งานวิจัยชี้ยุคโซเชียลทำนักพนันออนไลน์วัยโจ๋พุ่งกว่า2แสนคน เผย เด็ก 7 ขวบเริ่มเล่น
งานวิจัยห่วงกระทบสมองโทษคล้ายยาเสพติด ฉุดรั้งทักษะชีวิตในระยะยาว แนะรัฐชูแก้ปัญหานักพนันเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ มอบ สธ. แม่งาน คลอดนโยบาย พร้อมจัดเวทีสาธารณะ ชงข้อเสนอตัวแทนพรรคการเมือง 6 มีนาฯ
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เผยแพร่งานวิจัย เรื่อง “การลดผลกระทบของพนันออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนไทย” โดยพญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ในวิจัยดังกล่าว ระบุ 7 ขวบ คืออายุของนักพนันเด็กที่สุดจากการสำรวจในปี 2560 และในจำนวนคนไทยที่ติดพนันกว่า 2.1 ล้านคน เป็นเด็กและเยาวชนถึง 207,000 คน โดยเฉพาะพนันออนไลน์ที่พบว่า กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มที่เล่นพนันออนไลน์มากที่สุด และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
งานวิจัยดังกล่าว ยังระบุถึงการพนันในเด็กและเยาวชน ส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกาย และผลกระทบต่อสมอง โดยพบว่า การพนันมีส่วนเปลี่ยนแปลงสมองได้เช่นเดียวกับยาเสพติด และขัดขวางการพัฒนาสมองและทักษะชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างถาวร โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ที่มีความรุนแรงกว่าพนันชนิดอื่นถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีผลกระทบในทางพฤติกรรมด้วย เพราะการพนัน เป็นต้นตอ ที่ให้เยาวชนมีโอกาสเข้าสู่อบายมุขอื่น รวมถึงการก้าวสู่เส้นทางอาชญากรรมได้
ส่วนผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ พบว่า รายได้ของผู้ประกอบการธุรกิจพนันออนไลน์เติบโตในลักษณะก้าวกระโดด จากปี ค.ศ.1997 มีรายได้ที่ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มาเป็น 528,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี ค.ศ.2015 ส่วนประเทศไทยเองในปี 2551 ผลสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่า ในช่วงฟุตบอลยูโร มีเด็กและเยาวชน อายุ 12-24 ปีในกทม.และปริมณฑลกว่า 370,000 คนเข้าสู่วงพนันบอล โดยมีเงินสะพัดถึง 924 ล้านบาท
ที่น่าห่วงคือในจำนวนกว่าร้อยละ 83.8 มองว่า การเล่นทายพนันบอลเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย
ผลกระทบของพนันออนไลน์ต่อสังคม พบว่า พนันออนไลน์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนผละจากห้องเรียน และส่วนหนึ่งไม่มีเงินชำระหนี้พนันทำให้ต้องเดินเข้าสู่เส้นทางธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจากสถิติการจับเด็กและเยาวชน ข้อหาเกี่ยวกับการพนันพบว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ.2550-2559 พบว่ามีเด็กอายุ 8-15 ปี ถูกจับกุมร้อยละ 0.11 อายุ 16-18 ปีถูกจับกุมร้อยละ 1.07 และอายุ 19-25 ปี ถูกจับกุมถึงร้อยละ 9.76
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยฉบับนี้ยังได้เสนอแนะ “ทางออก” ให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากพนันออนไลน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยรัฐควรแสดงจุดยืนให้เห็นถึงการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนดังนี้
การป้องกันทางนโยบายสาธารณะ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะต้น ต้องสำรวจสถานการณ์ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งรณรงค์ให้สังคมตระหนักรู้ผ่านสื่อและกิจกรรมต่างๆขณะเดียวกันต้องเพิ่ม “พื้นที่สีขาว” ให้เด็กและเยาวชนได้มีกิจกรรมที่ห่างไกลจากการพนันด้วย
ระยะกลาง รัฐควรแสดงจุดยืนให้ชัดเจนถึงความสำคัญของปัญหาพนันในเด็กและเยาวชน โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้ปัญหาการพนันเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาอย่างจริงจังก่อน โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้พัฒนาแผนระดับชาติในการแก้ปัญหาการพนัน
ระยะยาวประเทศไทยควรจัดตั้งกองทุนเพื่อการแก้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนเป็นการเฉพาะ โดยนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการดำเนินการมาใช้ในการณรงค์สร้างการตระหนัก การเยียวยารักษา รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ หรือ จัดการเรียนการสอนให้ความรู้ความเข้าใจ ปัญหาของการพนันให้เป็นหลักสูตรในโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย
สำหรับการป้องกันเชิงนโยบายสังคม ต้องสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเด็กและเยาวชน โดยใช้แนวทางบริการสาธารณสุข เพราะปัญหาการพนันไม่ได้เป็นปัญหาในตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาของชุมชนโดยรวมเช่นเดียวกับปัญหาสาธารณสุขอื่นๆ
นอกจากนี้ยังต้องมีความเข้มงวด โดยการกำหนดเป็นกฎหมายในการกำหนดอายุขั้นต่ำเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนเล่นพนัน รวมถึงการจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนโครงการแก้ปัญหาการพนันหลายรูปแบบ
ในส่วนของการคุ้มครองเด็กและเยาวชน จะต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองเด็กจากการพนันให้ชัดเจน โดยถือการกระทำผิดที่เด็กเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นความผิดขั้นรุนแรง และบัญญัติฐานความผิดเพิ่มเติม รวมถึงการเพิ่มโทษ เพื่อสนับสนุนการคุ้มครองเด็ก เช่น ความผิดเกี่ยวกับการอนุญาตให้เด็กเข้าเล่นการพนันทุกประเภท ความผิดจากการโฆษณาพนันทุกประเภท
ทั้งนี้มีข้อเสนอ 2 ทางเลือกในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนไทย คือ ตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ โดยจัดทำกฎหมายใหม่เพื่อกำหนดให้มีองค์กรกำกับดูแลด้านความปลอดภัยออนไลน์ โดยรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนอย่างต่อเนื่อง คล้ายกับรูปแบบของประเทศออสเตรเลียที่เป็นองค์กรอิสระ หรือ อีกแนวทางคือ ยึดการทำงานตามภารกิจ โดยให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องทำงานโดยยึดตามภารกิจของหน่วยงาน แต่จะต้องหาวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบเพื่อดำเนินโครงการตามเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้
นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขปัญหาโดยใช้การขับเคลื่อนกลุ่มพลังเด็ก และ เยาวชนชุมชน การส่งเสริมให้เยาวชนรู้เท่าทันสื่อพนันออนไลน์ รวมถึงการควบคุมการใช้เครื่องมือสื่อสารและอินเตอร์เน็ตในกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาการพนันในเด็กและเยาวชนจะเป็นปัญหาที่มีมานาน แต่ที่ผ่านมากลับไม่ถูกกล่าวถึงเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงโค้งสุดท้ายในการเลือกตั้ง มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เตรียมจัดเวทีสาธารณะ “นโยบายสาธารณะเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนไทยจากการพนัน” ในวันที่ 6 มีนาคม เวลา 08.30 น. โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค จะหยิบยกปมปัญหาดังกล่าวขึ้นมาพูดคุย ร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ก่อนที่ส่งต่อข้อเสนอให้พรรคการเมืองนำไปร่วมผลักดันเป็นนโยบายหากได้เป็นรัฐบาลต่อไป