รู้จัก "เสาวณี สุวรรณชีพ" ประธานกมธ.วิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ
เมื่อ 31 ปีที่แล้ว เสาวณี สุวรรณชีพ เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองครั้งใหญ่ จากการเป็นหัวหน้าฝ่าย ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ มารับตำแหน่งเล็ก ๆ ที่ ธปท. แต่เป็นตำแหน่งที่ต้องอาศัยความท้าทาย ความกล้า ความอดทน เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการบุกเบิกงานด้านไอทีเป็น ครั้งแรกให้กับ ธปท. และสามารถขับเคลื่อนให้ระบบการชำระเงิน ในเมืองไทยก้าวสู่มาตรฐานสากลได้เช่นทุกวันนี้
ประเด็นที่สังคมไทย ถกเถียงกันอย่างร้อนแรง ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนีไม่พ้น กรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นด้วย 133 เสียง ผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นกฎหมาย
"เสาวณี สุวรรณชีพ" ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ถือได้ว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการผลักดัน พ.ร.บ.เกี่ยวข้องกับดิจิทัลอยู่หลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ...พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และพ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ....
เพื่อให้รู้จัก "เสาวณี สุวรรณชีพ" อดีตผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. ดียิ่งขึ้น สำนักข่าวอิศรา ขอนำบทสัมภาษณ์ ที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร BOT MAGAZIN ของธนาคารแห่งประเทศไทยไว้เมื่อไม่นานมานี้ มานำเสนออีกครั้ง
เสาวณี สุวรรณชีพ:บุกเบิกงานไอที พัฒนาระบบการชำระเงิน
เมื่อ 31 ปีที่แล้ว คุณเสาวณี สุวรรณชีพ เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองครั้งใหญ่ จากการเป็นหัวหน้าฝ่าย ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ มารับตำแหน่งเล็ก ๆ ที่ ธปท. แต่เป็นตำแหน่งที่ต้องอาศัยความท้าทาย ความกล้า ความอดทน เป็นอย่างมาก เพราะเป็นการบุกเบิกงานด้านไอทีเป็น ครั้งแรกให้กับ ธปท. และสามารถขับเคลื่อนให้ระบบการชำระเงิน ในเมืองไทยก้าวสู่มาตรฐานสากลได้เช่นทุกวันนี้ และสร้างผลงานดีเด่นไว้มากมาย จนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.
ปัจจุบันคุณเสาวณี ทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ย้อนความหลังถึง 'จุดเริ่มตัน' จากหลักไมล์แรกว่า "เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ตั้งแต่มีที่ปรึกษาไอเอ็มเอฟให้คำแนะนำว่าควรจะ Modernize ธปท. โดยนำไอทีมาช่วยในการทำงาน โดยเฉพาะระบบการชำระเงิน ซึ่งในช่วงนั้นคือปี พ.ศ. 2512 ธปท. ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ติดตั้งใช้งาน แต่ขอใช้บริการประมวลผลข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งมีคอมพิวเตอร์ให้ ธปท."
ก่อนที่คุณเสาวณีจะมาร่วมงานกับ ธปท. ได้ทำงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติมาก่อน และได้รับคำชวนให้มาทำงานที่ ธปท. โดยให้มาริเริ่มบุกเบิกระบบไอที สมัยท่านผู้ว่าการพิสุทธิ์ โดยรับตำแหน่งแรกเป็นพนักงานควบคุมเครื่องจักรสถิติ และพัฒนางานไอทีอย่างจริงจังต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ฝ่ายระบบการชำระเงิน
"เราเป็นพนักงานชั้นผู้น้อย แต่ว่าต้องมาทำงานใหญ่ และ ธปท.ก็ไม่เคยชินที่จะทำเรื่องไอที ตอนมาก็ยังไม่มีตำแหน่งที่เหมาะกับความรับผิดชอบ ต้องบรรจุลงตำแหน่งพนักงานควบคุมเครื่องจักรสถิติไปก่อน แต่ด้วยพื้นฐานเป็นคนสนใจงานบุกเบิก เมื่อผู้ใหญ่ให้ความไว้วางใจ ก็ได้ริเริ่มวางระบบกับทีมที่สร้างขึ้นมาจนแข็งแกร่งมากขึ้นเรื่อย ๆ"
ความจำเป็นของการพัฒนาระบบการชำระเงินที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยดึงมือดึจากสำนักงานสถิติแห่งชาติมาร่วมงาน
คุณเสาวณี อธิบายว่า ธปท.ตระหนักดีว่า ระบบการชำระเงินเป็นโครงสร้างพื้นฐานการเงินที่ช่วยเชื่อมต่อการทำธุรกรรมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป แต่ต้องเป็นระบที่ดี มีประสิทธิภาพ สะดวกรวดเร็ว ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมลดลงเป็นอย่างมาก การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ตามแบบอย่างธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว เรายึดแบบของธนาคารกลางญี่ปุ่น คือ Bank of Japan เพราะมีสภาพแวดล้อมคล้ายคลึงกับของไทยมากกว่าระบบของ FEED ที่โครงสร้างซับซ้อนมากเกินไป
เมื่อคุณเสาวณีเข้าร่วมงานกับธปท.ในปี 2516 ได้นำรายงานจากไอเอ็มเอฟ มาศึกษาอย่างละเอียด เพื่อเป็นแนทางในการวางระบบบุกเบิกงานด้านไอทีให้กับ ธปท.
