เปิดจุดยืนพรรค 'อนาคตใหม่-พท.-ปชป.' ประสานเสียงค้าน พ.ร.บ.โรงงาน ชี้ควรรัดกุมมากกว่านี้
"..พ.ร.บ.โรงงานนั้นสรุปแล้วส่งผลกระทบกับหลายฝ่ายมาก ดังนั้น ความเป็นจริงแล้วก็ควรจะให้ผ่านในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้มีการรับฟังความเห็นรอบด้านมากกว่านี้ ดังนั้นก็ถามเขาว่าเขาจะเร่งไปทำไมเพราะต้องมีการแก้กันอีก..."
เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายหลายฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำ และ สนช. เร่งพิจารณาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง โดยประเด็นสำคัญของร่างกฎหมาย ก็คือ การกำหนดนิยามของคำว่า "ตั้งโรงงาน" ไว้ว่า เพียงแค่นำเครื่องจักรสำหรับประกอบกิจการโรงงานมาตั้งในอาคาร สถานที่ก็ถือว่าเป็นการตั้งโรงงานขึ้นแล้ว โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตก่อสร้างโรงงาน เนื่องจากว่าขั้นตอนที่ต้องขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ถูกตัดออกไป
และยังกำหนดคำนิยามใหม่ของ "โรงงาน" ในร่างกฎหมายว่า หมายถึง อาคารสถานที่ที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่ 50 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้คนตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากกฎหมายเดิมที่กำหนดว่า สถานที่เครื่องจักร 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คนขึ้นไป ซึ่งการกำหนดร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้ภาคประชาสังคมออกมาวิจารณ์ว่าจะทำให้การจัดตั้งโรงงานขนาดใหญ่นั้นทำได้ง่ายขึ้น ทั้งที่โรงงานเหล่านี้เองก็เป็นต้นเหตุของการปล่อยมลพิษต่างๆ
ขณะที่ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน ต.ค. 2561 ช่วงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงแนวคิดของการยกเลิกอายุใบอนุญาต รง. 4 ว่า จะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศสามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง โดยไม่ติดขัด (อ้างอิงข้อมูลส่วนนี้จาก : https://www.bbc.com/thai/thailand-47315901)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมือง ประกอบไปด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ถึงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.โรงงาน ดังกล่าว ปรากฎข้อมูลดังต่อไปนี้
ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย และผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่
@ ศิริกัญญา ตันสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย และผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่
“โดยเจตนารมณ์ของเขาคงมองว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เขาคงมองในประเด็นเรื่องอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและลดภาระให้กับตัวโรงงาน แต่ในทางกลับกันก็จะทำให้ขาดการกำกับดุแลด้วยเช่นกัน ทางฝั่งพรรคอนาคตใหม่เองนั้นก็มีความกังวลเช่นกัน เพราะโรงงานนั้นไม่ได้ดูที่ขนาดกับการก่อมลพิษเยอะ ดังนั้นก็เท่ากับว่าการเอาตัว 50 แรงม้ามาเป็นเกณฑ์วัดก็หมายความว่าโรงงานหลายประเภทไม่จำเป็นที่จะต้องมีอุปกรณ์ที่จะบำบัดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงนี้พรรคอนาคตใหม่มองว่ามันไม่โอเค เพราะควรจะมีการกำหนดหลักการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย"
"การยกเลิกในเรื่องของการต่อใบอนุญาตดังกล่าวนั้นในทางกลับกันก็จะทำให้ตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย ถ้าดูจากที่ผ่านมาเวลามวลชนกับโรงงานมีเรื่องกันเขายังสามารถใช้ช่องทางที่ว่านี้ไปยับยั้งไม่ให้มีการต่ออายุโรงงานได้ เพื่อให้เขาหยุดกิจกรรมที่ไม่ให้ปล่อยมลพิษออกมา ดังนั้นพรรคอนาคตใหม่จะคัดค้านในเรื่องนี้ใน 2-3 เรื่อง โดยข้อเสนอว่าถ้าจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานก็จะต้องมีการทบทวนในเรื่องกิจการใหม่ด้วยว่าในทุกวันนี้ในบางโรงงานได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำอีไอเอหรือรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บางทีก็ไม่เข้าข่ายในเรื่องประกาศผังเมืองแต่ก็ตั้งโรงงานได้ อย่างพวกโรงงานประเภทคัดแยกขยะ โรงงานรีไซเคิลต่างๆ ถึงแม้ชื่อว่าบำบัดขยะ แต่ความจริงแล้วก็ปล่อยมลพิษออกมามากเช่นกัน ทั้งน้ำเสียหรือสารพิษต่างๆที่เล็ดลอดออกมา รวมไปถึงกรณีฝังกลบ ดังนั้นทั้งหมดต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด"
