จะเป็นข่าวไปบ้างแล้วผ่านสื่อกระแสหลักและกระแสรอง รวมทั้งเว็บไซต์ต่างๆ เพราะศาลอ่านคำพิพากษากันไปตั้งแต่วันพุธที่ 27 มิ.ย.2555 แต่ก็ไม่ค่อยมีข่าวจากสำนักไหนที่นำเสนอคำพิพากษาคดี นายซาการิม เจ๊ะเลาะ หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการในเมือง "ขบวนการพูโลใหม่" ในความผิดฐานเป็นกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรอย่างละเอียด ทั้งๆ ที่มีความน่าสนใจอย่างมาก
คำฟ้องของพนักงานอัยการซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติทั้งสองศาล สะท้อนให้เห็นถึงข้อมูลและมุมมองของรัฐไทย โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงที่มีต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน
เป็นสภาพปัญหาในยุคที่เรียกว่า "ขบวนการโจรก่อการร้าย" หรือ "ขจก." ที่ปฏิบัติการในเขตป่าเขาและก่อวินาศกรรมกับเรียกค่าคุ้มครองในเขตเมืองบ้างประปราย ภายใต้การนำของ "ขบวนการพูโล" โดยกลุ่มตระกูล "ท่าน้ำ"
มุมมองต่อปัญหาจะถูกหรือผิดคงไม่สามารถตัดสินได้ ณ ที่นี้ แต่มีข้อน่าสังเกตว่าแม้สถานการณ์ชายแดนใต้หลังปี 2547 เป็นต้นมาจะปะทุรุนแรงขึ้นมาอีก และมีรูปแบบทั้งในแง่ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของกลุ่มผู้ก่อการแตกต่างจากยุค ขจก.อย่างสิ้นเชิง แต่ดูเหมือนในคำบรรยายฟ้องของฝ่ายรัฐ หากลองเทียบกันระหว่างคดีช่วงก่อนปี 2547 กับหลังปี 2547 อันเป็นความรุนแรงรอบปัจจุบัน จะพบว่าไม่ค่อยต่างกันนัก ทั้งๆ ที่ทุกบริบทของปัญหาที่ประชาชนสัมผัสได้จริง แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ข้อเท็จจริงเรื่อง "พูโล"
เมื่อวันพุธที่ 27 มิ.ย.2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 814 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.4748/2549 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกอเซ็ง หรืออูเซ็ง หรือมะนาเซ หรือชาการิม หรือ ซาการิม เจะเลาะ หรือ เจ๊ะเลาะ หรือเจ๊ะเล๊าะ หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการในเมือง "ขบวนการพูโลใหม่" เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร สะสมกำลังพลและอาวุธ สมคบกันเพื่อเป็นกบฏ และสมคบกันเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113, 114, 210 ประกอบมาตรา 83, 32 และ 33
คำฟ้องของโจทก์ระบุว่า เมื่อปี พ.ศ.2511 ถึง 10 ก.พ.2541 จำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มปฏิบัติการในเมือง "ขบวนการพูโลใหม่" ได้ร่วมกับ นายหะยี ดาโอ๊ะ ท่าน้ำ, นายหะยี ฮาเซ็ม อับดุลเลาะห์มาน, นายอับดุล รอมาน, นายสะมะแอ ท่าน้ำ และ นายยามี มะเซ๊ะ หรือนายยามิง หรือยามี มะเสะ จำเลยที่ 1-5 ในคดีหมายเลขแดงที่ 3666/2545 และ 3667/2545 ของศาลอาญา กับพวกอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง สมคบกันเป็นตัวการ แบ่งแยกหน้าที่กันกระทำการเป็นกบฏ สะสมกำลังพลและอาวุธเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักร ก่อตั้งองค์การทางการเมืองที่ชื่อว่า "องค์การปลดแอกแห่งชาติปัตตานี" หรือ "องค์การปลดปล่อยรัฐปัตตานี" หรือ "องค์การปลดปล่อยสหปัตตานี" หรือ PATANI UNITED LIBERATION ORGANISATION ใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษว่า P.U.L.O. ซึ่งรู้จักกันในชื่อภาษาไทยว่า "ขบวนการพูโล"
โดยการก่อตั้ง มีวัตถุประสงค์แบ่งแยกดินแดน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ได้แก่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และบางส่วนของ จ.สงขลา ใน อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย และ อ.เทพา เพื่อสถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเองในชื่อว่า "สาธารณรัฐอิสลามปัตตานี" หรือ "ประเทศอิสลามมลายูปัตตานี" หรือ "ประเทศมลายูอิสลามปัตตานี" ซึ่งองค์กรนี้ได้มีปฏิบัติการข่มขู่กรรโชกทรัพย์เรียกเงินค่าคุ้มครองจากพ่อค้า นักธุรกิจในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำเงินไปจัดซื้ออาวุธปืน ทำการลอบยิงตำรวจ ทหาร ลอบวางระเบิดทางรถไฟ ซุ่มยิงขบวนรถไฟ เผาสะพาน เผาโรงเรียน และจับคนเรียกค่าไถ่ รวมถึงวางระเบิดสถานที่ราชการสำคัญ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานีตำรวจ สถานีรถไฟ วางระเบิดโรงแรม และโรงเรียน เหตุเกิดที่ทุกตำบล ทุกอำเภอของ จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.สตูล และที่ อ.จะนะ อ.สะบ้าย้อย อ.เทพา และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รวมถึงประเทศมาเลเซียเกี่ยวพันกัน โดยขอให้ศาลนับโทษจำเลยคดีนี้กับโทษคดีอาญาหมายเลขดำที่ 216/2549, 285/2549, และ 907/2549 ของศาลจังหวัดปัตตานีด้วย จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2551 ให้ยกฟ้องจำเลย แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ และริบของกลาง โดยโจทก์ (พนักงานอัยการ) ยื่นอุทธรณ์