"ตอนนั้นการเคลียร์เช็คยังทำด้วยมือ อัตราการหมุนเวียนของเช็คและการโอนเงินมีมูลค่าหลายเท่าตัวของจีดีพีทีเดียว แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรค ที่ทำให้เราไม่สามารถเริ่มต้นนำระบบไอทีมาใช้ได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพร้อมของสมาชิกสำนักหักบัญชีในปีพ.ศ.2516 การเคลียร์เช็คยังล่าช้ามาก จำเป็นต้องพัฒนาให้การทำเช็คเคลียร์ริ่งทำได้รวดเร็ว เพราะประชาชนต้องรอยาวนานหลักจากฝากเช็คเข้าบัญชีแล้ว กว่าจะได้เงินเข้าบัญชี ในเขตกรุงเทพฯ ใช้เวลา 3 วัน และนานกว่า 15 วัน สำหรับต่างจังหวัด ทำให้ธนาคารพาณิชย์ถูกครหาว่า เอาเปรียบลูกต้า เพราะระหว่างที่การเคลียร์เช็คยังไม่แล้วเสร็จ เงินยังไม่เข้าบัญชี ธนาคารพาณิชย์สามารถเอาเงินของลูกค้าจำนวนนี้ ไปใช้ประโยชน์ก่อน
แต่เนื่องจากขนาดของธนาคารพาณิชย์มีความหลากหลาย ทั้งธนาคารขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ธนาคารไทย ธนาคารต่างประเทศ ซึ่งล้วนมีระบบการทำงานที่แตกต่างกัน และการเริ่มพัฒนาไปสู่ระบบไอที ต้องลงทุนสูง เริ่มแรกในช่วงปี พ.ศ.2523 ธปท.จึงมุ่งเน้นพัฒนาเรื่องเช็คเป็นลำดับแรก แต่การหารือกับธนาคารสมาชิก ไม่เห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ จึงทำได้แค่กำหนดออกประกาศมาตรฐานเช็ค และ Code Line เท่านั้น กว่าจะเริ่มลงมือพัฒนาและนำระบบอไอทีที่ทันสมัยมาใช้งายจริงๆ ได้สำเร็จก็ลุล่วงมาถึงปี พ.ศ.2535-2536 เมื่อธปท.ตัดสินใจที่จะลงทุนเองในฐานะที่เป็นธนาคารกลาง โดยคำนึงถึงเสถียรภาพทางการเงินเป็นสำคัญ และต่อยอดไปสู่ระบบการโอนเงินด้วย และด้วยความที่ ธปท.มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ Bank of Japan จึงเชิญที่ปรึกษาที่มีความชำนาญเข้ามาร่วมทำงาน และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบ ECS หรือระบบ Electronic Cheque Clearing ระบบการโอนเงินข้ามธนาคาร รวมถึงระบบการชำระค่าใช้จ่ายของลูกค้ารายย่อย ของธนาคารพาณิชย์ด้วย
การพัฒนาระบบการโอนเงินข้ามธนาคารที่เรียกว่า ระบบบาทเนต มีความทันสมัยตามหลักของ BIS คือ ทำธุรกรรมแบบ Real Time Gross Settlement ได้ คือเมื่อโอนเงินผ่านระบบออนไลน์แล้ว เงินจะเข้าบัญชีทันที นับว่า ทันสมัยมากในสมัยนั้น เมื่อเทียบกับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ภูมิประเทศเป็นเกาะ เป็นอุปวรรคต่อระบบการชำระเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบการเคลียร์เช็ค ทำให้ระบบการขนส่งเช็คค่อนข้างมีอุปสรรค ในขณะที่ประเทศไทยสามารถลดระยะเวลาเคลียร์ริ่งเหลือ 1 วัน หรือที่เรียกว่า Same Day Clearing
ไม่เพียงพัฒนาระบบการใช้เช็คและการโอนเงินให้มีความสะดวกรวดเร็ว สอดคล้องกับยุคสมัยเท่านั้น ยังคำนึงถึงความมั่นคง และความปลอดภัยอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญด้วย โดยการทำแผน Payment Systems Roadmap แผนที่ 1 และมีส่วนร่วมในการออกพ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ยอมรับว่า การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีผลทางกฎหมายจะถูกปฏิเสธมิได้ มีการเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยกลุ่มธนาคารกลาง East Asia Pacific จะมีการพูดคุยกันทุก 6 เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี และความรู้ระหว่างกัน รวมถึงการทำ Cross Border Payment และ Electronic Transaction ต่างๆ