"อีกประเด็นก็คือว่าต่อจากนี้ไปถ้ากรมโรงงานถ้าจะทำแค่เรื่องออกใบอนุญาตอย่างเดียว ในเรื่องการดูแลการปล่อยมลพิษก็ควรจะต้องโอนถ่ายความรับผิดชอบไปให้กรมคบคุมมลพิษเป็นหลัก แยกกันไปเลย และนอกจากนี้ต้องให้อำนาจกรมควบคุมมลพิษเพื่อให้เขามีอำนาจกำกับดูแลโรงงานที่ไม่ทำตามกฎด้วย"
"พ.ร.บ.โรงงานนั้นสรุปแล้วส่งผลกระทบกับหลายฝ่ายมาก ดังนั้น ความเป็นจริงแล้วก็ควรจะให้ผ่านในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้มีการรับฟังความเห็นรอบด้านมากกว่านี้ ดังนั้นก็ถามเขาว่าเขาจะเร่งไปทำไมเพราะต้องมีการแก้กันอีก"
"ส่วนกรณีที่บอกว่าร่าง พ.ร.บ.ตัวนี้จะช่วยให้ต่างชาติมาลงทุนมากขึ้นนั้น ความจริงแล้วเขาก็ไม่ต่างจากเอกชนไทย ซึ่งถ้ารัฐไม่ได้ออกมาตรการที่จะป้องกันปัญหาในเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน แล้วพอต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วมีปัญหา บริษัทต่างชาติก็ไม่โอเคเหมือนกัน ดังนั้นสรุปเจตนาของกฎหมายตัวนี้นั้นแค่มองในระยะสั้นว่าต้องการจะไต่อันดับธนาคารโลกในเรื่องของความยากง่ายในการทำธุรกิจเท่านั้น แต่ไม่ได้มองถึงผลกระทบระยะยาวเลย”
ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
@ ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ ผู้สมัครส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
“ผมขอบคุณที่ทางสำนักข่าวอิศราได้มาถามเรื่องนี้เพราะถือว่าเป็นประโยชน์มาก ซึ่งจุดยืนของพรรคเพื่อไทยเองเราก็ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะการที่คุณเพิ่มคำว่าโรงงานเป็น 50 แรงม้าตรงนี้ ผมก็ไม่มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการหรือไม่ เพราะบางทีมีกรณีของผู้ประกอบการรายเล็กเข้ามาด้วย ซึ่งการออกกฎหมายดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กนั้นมีปากมีเสียงน้อยลง แต่เอื้อให้กับผู้ประกอบการโรงงานรายใหญ่มากขึ้น ซึ่งโรงงานรายใหญ่นี้เองก็เป็นต้นกำเนิดของมลพิษหลายๆอย่างรวมไปถึงกรณีฝุ่น PM2.5 ด้วย ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ก็ไม่ใช่แค่จะหายไปเพียงเพราะรอให้ลงพัดมาแบบที่รัฐบาลว่าไว้"
" ผมขอเรียนว่าการไปออกกฎว่ามีระเบียบน้อยลง แต่มีมาตรการบางอย่างที่มันเยอะขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่บังคับใช้กับผู้ประกอบการรายเล็ก สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจของทางเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะจะให้อำนาจหน่วยงานราชการมากขึ้นด้วย ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พบว่าใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่นั้นสิ่งที่ตามมาก็จะเป็นเรื่องของการทุจริตตามมา"
"จุดยืนของพรรคเพื่อไทยนั้นก็มองเช่นกันว่าควรจะให้การดำเนินการระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนนั้นได้มีความโปร่งใส มีการกระจายอำนาจ ลดขั้นตอนการพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่รัฐและกับประชาชน โดยใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นสื่อกลางให้ประชาชนได้สื่อสารกับทางราชการ ขั้นตอนเหล่านี้ ผมเชื่อว่ามันก็จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะช่วยลดการทุจริตได้ด้วย"
"ดังนั้นการออกกฎหมายเหล่านี้นั้นผมมองว่าควรจะต้องมีความรัดกุมมากกว่านี้และต้องคำนึงถึงภาคประชาสังคม ผลกระทบของประชาชน มีการทำประชาพิจารณ์กันให้มากกว่านี้ด้วย"
"เพราะฉะนั้นถ้าหากพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลเอง เราก็ต้องมีการพุดคุยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ประกอบการ ประชาชนที่อยู่อาศัย ข้าราชการ นักวิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ถ้าหากทุกฝ่ายนั้นมีความเห็นพ้องต้องกันแล้วเราถึงค่อยทำ ซึ่งจากการที่ผมได้ไปลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆนั้นเขามีความต้องการที่จะทำในสิ่งต่างๆให้มีความโปร่งใสและถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดปัญหาในอนาคตขึ้นมาอีก"
