คดีตัวอย่าง! ศาลไทยตัดสินให้คู่รักจดทะเบียน ‘หุ้นส่วนชีวิต’ มีสิทธิจัดการมรดก
คำพิพากษาคดีตัวอย่าง! ศาลอุทธรณ์ ตัดสินให้คู่รักเพศเดียวกัน จดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิต ตามกม.ต่างประเทศ “มีสิทธิจัดการมรดก” สังหาริมทรัพย์ หากคนใดคนหนึ่งตาย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1017/2561 คดีหมายเลขแดง ที่ 18776/2561 เกี่ยวกับคดีการขอจัดการมรดก ให้นายชาติวุฒิ วังวล เป็นผู้จัดการมรดกของ นายไซม่อน วอลทตี้ ลอเร้นซ์ ผู้ตายสัญชาติชาวอังกฤษ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นหุ้นส่วนชีวิต (Civil Partnership) ตามสิทธิเเละกฎหมาย โดยมีมรดกเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาเอ็มโพเรียม 1,196,303.91 บาท ทั้งนี้ ตามการยินยอมของทายาทผู้ตาย 4 คน คือ บิดา มารดา พี่สาว และน้องสาว
โดยศาลฯ พิเคราะห์ว่า กรณีนี้ผู้ร้องกับผู้ตายจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิตถูกต้องตามเงื่อนไขของ Civil Partnership Act 2004 กล่าวคือ เป็นบุคคลเพศเดียวกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี และไม่มีหุ้นส่วนชีวิตตามกฎหมายอยู่แล้ว หรือแต่งงานตามกฎหมายแล้ว และทั้งสองฝ่ายไม่อยู่ในลำดับชั้นญาติที่จะสมรสกันไม่ได้ ดังนั้น การจดทะเบียนหุ้นส่วนชีวิตเป็นสัญญาชนิดหนึ่งมีผลบังคับตาม Civil Partnership Act 2004 และการให้หุ้นส่วนชีวิตมีสิทธิในมรดกของอีกฝ่ายตาม Administration of Estates Act 1925 ของประเทศสหราชอาณาจักร ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแห่งประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 มาตรา 5 เพราะเป็นการให้สิทธิเท่าเทียมกันแก่บุคคลเพศเดียวกันที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางเพศกำเนิด ตามหลักการแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี
อีกทั้งสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน”
เมื่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. 2481 ภาค 6 มรดก มาตรา 38 บัญญัติว่า “ในส่วนที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์ มรดกโดยสิทธิโดยธรรม หรือโดยพินัยกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมายภูมิลำเนาของเจ้ามรดกในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
และได้ความจากการไต่สวนว่า ตาม Administration of Estates Act 1925 ของประเทศสหราชอาณาจักรอันเป็นกฎหมายภูมิลำเนาของผู้ตายในขณะถึงแก่ความตาย ข้อ 46 (1) (i) บัญญัติให้หุ้นส่วนชีวิตมีสิทธิในทรัพย์มรดกที่เป็นสังหาริมทรัพย์ของผู้ตายโดยไม่มีเงื่อนไข ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายได้ .
ภาพประกอบ:https://www.bangkokbanksme.com/article/5472
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/