คุณเสาวณี บอกถึงประโยชน์จากการพัฒนาระบการชำระเงิน เพิ่มเติมว่า เป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันธุรกิจและต่อยอดการทำธุรกิจของภาคเอกชน เกิดบริษัทเคลียร์ริ่งเช็ค บริษัทที่ทำ E-Money เงินพลาสติก ที่สามารถทำธุรกรรมได้มากขึ้น และต่อยอดด้วยการนำกลไกนี้ไปช่วยในเรื่องการชำระภาษี ออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย
ในฐานะที่คร่ำหวดและมีประสบการณ์อยู่ในแวดวงระบบไอที และระบบการชำระเงินมานาน คุณเสาวณีมีข้อเสนอแนะไปยังผู้บริหาร ธปท.ว่า สิ่งที่อยากให้ธปท.ทำมากที่สุดในส่วนที่เกี่ยวกับระบบการชำระเงิน ในตอนนี้ก็คือ การผลักดันให้เกิดการใช้ E-Bill สำหรับระบบสาธารณูปโภคและบัตรโดยสารระบบขนส่งมวลชน หรือ Common Ticketing เพราะที่ผ่านมายังไม่เป็นผลสำเร็จด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งหากดำเนินการได้สำเร็จจริง ๆ จะทำให้ผู้ใช้งานมีความสะดวกมากขึ้นจากการลดการใช้กระดาษหรือการถือบัตรหลายใบ มาเป็นใช้บัตรร่วม โดยเฉพาะในด้านขนส่งมวลชนทั้งภาครัฐและเอกชน เหมือนในยุโรป และหลายประเทศในเอเชีย ถ้าทำได้จะช่วยลดต้นทุนและลดความยุ่งยากของประชาชน อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
การที่จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยอีกครั้ง ธปท.ต้องเข้มแข็งเป็นอย่างมาก ดิฉันสนับสนุนว่า น่าจะรื้อฟื้นขึ้นมาทำอีกครั้ง อย่างจริงจัง อย่างที่ธปท.เคยมีการผลักดัน ECS และ ICAS ให้ประสบความสำเร็จมาแล้ว แม้จะใช้เวลานานและต้องแก้ปัญหามาอย่างมากเช่นกัน
แม้จะไม่ได้เริ่มต้นทำงานที่ ธปท.เป็นแห่งแรก แต่ในฐานะผู้บุกเบิกในฐานะผู้ชื่นชอบความท้าทาย ก่อร่างสร้างสิ่งที่ไม่มี จนเติบใหญ่และเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เป็นหน้าเป็นตาของ ธปท.คือความภูมิใจอย่างที่สุด
"ทำงานที่ธปท.ไม่เคยมีวันไหนที่ไม่รู้สึกภูมิใจ รู้สึกปลาบปลื้มใจที่เราสามารถสร้างหน่วยงานเล็กๆ ภายในองค์กรให้พัฒนาเรื่อยมาก จนกระทั่งเป็นสายงานที่ได้รับการยอมรับในที่สุด"
อย่างไรก็ตาม นับเป็นเรื่องปกติที่การทำงานไม่ได้ราบรื่นตลอดเวลา คุณเสาวณีก็ต้องใช้ความมานะ อดทน จนกระทั่งสามารถสร้างไอทีให้กลายเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของ ธปท.ได้เป็นผลสำเร็จ
"เหมือนเราเปิดประตูออกมาจากก้นครัว ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างเดียว แล้วแต่ฝ่ายหลักๆ ต้องการข้อมูลอะไร เราก็ทำตามออร์เดอร์ไป ตอนนี้เหมือนออกจากก้นครัว ออกมาอยู่หน้าบ้าน มาอยู่ที่ห้องรับแขก"
คุณเสาวณี ยกตัวอย่างถึงโครงการ Smart Office ที่เปิดโอกาสให้พนักงานในฝ่ายต่างๆ ได้ฝึกทักษะความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ และพยายามสร้างทีมงาน รวมถึงสร้างพันธมิตรกับฝ่ายต่างๆ ผลที่เกิดขึ้น คือ มีการกระจายคนของฝ่ายไอทีไปอยู่ฝ่ายอื่นๆ และก็ปรับเปลี่ยน User จากที่เป็นผู้รับบริการ มาเป็นผู้ร่วมงานที่มีความสามารถในการทำงาน และเราเป็นฝ่ายที่สนับสนุนให้งานสำเร็จได้ และในงานบางอย่างเราก็เป็นฝ่ายที่นำและขอการสนับสนุนจากฝ่ายอื่น ๆ ด้วย
ก่อนจาก คุณเสาวณี บอกถึงสิ่งที่เก็บเกี่ยวจาก ธปท.ว่า นอกจากความสุข ความประทับใจ และมิตรภาพที่ดีแล้ว ยังได้รับการบ่มเพาะวิธีการทำงานแบบมีคุณธรรม การมองอะไรด้วยมุมมองที่กว้าง มองถึงสังคมที่เราอยู่และสังคมภายนอกที่ ธปท.เกี่ยวข้องด้วย มองถึงระบบเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือ การที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ได้คำนึงถึงสิ่งตอบแทนเป็นหลัก เพราะความภาคภูมิใจ คือ ค่าตอบแทนสูงสุด