ต้นตอปัญหาเรื่อง "การปกครอง"
ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่สองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งกัน รับฟังได้ว่า สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ยกเลิกการปกครองรัฐปัตตานี โดยเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ผู้มีอำนาจเก่าในปัตตานีรวมตัวเป็นองค์กรใต้ดินเพื่อก่อความไม่สงบ ซึ่งมีขบวนต่างๆ ได้แก่ กลุ่มพูโล, บีอาร์เอ็น, มูจาฮีดิน ที่รวมกันเป็น "ขบวนการเบอร์ซาตู" เพื่อร่วมปลดแอก "รัฐปัตตานี" และแบ่งแยก 5 จังหวัดภาคใต้เป็น "สหพันธรัฐปัตตานี" โดยมีการลอบยิงเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ยอมรับการปกครองของไทย และมีเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ
แต่ต่อมากลุ่มพูโล เกิดความขัดแย้งภายใน จึงแยกตัวออกมาเป็น "พูโลใหม่" แต่มีแนวทางเดียวกัน กระทั่งปี 2541 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม นายหะยีดาโอ๊ะ ท่าน้ำ หัวหน้ากลุ่มพูโลใหม่ ในความผิดฐานเป็นกบฏ ซึ่งนายหะยีดาโอ๊ะได้ซัดทอดว่า นายซาการิม เป็นหัวหน้ากลุ่มในเมืองของพูโลใหม่ ต่อมาวันที่ 7 ธ.ค.2548 จำเลยถูกจับตามหมายจับคดีฆ่าผู้อื่น แต่นายซาการิมให้การปฏิเสธ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พนักงานสอบสวนและพยานโจทก์เบิกความรับฟังได้ว่า ชื่อ "ซาการิม" เป็นนามแฝงของกลุ่มพูโลใหม่ ซึ่งขบวนการดังกล่าวมีการกำหนดยุทธวิธีปลุกระดมชาวมุสลิมลอบวางระเบิด เผาสถานที่ราชการ ฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ จึงทำให้ต้องปกปิดชื่อจริง และทำให้พยานบุคคลไม่กล้าชี้ตัวเพราะเกรงจะถูกทำร้าย
นอกจากนี้โจทก์ยังมีพยานหลักฐานเกี่ยวกับหน่วยงานข่าวกรองที่มีข้อมูลทางราชการว่า ข้อมูลและหลักฐานภาพถ่ายของ นายซาการิม นายกอเซ็ง และจำเลย ที่มีชื่อจริงว่า "มะนาเซ เจ๊ะเลาะ" มีบทบาทสำคัญในการฝึกและวางแผนก่อการร้าย ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวเป็นบัตรประชาชนที่มีเลขรหัสตรงกับภาพตามหมายจับ ที่แม้ส่วนสูงของบุคคลในภาพจะต่างกัน แต่อาจเป็นเพราะเกิดจากช่วงวัยที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ โดยวันที่จำเลยถูกจับกุมขณะกำลังออกนอกประเทศ จำเลยก็ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งข้อหา จึงเห็นว่าเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติการจับกุมตามหน้าที่ โดยไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ประกอบกับเมื่อถูกจับกุมจำเลยได้ลงลายมือชื่อ ทั้งในชื่อ มะนาเซ, ซาการิม และกอเซ็ง โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้ยิงและได้หลบหนีจริง ส่วนที่อ้างว่าถูกบังคับให้ลงชื่อเห็นว่าหากจำเลยรู้ว่าไม่ใช่บุคคลในภาพก็ไม่สมควรลงลายมือชื่อ
นอกจากนี้ ในทางนำสืบที่จำเลยว่าบอกได้ศึกษาต่อที่ประเทศซีเรียและลิเบีย โดยใช้ชีวิตในประเทศมาเลเซียนานถึง 10 ปีนั้น จำเลยก็ไม่ได้นำพยานมาเบิกความถึงการดำเนินชีวิตของจำเลยว่าเป็นไปอย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยกับกลุ่มพวก เป็นพวกหัวรุนแรงทางการเมือง มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อประเทศไทย จึงทำให้จำเลยไม่สามารถนำพยานมาสืบสนับสนุนได้ ข้อต้อสู้จำเลยไม่อาจหักล้างโจทก์ได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
ศาลพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 210, 114 และ 113 ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุก 5 ปี ฐานสมคบกันเป็นซ่องโจร และให้ประหารชีวิตฐานกระทำการเป็นกบฏ คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกฐานซ่องโจร เป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน และฐานเป็นกบฏให้จำคุกตลอดชีวิต และเมื่อรวมโทษจำคุกแล้ว ให้จำคุกจำเลยไว้ตลอดชีวิต โดยให้นับโทษคดี 216/2549, 285/2549, 245/2549 และ 907/2549 ของศาลจังหวัดปัตตานีด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ นายซาการิม ขณะถูกคุมตัวไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยเนชั่นทีวี
หมายเหตุ : ปรับแต่งภาพเพื่อพรางใบหน้าโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา