คนรุ่นใหม่ 7 ล้านคน ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน นักวิชาการ คาดอาจเกิด “สวิงโหวต” -พร้อมจะย้ายฝั่ง
นักวิชาการสื่อชี้โซเซียลมีเดียมีคาเเรกเตอร์เฉพาะ หยุดไม่ได้ เชื่อเป็นประโยชน์รับข้อมูล ก่อนเลือกตั้ง ขณะที่เเนวโน้มผล อาจเกิด 'สวิงโหวต' เหตุคนรุ่นใหม่ยังไม่ตัดสินใจ ด้านผู้จัดรายการ 'วิญญู' เผยสังคมออนไลน์ สร้างความกลัวให้กลุ่มอำนาจเดิม ที่คุ้นเคยใช้ทรัพยากรจากภาษี ปชช. เพื่อประโยชน์ตนเอง
วันที่ 25 ก.พ. 2562 สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง เลือกตั้ง 4.0 โซเซียลมีเดีย กับการเมืองไทย ณ ห้องประชุมจุมภฎ -พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้หยุดสังคมออนไลน์ไม่ได้แล้ว อย่าง “คนรุ่นใหม่” ที่ใช้สื่อโซเซียลมีเดียค่อนข้างมาก โดยเฉพาะ “ทวิตเตอร์”
ทั้งนี้ พบว่า มีคนรุ่นใหม่ประมาณ 7 ล้านคน ไม่เคยผ่านการเลือกตั้งมาก่อน ซึ่งจากการวิเคราะห์ร่วมกันกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเกิด “สวิงโหวต” หรือพร้อมจะย้ายฝั่ง เนื่องจากคนในกลุ่มนี้ยังไม่ตัดสินใจว่า จะเลือกใคร
“โซเซียลมีเดียยังทำให้เกิดการปะทะระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ โดยรุ่นเก่ารู้สึกว่า เหตุใดเด็กรุ่นใหม่จึงมีหัวก้าวหน้า รุนแรง ขณะที่รุ่นใหม่ รู้สึกเก็บกดมานาน ขอให้ฟังเสียงกันบ้าง แต่ท้ายที่สุด สื่อโซเซียลมีคาแรกเตอร์เฉพาะ ซึ่งคงหยุดไม่ได้ และคงต้องต้อนรับให้เป็นประโยชน์กับผู้เลือกตั้งมากที่สุดในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อตัดสินใจกับการเลือกตั้ง” นักวิชาการนิเทศศาสตร์ กล่าว
ด้านนายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ สื่อมวลชนและผู้จัดรายการ กล่าวว่า โซเซียลมีเดียเป็นนวัตกรรมเข้ามาทำให้เกิดความ disrupt วิธีการสื่อสารแบบเดิม ๆ ของรัฐกับประชาชน โดยเฉพาะยุคสมัยรัฐบาล คสช. แสดงให้เห็นชัดมากว่า โซเซียลมีเดีย สร้างความกลัวในฝั่งของกลุ่มอำนาจเดิมเชิงคนที่คุ้นเคยกับการใช้ทรัพยากรของประเทศจากภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์ของตนเองมากกว่า
“ยุคนี้เห็นชัดมาก นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังใช้สื่อต่าง ๆ จัดรายการทุกวันศุกร์ ออกหนังสือ และยังใช้โซเซียลมีเดีย เพื่อเข้ามาประชาสัมพันธ์ผลงานของตนเอง ถามว่าคืออะไร ดังนั้นยิ่งเห็นได้ชัดว่า มีความกลัวกับการเปลี่ยนแปลงนี้”
นายวิญญู กล่าวต่อว่า โซเซียลมีเดียเป็นช่องทางในการสะท้อนให้เห็นมุมมองของประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ผ่านมา สื่อเป็นเพียงช่องทางเดียวส่งข้อมูลออกไป แล้วให้ประชาชนฟัง สมัยก่อนยึดอำนาจหรือเหตุการณ์เดือนตุลา ช่องทางเดียวที่ประชาชนนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ฟัง คือ สถานีวิทยุต่าง ๆ คนจึงรับข้อมูลได้น้อย แต่สมัยนี้การยึดอำนาจสองครั้งล่าสุดที่ผ่านมา โซเซียลมีเดียส่งผลมากในการกระจายข้อมูลข่าวสารออกไป
“ข่าวปลอม หรือการส่งออก Hate Speech (วาจาสร้างความเกลียดชัง) รู้สึกว่า คนรุ่นใหม่มีความเคยชินกับการโตขึ้นมา แล้วใช้อุปกรณ์โมบายและแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ จนมีความคุ้นเคย เหมือนเป็นธรรมชาติ เมื่อเห็นข่าวทำให้รู้สึกลึก ๆ ว่าจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ไม่อยากหน้าแตก แต่หลายครั้งแชร์ข้อมูลไม่จริง มักอยู่กลุ่มคนรุ่นเก่ามากกว่า ไม่ใช่คนรุ่นใหม่” นายวิญญู กล่าว
ขณะที่ ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการหาเสียงเลือกตั้งบนโซเซียลมีเดีย พบมีการบริหารจัดการภาพลักษณ์ของตนเอง เพื่ออยากให้คนมองในแง่ดี เเละให้เชื่อว่าสามารถทำได้ตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้า การพูดคุย เเละกิจกรรมเข้าร่วมในระหว่างหาเสียง .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/