20 ปี มลพิษโรงงานยังวิกฤติ-ผู้ป่วยอื้อ ชาวบ้านจี้รัฐตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
นักวิชาการเผย 20 ปี มลพิษอุตสาหกรรมไทยส่อวิกฤติไร้รัฐควบคุม ประธานผู้ป่วยจากการทำงานจี้รัฐบรรจุข้อเรียกร้องปชช. ตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ รองปธ.สภาอุตฯ พร้อมเป็นคนกลางเจรจารัฐระงับขยายโรงงาน แนะยึดเศรษฐกิจพอเพียงดำรงชีพ
วันที่ 28 มิ.ย. 55 มูลนิธิบูรณะนิเวศ, โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม. เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม. ศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดเสวนา “20 ปี มลพิษอุตสาหกรรมไทย : ปัญหาและการจัดการ ณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล คณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปกร กล่าวว่า กากของเสียจากแหล่งอุตสาหกรรมที่สะสมมานานหลายสิบปีทำให้ตรวจพบเจอสารก่อมะเร็งในร่างกายของชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก ซึ่งมีสาเหตุมาจากหน่วยงานภาครัฐเอาใจกลุ่มทุนมากกว่าการเคารพสิทธิชุมชน โดยปัญหาเหล่านี้ไม่ได้พบเพียงในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเท่านั้น หากแต่กระจายยังพื้นที่อื่น เช่น อ.วังจันทร์ บ้านค่าย แกลง ล้วนแต่เป็นแหล่งโครงการอุตสาหกรรมสกปรก แม้ชาวบ้านจะพยายามสร้างผังชุมชนกำหนดพื้นที่ก็ไม่เป็นผล
รศ.ดร.เรณู กล่าวต่อว่า หากดูในเว็บไซค์สำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าแต่ละปีมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ของโรงงานประมาณ 2000 แห่ง ร่วมถึงมีสถิติโครงการอุตสาหกรรมของรัฐและรัฐร่วมเอกชนที่ไม่ทำตามมาตรการป้องกันมลพิษกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงจำเป็นต้องกลับมาควบคุมแหล่งอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ต้องอยู่ในพื้นที่เหมาะสมและมีการบริหารจัดการระบบที่ดี
ด้านนางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยโรคจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมจนไม่ใส่ใจต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นกับคนในชุมชน และมีแนวโน้มจะขยายพื้นที่ต่อไป จึงมองว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐพ่ายแพ้ต่ออำนาจเงินของนายทุน ทั้งที่ควรหาวิธีเยียวยา เพราะสถานการณ์ของผู้ป่วยจากการทำงานเริ่มมีมากขึ้น และหากอีก 2 ปีข้างหน้าเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปัญหาดังกล่าวจะรุนแรงอีก เพราะไทยยังไม่มีองค์กรดูแล จึงจำเป็นต้องเร่งรัดให้รัฐบาลจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน แม้จะมีการยกร่างฯ แต่ยังไม่มีการบรรจุข้อเรียกร้องของประชาชน เพราะรัฐบาลต้องการให้องค์กรดังกล่าวเป็นศูนย์วิชาการเท่านั้น และมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของคนจน
“หน่วยงานภาครัฐทำงานด้านวิชาการมานานแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรดีขึ้น จึงจำเป็นต้องเปิดทางให้กับแนวคิดของประชาชนบ้าง อีกทั้งนโยบายผลิตแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์ไม่คืบหน้า ทำให้ขณะนี้มีแพทย์ตรงสาขาประจำอยู่ที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 3 คนเท่านั้น” ประธานสภาเครือข่ายฯ กล่าว
นายสุรชัย ตรงงาม ประธาน โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงคดีมลพิษและกระบวนการยุติธรรมไทยตลอด 20 ปีผ่านมาว่า ตั้งแต่ปี 35 ประเทศไทยมีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมและจัดการมลพิษมากมาย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แต่กลับเกิดปัญหาหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลไม่บังคับใช้กฎหมายทั้งมาตรการป้องกัน การเยียวยาและการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างจริงจัง หรือแม้แต่มาตรการลงโทษที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดและดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาได้ ประกอบกับกฎหมายให้อำนาจรัฐในการอนุมัติ อนุญาต และควบคุม แต่ไม่ระบุหน้าที่ในการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมและความเสียหายทางสุขภาพใน ม.96 และ 97
ทั้งนี้จึงเสนอแนวทางแก้ไข 8 ข้อ ได้แก่ 1.ให้ปรับปรุงกฎหมายผังเมืองไม่ให้เกิดช่องว่างในการกำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ 2.รัฐต้องปรับปรุงระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพภาพรวม และสร้างหลักเกณฑ์การมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจน 3.รัฐต้องออกกฎหมายหลักเกณฑ์ให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนดำเนินโครงการตามรัฐธรรมนูญ ม. 57 4.รัฐต้องออกกลไกมาตรการทางภาษีสิ่งแวดล้อมและจัดตั้งกองทุนเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 5.จัดตั้งหน่วยงานทางวิชาการอิสระ ช่วยเหลือการศึกษา วิจัย ข้อมูลการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม 6. รัฐต้องกำหนดกลไกตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ก่อมลพิษในสิ่งแวดล้อม 7.ให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้ออำนวยให้การพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และ8.แก้ไขมาตรา 96 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องเสียไปในการแก้ไขปัญหาทางสุขภาพและอุดหนุนงบประมาณแก่องค์กรที่ช่วยเหลือประชาชนตามกฎหมายโดยไม่แสวงหากำไร
ขณะที่นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของเครือข่าย หากแต่ไม่สามารถที่จะสานต่อได้เพียงผู้เดียว แม้ปัจจุบันจะพยายามแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม ดังนั้นขอเป็นคนประสานเร่งรัดให้รัฐบาลจัดทำผังเมืองและควบคุมการขยายพื้นที่เขตอุตสาหกรรม และให้คนไทยหันมายึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวจริงจัง แต่สุดท้ายเชื่อว่าระบบราชการจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุ ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 130,131โรง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 17,701 โรง ภาคกลาง 34,671 โรง ภาคตะวันออก 10,275 โรง ภาคตะวันตก 5,097 โรง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 42,103 โรง ภาคเหนือ 9,416 โรง และภาคใต้ 10,868 โรง.
ดาวน์โหลด