ป.ป.ช.วิเคราะห์สถานการณ์ทุจริตปัจจัยหนึ่งเกิดจาก รบ.เลือกตั้ง-เชื่ออีก 5 ปีดีขึ้น
ป.ป.ช. วิเคราะห์สถานการณ์ทุจริตไทย ชี้ปัจจัยหนึ่งเกิดปัญหาคอร์รัปชั่น คือ รบ.จากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะทุจริตเชิงนโยบาย-โยกย้ายแต่งตั้ง ขรก.มิชอบ แต่อาจลดลงได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยตัวแปรสารพัดกฎหมาย-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชี้ระบบตรวจสอบจะเข้มแข็ง หวังได้คะแนน CPI ถึง 40 คะแนนในปี’64
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวในการประชุมของสมาคมสื่อช่อสะอาดถึง “สถานการณ์การทุจริตในปัจจุบันกับอนาคตประเทศไทย” ว่า การทุจริตเป็นหนึ่งในอาชญากรรมซึ่งองค์การสหประชาชาติและกลุ่มประเทศในภาคพื้นยุโรปได้ร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และมีการลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ค.ศ. 2003 โดยมีรัฐภาคีรวม 186 ประเทศ ไทยเป็นลำดับที่ 149 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันเข้าเป็นรัฐภาคีอนุสัญญา UNCAC เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์การทุจริตในประเทศไทยโดยพิจารณาจากเรื่องกล่าวหาร้องเรียนที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. 5 ปี ย้อนหลัง สามารถจัดกลุ่มประเภทคดีทุจริต ที่พบว่ามีการกล่าวหาร้องเรียนมากที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2561 3 ลำดับ คือ 1. การทุจริตเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีแนวโน้มที่ลดลงในปี 2560 - 2561 2. การทุจริตเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคง ซึ่งมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และ 3. การทุจริตเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ มีแนวโน้มคงที่
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์ทุจริตไทยในอนาคตนั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บังคับใช้ในวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 สถานการณ์การทุจริตซึ่งพิจารณาจากเรื่องกล่าวหาที่สำนักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยต่อเดือน ปรากฏว่ามีคดีทุจริตที่มีผู้กล่าวหาร้องเรียน แยกตามประเภทกลุ่มคดีทุจริต ดังนี้ 1. กระบวนการยุติธรรมความมั่นคง จำนวน 144 เรื่องต่อเดือน 2.สาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 121 เรื่องต่อเดือน 3. ทรัพยากรธรรมชาติและวิ่งแวดล้อม จำนวน 64 เรื่องต่อเดือน 4. เศรษฐกิจ จำนวน 49 เรื่องต่อเดือน 5.การศึกษา จำนวน 47 เรื่องต่อเดือน 6.การจัดซื้อจัดจ้าง จำนวน 18 เรื่องต่อเดือน 7. อื่นๆ จำนวน 63 เรื่องต่อเดือน
“เมื่อควบคุมตัวแปรอื่นให้คงที่ สถานการณ์การทุจริตที่พิจารณาจากเรื่องกล่าวหาที่สำนักงาน ป.ป.ช. คาดว่าจะรับไว้ดำเนินการเฉลี่ยต่อปี จะเป็นเรื่องกล่าวหาประเภทกระบวนการยุติธรรมและความมั่นคงโดยเฉพาะเรื่องการทุจริตเกี่ยวกับการใช้อำนาจโดยมิชอบ การทุจริตเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายมากที่สุดจำนวน ปีละ 1,728 เรื่อง ในทางกลับกันเรื่องกล่าวหาการทุจริตเกี่ยวกับจัดซื้อจัดจ้างจะมีน้อยที่สุดเพียง 216 เรื่อง” นายวรวิทย์ กล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาตัวแปรอื่นที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์การทุจริตแล้ว สถานการณ์การทุจริตอาจเปลี่ยนแปลงไป โดยตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อสถานการณ์การทุจริตในอนาคตประกอบด้วย กลุ่มตัวแปรที่อาจทำให้การทุจริตเพิ่มมากขึ้น เช่น 1.รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการทุจริตเชิงนโยบายโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการให้บริการสาธารณะ / โครงสร้างพื้นฐานเพื่อหวังผลทางการเมือง และการทุจริตเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนรัฐบาล 2.การบริหารท้องถิ่นหลังเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นการใช้จ่ายงบประมาณผิดวัตถุประสงค์และการทุจริตเกี่ยวกับ การจัดซื้อ จัดจ้างเพื่อถอนทุน 3.การมุ่งพัฒนาประเทศไทย 4.0 เป็นการทุจริตเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เช่น คมนาคม พลังงาน โทรคมนาคม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
อย่างไรก็ดีกลุ่มตัวแปรที่อาจทำให้การทุจริตลดลง ได้แก่ การมี พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี / ยุทธศาสตร์ชาติฯ ระยะที่ 3 ซึ่งกำหนดกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตโดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ และปลูกฝังค่านิยมไม่ทนต่อการทุจริต
“การทุจริตของประเทศไทยในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าจะลดลงตามปัจจัยต่างๆ เช่น ระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมากขึ้น ประชาชนมีความตื่นตัวมากขึ้น คนที่กระทำการทุจริตเกิดความเกรงกลัวมากขึ้น ส่วนค่า CPI คาดว่าจะอยู่ที่ 40 คะแนนในปี 2564” นายวรวิทย์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/