ผู้ต้องขังไทยล้นคุก เกินความจุถึง 4 เท่า ใช้งบฯ ค่าอาหารกว่า 20 ล้าน/วัน
ผอ.ศูนย์กฎหมายอาญาฯ มธ. เปิดข้อมูลผู้ต้องขังไทย เกือบ 4 แสนคน เกินความจุ 4 เท่า แต่ละปีใช้งบฯ ค่าอาหารกว่า 7 พันล. ผู้พิพากษาไม่เพียงพอ ชี้ลดปริมาณคดี ต้องป้องกันอาชญากรรมควบคู่
วันที่ 1 มี.ค. 2562 ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง อนาคตกระบวนการยุติธรรมไทยหลังการเลือกตั้ง 2562 ณ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และประธานกรรมการสถาบันยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) กล่าวถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย โดยตอนหนึ่งระบุถึงสถิติผู้ต้องขังทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.พ. 2562 มีทั้งสิ้น 378,673 คน ซึ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่าง (อุทธรณ์-ฎีกา, ไต่สวน-พิจารณา, สอบสวน) มี 64,382 คน หรือร้อยละ 17 และคดีส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ร้อยละ 70 ขณะที่ข้อมูล ณ วันที่ 1 มี.ค. 2562 มีผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเป็น 381,749 คน
อย่างไรก็ตาม ราชทัณฑ์ทั่วประเทศ สามารถจุผู้ต้องขังได้เพียง 110,667 คน นั่นแสดงว่า จุผู้ต้องขังเกินอัตรากำลัง 4 เท่า
ขณะที่งบประมาณ ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.พ. 2562 ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาฯ ระบุว่า เป็นงบประมาณค่าอาหาร 54 บาท/คน/วัน ดังนั้น 1 วัน ต้องใช้จ่ายงบประมาณ 20,448,342 บาท 1 เดือน ต้องใช้จ่ายงบประมาณ 613,450,260 บาท และ 1 ปี ต้องใช้จ่ายงบประมาณ 7,361,403,120 บาท ซึ่งเห็นว่า งบประมาณสูงขนาดนี้สามารถนำไปก่อสร้างโรงพยาบาลได้
“ปี 2561 ต้องของบประมาณกลางปี เพราะมีผู้ต้องขังจำนวนมาก”
ศ.ดร.สุรศักดิ์ ยังกล่าวถึงการกระทำความผิดซ้ำ พบว่า ปี 2013 มีผู้กระทำผิดซ้ำ 3 ปี ร้อยละ 32, 2 ปี ร้อยละ 25.17 และ 1 ปี ร้อยละ 15.02 แสดงว่า ไม่ประสบความสำเร็จในกระบวนการ
ทั้งนี้ คดีที่มีมากขึ้น เฉพาะสถิติคดี ปี 2559-2560 เปรียบเทียบปริมาณคดีศาลยุติธรรม พบว่า คดีเข้าสู่ศาลชั้นต้น 1,729,844 คดี ในขณะที่มีผู้พิพากษาเพียง 4,771 คน (ผู้พิพากษา 4,416 คน-ผู้พิพากษาอาวุโส 355 คน) ซึ่งผู้พิพากษา 1 คน ต้องทำ 362 คดี แต่บางคดีต้องมี 2 คน ดังนั้นโดยเฉลี่ยต้องทำ 800 คดี
“จะต้องคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้คดีเกิน และลดปริมาณคดีได้ ซึ่งไทยคิดทุกเรื่อง แต่ไม่ได้ทำ ฉะนั้นจะเห็นว่าผู้พิพากษาและอัยการสอบมาเท่าไหร่ก็ไม่เพียงพอ”
โดยหากเปรียบเทียบกับคดีอาญาในฝรั่งเศส ซึ่งปีหนึ่งมีประมาณ 5 หมื่นคดี ซึ่งฝรั่งเศสมีพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่ทำอย่างไรให้มีคดีน้อย ขณะเดียวกันต้องไม่กระทบความปลอดภัยกับประชาชน
แล้วจะลดปริมาณคดีได้อย่างไร ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายอาญาฯ ระบุการป้องกันอาชญากรรมควบคู่กับการดำเนินคดีเป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของไทย คือ การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ และเชื่อว่ากระบวนการบังคับคดียังมีปัญหาด้วย รวมถึงมีผู้กระทำผิดซ้ำมาก .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/