ส.โลกร้อนชี้ใช้กม.ฟ้องยุติแม่วงก์ มูลนิธิสืบฯลุยลาดยาวแจงเหตุค้านเขื่อนเดือนหน้า
เวทีสัมมนามูลนิธิสืบฯร้องรัฐประชาพิจารณ์ทั้งประเทศก่อนสร้างเขื่อนแม่วงก์ เอ็นจีโอตื่นเต้นพบเสือโคร่งแม่ลูกผืนป่าตะวันตก ส.โลกร้อน-สืบฯเดินหน้าใช้กม.ฟ้องยุติโครงการแจงชาวบ้านต้นเดือนก.ค.นี้
วันที่ 28 มิ.ย.55 ที่เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดสัมมนาวิชาการโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยมีองค์กรอนุรักษ์ นักวิชาการชาวบ้าน นักศึกษาเข้าร่วม ซึ่งผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นหลากหลายต่อโครงการดังกล่าวของรัฐบาล โดยส่วนหยิบยกการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ขึ้นมาถกเถียงและได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดย ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวว่า ปัญหาเขื่อนแม่วงก์เรื่องธรรมาภิบาลเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้บริหารประเทศไม่มีธรรมาภิบาลจะก่อปัญหาให้คนรุ่นหลัง อีไอเอที่มีการจัดทำ ไม่มีข้อมูล ไม่ถูกต้อง บิดเบือน ไม่มีส่วนร่วมประชาชนถูกปลุก ปัญหาการตีราคาระบบนิเวศน์ เรื่องเป็นนามธรรมต้องเขียนคำอธิบายชัดเจนในการตัดสินใจว่าคิดอะไร ตัดสินใจอย่างไร การที่จะให้คุณอื่นรู้ต้องอธิบายให้รอบคอบไม่ใช่การใช้อำนาจ สิ่งที่คิดได้ต้องเคลียร์ให้กระชับ ความพยายามที่จะสร้างเขื่อนต้องนำตัวเลขคนที่มีที่ดินมากที่สุดที่อยู่ในบริเวณนั้นเป็นใคร ใครจะได้ประโยชน์จากการเวนคืนที่ดิน รัฐต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึงให้กับคนทั้งประเทศไม่ใช่แค่นครสวรรค์ เพราะเป็นการรุกล้ำที่อุทยานแห่งชาติที่เป็นสมบัติของคนทั้งประเทศการทำประชาพิจารณ์ต้องทำทั้งหมด
“เห็นควรให้ดูบทเรียนเขื่อนต่างๆที่สร้างไปแล้ว ชาวบ้านบางแห่งยังไม่รับความช่วยเหลือแม้เวลาจะผ่านมา 40-50 ปี เช่นเดียวกับเขื่อนสิรินธรก็ยังไม่จบ เขื่อนราษีไศลก็ยังไม่จบ ถ้าจะสร้างความเป็นธรรมในแผ่นดิน ให้หยุดสร้างเขื่อนแล้วไปดูแลชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ไหม ไหนๆจะเป็นรัฐบาลใสสะอาด บ้านเมืองจะเป็นปกติสุขและก้าวไปข้างหน้าได้”
ด้าน นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เขื่อนแม่วงก์เป็นข้อสรุปของการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ทั้งระบบนิเวศน์ ความไม่คุ้มค่าไม่สามารถแก้น้ำท่วม แก้ภัยแล้งได้ตามที่รัฐบาลโฆษณา ช่องทางการเคลื่อนไหวคัดค้านจะใช้ขั้นตอนกฎหมาย มุ่งเป้าไปที่กรมอุทยานฯไม่ให้มีการอนุมัติพื้นที่ และใช้ช่องทางเปิดเวทีพูดคุยกับกรมชลฯในอีกเร็วๆนี้ รวมทั้งหาช่องทางอื่นๆเพื่อให้มีการยกเลิกโครงการ ซึ่งมูลนิธิสืบฯจะรับเป็นเจ้าภาพ ประสานกับองค์กรต่างๆในการจัดทำเอกสาร ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องว่าทำไมต้องค้านเขื่อนแม่วงก์ เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายชาวบ้านในพื้นที่
“หากไม่ดำเนินการใดๆ แน่นอนว่าการทำลายป่า จะซ้ำรอยกับเขื่อนเชี่ยวหลานและเขื่อนอื่นๆ ซึ่งในเดือนก.ค.ทีมงานมูลนิธิสืบฯจะจัดประชุมที่อำเภอลาดยาวนครสวรรค์ เพื่อสื่อสารกับชาวบ้าน โดยการให้ข้อมูลกับชาวบ้าน และจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นคัดค้านต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาล”
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า โครงการของรัฐจะนำมาซึ่งความเสียหายทุกด้าน ความเป็นจริงทรัพยากรประเทศลดน้อยลงทำให้มีปัญหาประเทศมากขึ้น สิ่งที่รัฐกล่าวอ้างแก้ปัญหาน้ำท่วมหลายคนไม่เห็นด้วย ที่สำคัญคนที่มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมการทำอีไอเอไม่ผ่านมาทุกรัฐบาล คราวนี้กรมชลฯกำลังดื้อดึง แม้กระแสอนุรักษ์จะกระจายไปทั่วโลก แต่กรมชลยังดันทุรัง มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมายตามรัฐธรรมนูญซึ่ง เขื่อนขนาดใหญ่เข้าข่ายรุนแรงต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง รวมทั้งพ.ร.บ.อุทยานฯก็เขียนไว้ชัดเจนว่าจะทำอะไรต้องขออนุญาตเสียก่อน ฉะนั้นอีไอเอที่ทำจึงเป็นอีไอเอที่เป็นเท็จ
“เครือข่ายสมาคมฯจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยต้นเดือนหน้าจะเริ่มดำเนินการฟ้องร้องในเรื่องการผิดขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือหน่วยงานอื่นยังให้ความเห็นชอบผ่านอีไอเอก็จะดำเนินการฟ้องร้องทั้งหมด เพราะรายงานฉบับนี้ใช้ไม่ได้ เป็นการบิดเบือนข้อมูลในการทำลายทรัพยากรของโลก ซึ่งจะไม่ยอมให้มีการหากินกับทรัพยากรของชาติอีกต่อไป”
อย่างไรก็ตามจากเวทีสัมมนาทางวิชาการดังกล่าวมีการนำเสนองานวิจัยพื้นที่การอยู่อาศัยของประชากรเสือโคร่งที่ ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าสากล(WCS) ประเทศไทย ระบุว่า ในพื้นที่ป่าแม่วงก์ใกล้จุดที่จะมีการสร้างเขื่อน พบแหล่งหญ้าที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์จำนวนมหาศาล เป็นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งที่ทั่วโลกเหลือเพียง 3,500 ตัวในผืนป่าตะวันตกของไทยเหลืออยู่ประมาณ 200 ตัว ซึ่งที่ผ่านมาไทยเคยเป็นเจ้าภาพประชุมเรื่องเสือโคร่ง มีการร่วมทำแผนกับองค์กรต่างประเทศ ในปี 2565 จะทำให้มีการเพิ่มประชากรเสือโคร่ง 50 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งไทยยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตัวอย่างการจัดการในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ดร.รุ้งนภา พูลจำปา ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งอุทยานแห่งชาติแม่วงศ์-คลองลาน กองทุนสัตว์ป่าสากล(WWF) ประเทศไทย กล่าวว่า เสือโคร่งเป็นตัวที่จะรักษาสมดุลระบบนิเวศน์ พื้นที่ไหนที่มีเสืออยู่อาศัยจะชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ ที่ผ่านมามีการทำวิจัยจำนวนประชากรเสือในผืนป่าที่ติดทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งเนื่องจากทำได้สะดวกเพราะไม่มีชุมชนอาศัย ง่ายต่อการจัดการ มีการลาดตระเวน สร้างจิตสำนึก การวัดประชากรเสือโคร่งใช้กล้องแบบสากล ซึ่งทำทั้งแม่วงก์ คลองลาน ทำเสร็จแล้ว 2 พื้นที่เหลือที่คลองลาน
“เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เมืองไทยมีประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่สามารถจับภาพเสือแม่ลูกได้ในป่าแม่วงก์ การที่สามารถออกลูกได้แสดงถึงอาหารอุดมสมบูรณ์ หากมีการสร้างเขื่อน เป็นที่น่าเสียดายที่จะเกิดการคุกคามสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากโลก นั่นยังไม่นับการพบการกระจายของประชากรเสือดาว กระทิง กวาง เก้ง เสือลายเมฆ สมเสร็จ เก้งหม้อ เลียงผา หมาไม้ หมี ลิง ชะมด อีเห็นรวมทั้งสัตว์ใหญ่ชนิดอื่นๆด้วย” ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูเสือโคร่งฯ กล่าว
ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อปีพ.ศ.2525 สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้บรรจุโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสะแกกรังไว้ในแผนพัฒน์ฯฉบับที่ 5(พ.ศ.2525-2529)โดยกรมชลประทานสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการฯสรุปได้ว่า โครงการเขื่อนแม่วงก์เป็นโครงการที่มีศักยภาพอันดับหนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนเมษายน 2555 เห็นชอบในหลักการในการดำเนินงานโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์