'อดิศร์' ชงเก็บภาษีตามค่าฝุ่นจากเครื่องยนต์คนรายได้ปานกลาง-สูง เเก้ PM2.5
เเก้ฝุ่น PM2.5 'อดิศร์ อิศรางกุร ณ อยุธยา' ชงวิธีเก็บภาษีเครื่องยนต์จากคนรายได้ปานกลาง-สูง หนุนใช้พลังงานสะอาด 'น้ำมันยูโร 5' รัฐมนตรี คลัง-พลังงาน-มหาดไทย ต้องผลักดันมาตรการภาษีสีเขียว
วันที่ 22 ก.พ. 2562 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง “สภาพเทคโนโลยีและแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” และนิทรรศการเทคโนโลยีในการตรวจวัดและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ณ โรงแรม พูลแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ)
ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ด้านการวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงแนวคิดและแนวทางทางเศรษฐศาสตร์ในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น ว่าคนที่รายได้ปานกลาง-สูง ควรมีมาตรการภาษีตามค่าฝุ่นจากเครื่องยนต์ ประกอบด้วย ภาษีประจำปีรถยนต์ตามการปล่อยมลพิษ ภาษีน้ำมันตามค่าการปล่อยมลพิษ โดยปัจจุบันการเก็บภาษีป้ายวงกลมไม่ได้เก็บค่าฝุ่นละอองที่ปลายท่อ จึงเสนอให้รถที่ปล่อยควันพิษออกมามากต้องจ่ายแพงขึ้น ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถของกองทัพหรือหน่วยงานราชการที่ควรจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน
ขณะที่ภาษีน้ำมันจะต้องหลีกเลี่ยงน้ำมันที่สกปรก ออกแบบจูงใจให้คนหันไปใช้พลังงานสะอาดอย่างน้ำมันยูโร 5 น้ำมันไร้สารราคาถูก โดยรัฐมนตรีสามกระทรวง คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และกระทรวงมหาดไทย จะต้องหารือกันเพื่อให้เกิดการใช้มาตรการภาษีเขียว
นอกจากนี้ยังต้องมีภาษีสรรพสามิตรถพลังงานไฟฟ้า และภาษีศุลกากรรถพลังงานไฟฟ้า ที่ปรึกษาด้านการวิจัยทรัพยากรฯ ระบุเพื่อส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาด รวมถึงค่าเข้าเมือง ขนส่งสาธารณะ และ CCTV เพื่อลดปริมาณรถที่เข้าเขตเมืองได้ ซึ่งกรมภาษีสรรพสามิตขยับแล้ว แต่กรมการขนส่งทางบกยังไม่ขยับ
ส่วนฝุ่นจากภาคเกษตรนั้นควรมีการรับรองที่มาของวัตถุดิบทางการเกษตร ปฏิเสธการรับซื้อจากผู้ประกอบการที่ปลูกข้าวโพดในเขตป่าสงวน หรือผลิตอ้อยจากไร่ที่มีการเผา สำหรับผู้มีรายได้น้อยต้องมีเงินช่วยเหลือและการอุดหนุนไขว้ รถไฟฟ้าควรได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
ขณะที่ภาคเกษตรควรมีเงินกู้เครื่องจักร รถตัดอ้อยดอกเบี้ยต่ำ และระบบการจัดการของเหลือใช้ มีมาตรการจูงใจให้เกิดการนำของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรมาผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ควรจะต้องเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเพิกถอนใบอนุญาตผู้ละเมิดกฎได้เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นจริงจัง
ดร.อดิศร์ กล่าวต่อว่า การกระจายอำนาจเพื่อตรวจจับที่มีประสิทธิภาพ การตรวจจับต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยกระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.)ในการตรวจจับรถควันดำ การเผาในที่แจ้ง กระจายอำนาจการลงโทษผู้ประกอบการ (และโครงสร้าง EIA) ให้ควบคุมมลพิษ ให้สัมปทานเอกชนในการควบคุมการจอดรถ การออกใบสั่งและแบ่งรายได้เข้ารัฐ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/