มพบ.จี้รัฐคุมผู้ค้าหลัง 29 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเคยถูกอย.ห้าม พบขายในห้างออนไลน์
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดชื่อ 29 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผิดกม. เคยถูก อย. สั่งห้าม วางจำหน่ายในห้างออนไลน์ จี้สร้างระบบตรวจสอบสินค้า สร้างความปลอดภัยผู้บริโภค
วันที่ 26 ก.พ. 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค จัดแถลงข่าวเปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อออนไลน์ ณ ห้องประชุม ชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับองค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัด จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่จำหน่ายในระบบออนไลน์ (E-market Place) และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ในระหว่างวันที่ 24-27 ธ.ค. 2561 แบ่งเป็น
เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพฯ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังในห้างออนไลน์ เช่น Lazada Shopee 11street Watson C-mart และ Shop at24
ภาคเหนือ เฝ้าระวังในอินตราแกรม (IG)
ภาคตะวันออก เฝ้าระวังในไลน์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้เฝ้าระวังในเฟซบุ๊ก
ภาคตะวันตก เฝ้าระวังในกลุ่มพรีเซนเตอร์ บล็อกเกอร์ คนดัง บุคคลที่มีชื่อเสียง แพทย์ เภสัชกรขายหรือโฆษณา ที่มียอดผู้ติดตามไม่ต่ำกว่า 10,000 คน โดยแบ่งดูตามสื่อต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์ อินตราแกรม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์
นายศตคุณ คนไว สมาคมผู้บริโภคจ.ขอนเเก่น กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภูมิภาค 34 จังหวัด พบมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพเข้าข่ายผิดกฎหมาย 753 โฆษณา เเบ่งเป็น ในเฟซบุ๊กมี 240 โฆษณา อินสตราเเกรม 348 โฆษณา ไลน์ 80 โฆษณา เเละห้างออนไลน์ 85 โฆษณา ซึ่งเมื่อร้องเรียนไปในระดับจังหวัด คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) มีอำนาจเฉพาะการกระทำผิดในจังหวัด เช่น โฆษณาผ่านสถานีวิทยุ เเต่การเฝ้าระวังสื่อออนไลน์ไม่มีอำนาจ ดังนั้น อยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารเเละยา (อย.) กระจายอำนาจไปให้สสจ. เพื่อเปรียบเทียบปรับในระดับจังหวัดได้ เพราะหากให้อย.ดำเนินการเองทั้งหมด 77 จังหวัด จะสร้างปัญหาการดำเนินการในทางกฎหมายได้
ด้านน.ส.สถาพร อารักษ์วทนะ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการเฝ้าระวังพบว่า มี 29 ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ อย. เคยประกาศเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารประกอบอันตราย แต่ยังมีการวางจำหน่ายในเฟซบุ๊ก อินตราแกรม ไลน์ และร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.เค-ฮาโก้ 2.เมอคิโอ้ 3.ไวทัล ฮาร์โก 4.สเตย์ ไฟเบอร์ เอ 5.ลีน เอฟเอส-ทรี Lyn FS -Three (Dietary Supplement Product by Pim) 6.ลีน บล็อค เบิร์น เบรค บิวท์ Lyn Block Burn Break Build (Dietary Supplement Product by Pim) 7.คอนนิจิ-ไซล บีน 8. ซาซันซ่า 9.ไรเนอร์ ลูกสำรอง 10.L-Fin by LUK-SAM-RONG แอล-ฟิน by ลูกสำรอง 11.แกลโล (Kallow) 12.นูวิตร้า (Nuvitra) 13.คอลวีว่า 14.S-SECRET 15.BOXY INDELAR 16.The eight 17.วี-รัส สูตร V-RAS 18.วี-รัส สูตร SD 19. เซเว่น เดย์ เซเว่น ดี 20.White&Slim L -Glutathione+L-Carnitine สูตรเร่งรัดพิเศษ Berry Mix 21.กระทิงทอง BULLGOLD By Magic For Men 22.Reshapes New 23.L-Carnitine Plus+สูตรเร่งรัดเห็นผลใน 7 วัน 24.LIPO 9 BURN SLIM 25.LIPO 8 BURN SLIM HOT 26. SLIM Express ผอมขั้นเทพ 27.บาชิ ควิกสลิมมิ่ง 28.Ishou FULING RUAN JIAONANG 29.Li DA WEIGHT LOSS CAPSULE
“เรียกร้องไปยังห้างออนไลน์ที่อนุญาตให้ผู้ขายรายย่อยนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายมาจำหน่ายต้องรับผิดชอบ และหามาตรการเยียวยาผู้ซื้อ ส่วนร้านค้ารายย่อย ต้องได้รับบทลงโทษด้วย ทั้งนี้ ห้างออนไลน์จะอ้างไม่ได้ว่า ไม่ทราบว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายผิดกฎหมาย ดังนั้นจึงต้องมีระบบตรวจสอบสินค้าก่อนเพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อ” นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ
นายปิยะพงษ์ ปัญญาดา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ภาคเหนือเฝ้าระวังในอินสตราเเกรม พบมีการโฆษณาอาหารเสริมลดน้ำหนักมากถึงร้อยละ 90 จำนวน 310 ครั้ง จาก 177 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ อย.ประกาศห้ามจำหน่ายมีมากถึง 38 โฆษณา จาก 14 ผลิตภัณฑ์
ขณะที่นายพงษ์ภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวถึงในส่วนการเฝ้าระวังนกลุ่มพรีเซนเตอร์ บล็อกเกอร์ คนดัง บุคคลที่มีชื่อเสียง แพทย์ เภสัชกรขายหรือโฆษณา ที่มียอดผู้ติดตามไม่ต่ำกว่า 10,000 คน พบ 74 ผลิตภัณฑ์ มีการโฆษณาเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยมีดาราเป็นผู้โฆษณา 59 ราย เน็ตไอดอล 10 ราย นักวิชาการหรือนักวิชาชีพ 2 ราย เเละดาราที่เป็นเจ้าของเเบรนด์ 9 ราย
สุดท้าย ภญ.ชโลม เกตุจินดา อุปนายกสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อเรียกร้อง ขอให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กำกับดูแลให้มีการแสดงข้อมูลผู้จดทะเบียนขายสินค้าออนไลน์ โดยแสดงเป็นตราสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคทราบ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้จำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างเคร่งครัด โดยให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้มีการรับจดทะเบียน โดยไม่มีทุนขั้นต่ำ และรัฐต้องสร้างมาตรการเก็บภาษีขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงกรณีที่มีการร้องเรียนปัญหาผ่านช่องทางออนไลน์ อย.ต้องใช้ระบบระงับข้อพิพาททางออนไลน์ ให้เสร็จในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องเดินทางและช่วยลดค่าใช้จ่าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/