"ส่วนกรณีที่คุณอุตตมบอกว่าร่างกฎหมายดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศสามารถทำธุรกิจได้โดยไม่ติดขัดนั้น ตรงนี้ผมขอเน้นย้ำคำเดิมว่า มันไปเอื้อต่อผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า ซึ่งจุดยืนของพรรคเพื่อไทยนั้น มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนนั้นควรจะเริ่มต้นจากการพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็กให้มีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาจากฐานรากขึ้นมาก่อน แทนที่จะไปช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่ ดังนั้น ทางพรรคเราจึงได้มีนโยบายจำพวกโครงการกองทุนพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านและชุมชน ( SML ) และกองทุนเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรายเล็ก(SME)ขึ้นมา แทนที่จะไปออกกฎหมายให้ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของโรงงานรายใหญ่ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนมากกว่าการมานั่งมองแค่ตัวจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวม)ของประเทศอย่างเดียว”
พรพรหม ณ สงขลา วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัคร ส.ส. เขตบึงกุ่มและเขตคันนายาว (แขวงรามอินทรา) กรุงเทพมหานคร
@ นายพรพรหม ณ สงขลา วิกิตเศรษฐ์ ผู้สมัคร ส.ส. เขตบึงกุ่มและเขตคันนายาว (แขวงรามอินทรา) กรุงเทพมหานคร
“เรื่องนี้ผมขอพูดในภาพรวมว่าถ้าเราดูค่า PM2.5 ว่าถ้ามันเกินจุดที่กำหนดเมื่อไร เราก็ควรจะมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะปิดโรงงานต่างๆอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ว่ารอให้มันเกินค่าที่กำหนดจากนั้นมานั่งหารือว่าจะปิดโรงเรียน โรงงานในบริเวณต่างๆ สรุปก็คือ เราควรจะมีกฎที่ชัดเจนว่าถ้าเกินค่าเท่านี้ต้องทำแบบนี้ เกินเท่านี้ก็ทำแบบนี้"
"ส่วนกรณีที่ที่มีการบอกว่ากำหนดแค่ว่าให้ตั้งโรงงานแค่เกินเครื่องจักรเกินขนาด 50 แรงม้าไปตั้ง ก็ถือว่าเป็นโรงงานได้แล้วนั้น ในความเห็นส่วนตัวของผม การกำหนดแค่ว่าตั้งเครื่องจักรก็เป็นโรงงานได้แล้ว โดยมีการยกเว้นข้อบังคับต่างๆนั้น ตรงนี้ผมก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน มันควรมีการกำหนดมาตรการตรวจสอบเรื่องการปล่อยมลพิษให้ชัดเจนมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าใครจะมาทำโรงงานก็ได้ แล้วถือว่าเป็นรายย่อยเลยไม่มีการตรวจสอบว่ามีการปล่อยมลพิษเท่าไร"
"ตามหลักที่ผมคิดก็คือเข้าใจว่าการออกกฎหมายนั้นไม่ใช่แค่มองว่าจะให้มีการเข้ามาลงทุนอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย โครงการระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC นั้นก็เป็นภาพใหญ่ดังนั้นไม่ควรมามองแค่การช่วยเหลือโรงงานใหญ่ๆอย่างเดียว แต่กลับไม่มองในเรื่องของประเด็นความรับผิดชอบของโรงงานเหล่านั้นต่อสังคม โดยเฉพาะการละเลยในเรื่องของอีไอเอ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนว่ารัฐจะมาช่วยในประเด็นพวกนี้ ณ ตอนนี้จีดีพีของประเทศไม่ใช่ตัวชี้วัดที่ดีที่สุดแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาคนยังไปมองอยู่ว่าจีดีพียิ่งเติบโต เศรษฐกิจยิ่งดี อันนี้ไม่จริง เพราะแม้ว่าเศรษฐกิจดี แต่มีการปล่อยมลพิษเยอะขึ้น ตรงนี้ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย"
"จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นเองก็ได้ปฏิเสธแล้วว่าจะไม่ใช้จีดีพี แต่จะใช้บริบททางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการลดความเหลื่อมล้ำ มากกว่าเรื่องของการใช้จีดีพี ซึ่งการใช้จีดีพีมองแค่มิติเดียวคือเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น"
"ผมยกตัวอย่าง คุณออกจากบ้าน รถติด ตรงนี้จีดีพีก็ขึ้น เพราะคุณกำลังอุดหนุนน้ำมัน แต่คุณก็กำลังปล่อยควันมากขึ้น PM2.5 เยอะ คุณไปซื้อหน้ากาก N95 อันนี้จีดีพีก็ดีขึ้นเพราะมีการหมุนเวียนของเงิน แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันดีเสมอไป แล้วถ้าผมอยากใช้เวลาช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ ช่วยเหลือสังคม แต่ผมไม่ได้เงิน ตรงนี้จีดีพีไม่ขึ้นนะครับ พอเราเอาตรงนี้กลับมาที่บริบทของโรงงาน เราไม่เอานโยบายหรือแนวทางที่สนับสนุนโรงงานอย่างเดียวแต่ไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเลย ถึงแม้จะช่วยเรื่องการลงทุนก็ตาม"
"เชื่อว่าทุกพรรคการเมือง ก็คงจะรู้สึกเหมือนกันว่าการยกเว้นในเรื่องการปล่อยมลพิษเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ผมไม่แน่ใจว่าทางรัฐบาลหรือทางพรรคของคุณอุตตมนั้นเขาคิดยังไงเกี่ยวกับเรื่องนี้เหมือนกัน”
--------------------------
ทั้งหมดนี้ คือจุดยืนของทั้งพรรคอนาคตใหม่ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.โรงงานดังกล่าว ซึ่งต้องรอดูว่าหลังการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.นี้ จะมีความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/