มานะ นิมิตรมงคล:ภาพจริงคอร์รัปชั่นไทย-สิ่งที่CPI ไม่ได้บอก
"...คดีคอร์รัปชันที่ปรากฏเป็นข่าวตลอดช่วงที่ผ่าน น่าจะกล่าวได้ว่า ส่วยสินบนและการโกงกินยังมีอยู่มากแต่เปลี่ยนรูปแบบไป คือการรีดไถเล็กๆ น้อยๆ จากชาวบ้านลดน้อยลง ขณะที่การรีดไถเป็นกอบเป็นกำที่กระทบกับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนทำมาค้าขายทั้งเล็กและใหญ่และการโกงกินในภาครัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว..."
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Private Sector Collective Action Coalition Against Corruption: CAC) จัดพิธีมอบใบประกาศนียบัตรแก่ 63 บริษัทที่ผ่านกระบวนการรับรองของ CAC ว่ามีนโยบายและกำหนดกลไกควบคุมภายใน เพื่อป้องกันการจ่ายสินบน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร โดยภายในงานมีการกล่าวปาฐกพิเศษ “ภาพลักษณ์/ภาพจริง คอร์รัปชันประเทศไทย - สิ่งที่ CPI ไม่ได้บอก” โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
ดร.มานะ กล่าวถึงสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยว่า ผลการสำรวจ CPI โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ตลอด 23 ปีที่ผ่านมาชี้ว่า การคอร์รัปชันของประเทศไทยอยู่ในทิศทางขาลงมาตลอด แม้สถานการณ์คอร์รัปชันจะดูดีในช่วงแรกหลังการปฏิวัติรัฐประหาร เมื่อปี พ.ศ. 2557 - 2558 แต่แล้ว 2 ปีต่อมา อันดับของประเทศไทยก็ตกต่ำแย่ลงอีกครั้ง ประเทศไทยจึงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันขั้นวิกฤติ
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ยังได้เปิดเผยผลการสำรวจอีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า“ปรอทวัดคอร์รัปชัน 2017” หรือ Global corruption barometer (GCB) ซึ่งเป็นการสำรวจโดยออกสุ่มสอบถามแบบตัวต่อตัวกับประชาชนในประเทศต่างๆ และพบว่า คนไทยมองแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศของตนดีที่สุดในเอเซียแปซิฟิค กล่าวคือมีคนไทยเพียงร้อยละ 14 เท่านั้นที่เชื่อว่า “ในปีที่ผ่านมามีคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น” ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศที่สำรวจรวมถึง ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี มาเลเซียและอินโดนีเซีย
“เรามีคอร์รัปชันเยอะ แต่ประชาชนกลับมองว่า คอร์รัปชันกำลังลดน้อยลงจึงเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะย้อนแย้งกับ CPI ที่กล่าวมาตอนต้น แต่ผลการสำรวจ GCB ในครั้งนี้อาจอธิบายได้จากผลการสำรวจของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ที่นำโดยอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตรและคณะ ในต้นปี 2557 ที่ระบุว่าสินบนภาคครัวเรือนหรือสินบนที่คนในครอบครัวต้องจ่ายเมื่อไปติดต่อหน่วยราชการได้ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อ 15 ปีก่อนหน้านี้”
เมื่อพิจารณาข้อมูลทั้งสองประกอบกับคดีคอร์รัปชันที่ปรากฏเป็นข่าวตลอดช่วงที่ผ่าน น่าจะกล่าวได้ว่า ส่วยสินบนและการโกงกินยังมีอยู่มากแต่เปลี่ยนรูปแบบไป คือการรีดไถเล็กๆ น้อยๆ จากชาวบ้านลดน้อยลง ขณะที่การรีดไถเป็นกอบเป็นกำที่กระทบกับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนทำมาค้าขายทั้งเล็กและใหญ่และการโกงกินในภาครัฐได้เพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว
"สิ่งเหล่านี้คนส่วนมากจะรู้ได้เมื่อเขาโดนกระทำ” ดร.มานะ กล่าวเเละเสริมว่า เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ เราคาดหวังว่าเรามีตลาดหลักทรัพย์เเห่งประเทศไทย มีตลาดทุน เมื่อค้าขายกับบริษัทขนาดใหญ่ เราคาดหวังว่าทุกบริษัทจะมีมาตรฐานจริยธรรม ธรรมาภิบาลในระดับเดียวกัน แล้วธุรกิจจะก้าวไปได้ด้วยความเชื่อถือที่มีให้กัน แต่เมื่อขาดความเชื่อถือไว้วางใจต่อกันแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ ความยุ่งยาก เพราะต้องเขียนกฎหมายและออกมาตรการมากมายมาควบคุม ซึ่งแน่นอนว่า คนที่ตั้งใจทำมาหากินโดยสุจริตจะได้รับผลพวงของความยุ่งยากเหล่านั้นไปด้วย
“อุปสรรคในการทำธุรกิจ ทุกคนจะได้รับเท่ากันหมด แต่คนที่ทุจริตจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ไป เอาเปรียบกันอย่างนี้ไม่มีใครอยากเห็น จึงเชื่อว่านักธุรกิจที่มาเข้าร่วม CAC ทุกท่านล้วนต้องการให้แวดวงการค้าบ้านเรามีบรรทัดฐานที่ดีในการทำธุรกิจร่วมกันเพื่อความสบายใจ”
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวตอนท้ายว่า มีการรวมตัวกันของภาคธุรกิจในหลาย ๆ วงการ เป็นการร่วมมือเพื่อช่วยกันทำสิ่งดีๆ ตามกำลังและสถานะที่แต่ละคนทำได้เพื่อสังคม มุ่งหวังให้ประเทศไทยพัฒนาก้าวไปข้างหน้า ผลพลอยได้คือผลสำเร็จที่เป็นเป้าหมายร่วมกันของนักธุรกิจ นั่นคือสังคมธุรกิจที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน รักษากฎเกณฑ์ กติกาไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้นการมอบประกาศนียบัตรแก่สมาชิก CAC ในครั้งนี้จะจุดเริ่มต้นที่เราเชื่อได้ว่า ในอนาคตมรดกที่เราสร้างไว้ ธุรกิจที่เราวางไว้ จะงอกเงย มั่นคงและยั่งยืน
“สิ่งที่ CPI ไม่ได้บอก คือถึงแม้สถานการณ์ของชาติจะแย่ แต่ก็กำลังมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีเพราะความตื่นตัวของภาคประชาชน แต่จะให้ดีขึ้นได้จริง ต้องอาศัยความตั้งใจและลงมือทำให้มากกว่านี้ สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ภายใต้สภาวะคอร์รัปชันที่กำลังมีวิกฤตอยู่ หวังว่า CAC จะเป็นพื้นที่ที่เรามาทำธุรกิจไปพร้อมกับพัฒนาประเทศไทยไปด้วยกัน” ดร. มานะ กล่าวในที่สุด .
ภาพประกอบ:https://www.naewna.com/local/355528
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/