นักวิชาการเสนอปรับกระบวนศาลช่วยคดีไร้รื้อคนจนเมือง
“เสน่ห์” ชี้สิทธิชุมชนตามรธน.ครอบคลุมแต่ชนบทไม่ถึงคนจนเมือง ไร้กรรมสิทธิ์ที่ดิน “อคิน” เสนอศาลไทยปรับตามอังกฤษ ตัดสินคดีชาวบ้านโดยพิจารณาบริบทสังคม
วันที่ 29 มิ.ย. 55 มูลนิธิเล็ก – ประไพ วิริยะพันธุ์ จัดเสวนาสัญจรค่อนศตวรรษ เรื่อง “ไล่รื้อชุมชน” ความขัดแย้งระหว่างกรรมสิทธิ์โดยกฏหมายและสิทธิชุมชน..ภาวะล้าหลังทางวัฒนธรรมในเมืองไทย ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยศ.ดร.เสน่ห์ จามริก นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตั้งแต่ประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ปี 40 ได้มีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนม. 66 และ 67 กระทั่งรธน. ปี 50 ยังคงยึดกฎหมายสิทธิชุมชนเช่นเดิม หากแต่กฎหมายทั้งสองฉบับมุ่งเน้นเฉพาะชุมชนที่มีฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น โดยไม่ครอบคลุมชุมชนเมืองที่กำลังโดนไล่รื้อไม่ต่างจากพื้นที่ต่างจังหวัด แม้ตนจะผลักดันเพิ่มเติมกฎหมายให้ครอบคลุมตั้งแต่สมัยเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่ไม่เป็นผล
นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวต่อว่า สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้คนในชุมชนเมือง โดยเฉพาะผู้อาศัยในพื้นที่วัดต้องโดนไล่รื้อ เพราะคนเมืองไม่มีการสานสัมพันธ์ตามวิถีภูมิปัญญาและเข้าใจใจความหมายของชุมชนดีพอ ผิดกับชุมชนต่างจังหวัดที่มีฐานทรัพยากรและวัฒนธรรมให้รักษาและป้องกัน สิทธิในพื้นที่ตน จนเกิดการรวมตัวต่อสู้เรียกร้องไม่ให้ถูกรังแกจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ไร้พื้นที่ทำกิน ฉะนั้นหากคนชุมชนเมืองต้องการรักษากรรมสิทธิ์การอยู่อาศัยจำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมกัน
ด้านรศ.ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านชุมชนเเออัด กล่าวว่า ชุมชนเริ่มสูญหายเพราะรัฐใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยรวมศูนย์ ซึ่งยึดหลักทุนนิยมปัจเจกอาศัยการถือครองกรรมสิทธิ์ ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มต่อต้านรัฐและเอกชนในการเข้าแย่งทรัพยากรธรรมชาติ เพราะหากถือว่าบ้านเมืองปกครองด้วยเสียงส่วนมาก ชุมชนจะอยู่ไม่ได้ เพราะมีเสียงส่วนน้อย ทั้งที่การปกครองประชาธิปไตยแท้จริงจำเป็นต้องเคารพเสียงส่วนน้อยด้วย แต่อย่างไรก็ตามปัญหาการไล่รื้อ เมื่อมีคดีเกิดขึ้นเข้าสู่การพิจารณาของศาลมักเกิดปัญหาทุกครั้ง เพราะศาลไม่รู้ว่าชุมชนคืออะไร และจะยึดหลักการตามประมวลกฎหมายที่บัญญัติไว้เคร่งครัด โดยขาดการไต่สวนตามสถานการณ์ความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างจากศาลอังกฤษที่จะดูบริบทรอบข้างประกอบการพิจารณาด้วย ที่สำคัญผู้พิพากษายังสามารถแก้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนได้
นายประดิษฐ์ ห้วยหงส์ทอง ประธานชุมชนวัดบุปผาราม กรุงเทพฯ กล่าวถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่อาศัยเป็นชุมชนรอบวัดหลายแห่งของกรุงเทพฯ โดนไล่รื้อจากคณะกรรมการวัดให้ออกจากพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าต้องการปรับภูมิทัศน์ที่ดินดังกล่าว เช่น วัดบุปผาราม วัดกัลยาณมิตร ทั้งที่ความจริงทางวัดได้ขายที่ดินให้กับกลุ่มนายทุน พร้อมส่งทนายมาขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่
ขณะที่นางสุนีย์ ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านชุมชนเมืองจากการโดนไล่รื้อ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนรอบวัดว่า การต่อสู้เรียกร้องการอยู่อาศัยในที่ดินที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของตนตามกฎหมายค่อนข้างยาก แม้ชุมชนกับวัดจะอยู่เกื้อกูลกันมาแต่อดีตก็ตาม แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไป ฉะนั้นชุมชนหลายแห่งต้องร่วมมือกันเจรจาต่อรองผ่านองค์กรอิสระต่าง ๆ จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด.