10 พรรคการเมือง ชูนโยบายสังคายนา 3 กรมจัดเก็บภาษี - ไม่แตะขึ้น VAT
“ท่านไม่ต้องเป็นห่วง นโยบายหรือสัญญาของพรรคการเมือง เพราะเมื่อร่วมเป็นพรรครัฐบาลกัน ไม่มีใครได้ทำอะไรที่ได้พูดหรอก เพราะจะมีอีก 4-5 คนอยากจะทำอย่างอื่น การเจรจาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของตำแหน่ง นโยบาย อยากได้ตำแหน่งก็ต้องตกลงนโยบายกันได้ ฉะนั้นไม่มีทางทำทุกอย่างที่ทุกคนสัญญาไว้ เพราะไม่มีเงิน” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ณ อาคารเทพทวาราวดี คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาภาษีอากร จัดเวทีเสวนา ฬ.นิติมิติ นัดพิเศษ เรื่อง “นโยบายภาษีอากรเพื่อการพัฒนาประเทศ” โดยผู้แทนจากพรรคการเมืองต่างๆ 10 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคอนาคตใหม่ เข้าร่วม
ในเวที นางวรวรรณ ธาราภูมิ ที่ปรึกษามูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาภาษีอากร ตั้งคำถาม ถ้าพรรคท่านได้ร่วมรัฐบาล จะกำหนดนโยบายภาษีอย่างไรให้เป็นธรรมกับผู้เสียภาษี และสมดุลกับภาระประชาชนที่ถูกเก็บภาษีกับนโยบายของภาครัฐ
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์
“สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำ คือ 1.การปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพราะทุกวันนี้เราจัดเก็บภาษีได้ 17% ของ GDP ด้วยวิธีการทำงานในระบบราชการ จะยกฐานะกรมที่จัดเก็บภาษี เป็นอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างบุคคลเก่งๆ เข้ามาทำงาน 2.ระบบกลไกการเงินการคลังบ้านเราพิกลพิการ ซึ่งต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กร แก้ไขกฎหมาย เพิ่มอำนาจให้สำนักงบประมาณ ให้กรมบัญชีกลางทำงานแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ทำงานจับฉ่ายแบบในปัจจุบัน และให้มีกรมหนึ่งขึ้นมาดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน 3.มีโครงสร้างภาษีหลายอย่างที่ล้าสมัย ก็ควรยกเลิก 4.เก็บภาษีอากร กรณีคนต่างชาติมาซื้อทรัพย์สินในประเทศไทย ใช้ชื่อคนไทยถือครองทรัพย์สิน และ 5.เก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เช่น เฟชบุค เสียภาษีน้อยมาก ตรงนี้ต้องได้รับการแก้ไข”
นายพิสิฐ กล่าวเน้นย้ำระบบการจัดเก็บภาษีบ้านเรา ทั้ง 3 กรม ถึงคราวต้องสังคายนา เพราะระบบราชการไม่เอื้อต่อการทำงาน นอกเหนือจากคนเก่งหนีจากระบบราชการแล้ว ความเป็นนิติบุคคลแยกกัน ความร่วมมือระหว่างกันก็ยากมาก ต่างกรมต่างจัดเก็บภาษี ต่างคนต่างทำ วันนี้ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยตรวจจับคนโกงภาษี จะทำงานบนกระดาษไม่ได้แล้ว พร้อมกันนี้ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยไม่ต้องเก็บภาษีเพิ่ม แต่ให้ไปปรับปรุงระบบการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันระบบที่เอื้อต่อการคนที่ฉ้อฉน
ทั้งนี้ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ยังแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนอย่างไม่เหมาะสม ทั้งรถยนต์คันแรก หรือโครงการช็อปช่วยชาติ
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ตัวแทนจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย
“ระบบภาษีบ้านเรา ท้องถิ่นได้รายได้ภาษีน้อย เราส่งกลับให้กระทรวงมหาดไทยเป็นคนแจก พรรคพลังประชาชาติไทย เสนอตัดอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการตนเอง ขณะที่หน่วยงานจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นส่วนราชการ ต้องเป็นอิสระ จากกระทรวงการคลัง ไม่ใช่เงินเดือนราชการ ใช้ระบบบริหารเหมือนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ”
ม.ร.ว.จัตุมงคล บอกว่า ไม่ห่วงเรื่องวินัยการเงินการคลัง เพราะรัฐบาลชุดนี้ได้ออกพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดเป็นกฎหมาย ถือเป็นงานชิ้นโบว์แดงที่รัฐบาลเองก็ไม่รู้ ที่หากพรรคการเมืองไหนหาเสียงสัญญากับประชาชนทำนโยบายต่างๆ ก็จะติดกับกฎหมายฉบับนี้
“ท่านไม่ต้องเป็นห่วง นโยบายหรือสัญญาของพรรคการเมือง เพราะเมื่อร่วมเป็นพรรครัฐบาลกัน ไม่มีใครได้ทำอะไรที่ได้พูดหรอก เพราะจะมีอีก 4-5 คนอยากจะทำอย่างอื่น การเจรจาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของตำแหน่ง นโยบาย อยากได้ตำแหน่งก็ต้องตกลงนโยบายกันได้ ฉะนั้นไม่มีทางทำทุกอย่างที่ทุกคนสัญญาไว้ เพราะไม่มีเงิน”
ส่วนนายศุภชัย ใจสมุทร จากพรรคภูมิใจไทย เสนอให้ประเทศไทยมีการปฏิรูป ขยายฐานการจัดเก็บภาษี ปรับโครงสร้างหน่วยงานการจัดเก็บภาษี รวมทั้งถึงเวลาเอาจริงเอาจังกับภาษีมลพิษ ภาษีสิ่งแวดล้อม ผู้สร้างมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งวันนี้ยังไม่ขยับ และภาษีการค้าจากดิจิทัล รองรับโลกที่เปลี่ยน
“พรรคภูมิใจไทยจะหารายได้เพิ่ม จากการส่งเสริมให้คนปลูกกัญชา โดยใช้โมเดลแบบแคลิฟอร์เนีย ไม่เกิน 24 เดือน เราสามารถเก็บภาษีได้ 3.3 พันล้านบาทต่อปี”
ทั้งนี้ ในเวทีพรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้ง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จากพรรคเพื่อไทย สนับสนุนการสร้างให้คนมีรายได้เพิ่ม มากกว่าไปเพิ่มอัตราภาษี ขณะที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ จากพรรคไทยรักษาชาติ มีนโยบายลดภาษีนิติบุคคล เพื่อให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้ และคิดระบบภาษีล่วงหน้า รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตัวแทนพรรคประชาชาติ สนับสนุนให้มีการยื่นแบบแสดงภาษี เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี และมีสถาบันกลางมาดูแลเรื่องภาษี นายวรวงศ์ ระฆังทอง จากพรรคประชาภิวัฒน์ ให้ความเห็น โดยเชื่อว่า ไม่มีใครอยากเลี่ยงภาษี แต่ได้ตั้งคำถาม แต่เมื่อเสียภาษีไปแล้วมีความคลางแคลงใจว่า ผู้มีอำนาจบริหารประเทศนำภาษีไปใช้อย่างถูกต้องหรือไม่
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล พรรคอนาคตใหม่ อยากให้มีการแก้ไขกฎหมายภาษีที่ดิน ซึ่งมีอัตราการเก็บที่ต่ำเกินไป เสนอลดสิทธิประโยชน์ BOI และสนับสนุนให้คนไทยทุกคนยื่นแบบแสดงภาษี เช่นเดียวกันนายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ จากพรรคเสรีรวมไทย ที่สนับสนุนให้มีการปรับทัศนคติคนไทยเรื่องการเสียภาษี ไม่สนับสนุนให้มีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และให้เข้มงวดกับการหลบเลี่ยงภาษีของคนที่มีอาชีพอิสระ สุดท้ายนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ จากพรรคไทยศรีวิไลย์ แสดงความเห็น รัฐบาลที่ผ่านมา มีแต่นักสู้กู้สิบทิศทั้งนั้น ขณะที่นโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองก็ไม่แน่ใจจะหาเงินมาจากไหน เพราะไม่มีรัฐบาลไหนหารายได้เข้าประเทศ พอประชาชนเดือดร้อนก็ไปกู้เงินมาอุดปากประชาชนชั่วคราว เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ช่วงท้ายของเวทีเสวนา ผู้ดำเนินรายการ ตั้งคำถามถึงนโยบายด้านภาษีที่จะช่วยเหลือมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบไปในทางเดียวกันว่า หากมีการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น การช่วยเหลือมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะเป็น การหักลดหย่อนภาษี หรือลดภาษีให้มนุษย์เงินเดือนก็จะทำได้ รวมถึงให้การศึกษา เพิ่มทักษะ เพื่อให้คนไทยมีรายได้ที่สูงขึ้น