ทหารกับการเมืองและงบประมาณของกองทัพ
การโต้ตอบของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะเข้าข่ายข้อห้ามนี้หรือไม่อย่างไรโปรดได้พิจารณาวิเคราะห์ดู แต่ขอได้อย่าไปถามพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มีหน้าที่รักษาการข้อบังคับฉบับนี้ เพราะท่านก็ให้นักข่าวไปฟังเพลงนี้เช่นเดียวกันโดยตอบว่า “ให้ไปฟังเพลงที่ ผบ.มทบ. บอกให้ฟัง”
กรณี พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้โต้ตอบคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยที่เสนอนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งโดยจะตัดงบกระทรวงกลาโหมลงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ และยกเลิกการเกณท์ทหาร ที่เป็นนโยบายของหลายพรรคการเมืองในการ หาเสียงขณะนี้ด้วย
โดยพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ โต้ตอบข้อเสนอนี้ในการหาเสียงนี้ว่าให้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” การโต้ตอบของ ผบ.ทบ.คนปัจจุบันนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ติชมถึงความควรไม่ควรจากหลายฝ่าย ทำให้ผู้เขียนต้องไปศึกษา ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกระทรวงกลาโหม กับการเมือง พ.ศ.2499 ที่ตราขึ้นใช้บังคับโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น จึงขอนำข้อบังคับนี้ ที่ยังมีผลใช้บังคับถึงปัจจุบัน เพราะได้มีการแก้ปรับปรุงใหม่มาแล้วถึงสี่ฉบับและตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารข้อบังคับนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายวินัยทหารอันเคร่งครัด ผู้ฝ่าฝืน มีโทษที่เรียกว่า “อาญาทหาร”
จึงขอนำข้อบังคับที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนี้และบ้านเมืองอยู่ในเทศกาลที่กำลังมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มาลงไว้ให้ทราบและตระหนักถึงข้อห้าม ดังนี้
ข้อ 8 กำหนดว่า “ข้าราชการกลาโหมจะต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามดังต่อไปนี้
(9) ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือกระทำกิจการต่างๆ เช่น วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือพรรคการเมือง เพื่อนำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอสภาผู้แทนหรือวุฒิสภาหรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นต้น
(10)ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ผู้ดำรงตำแหน่งใดๆในพรรคการเมืองให้กระทำการดังกล่าวนั้นได้ และในทางกลับกันไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับทม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(11) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการกลาโหม จะต้องไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในทางกลับกัน ต้องไม่กีดกันตำหนิติเตียน ทับทม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
การโต้ตอบของพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ จะเข้าข่ายข้อห้ามนี้หรือไม่อย่างไรโปรดได้พิจารณาวิเคราะห์ดู แต่ขอได้อย่าไปถามพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มีหน้าที่รักษาการข้อบังคับฉบับนี้ เพราะท่านก็ให้นักข่าวไปฟังเพลงนี้เช่นเดียวกันโดยตอบว่า “ให้ไปฟังเพลงที่ ผบ.มทบ. บอกให้ฟัง”
ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นทหารที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุด ท่านคงมองเห็นถึงความเสียหายและผลกระทบถ้าทหารไปเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงได้ออกข้อบังคับกระทรวงกลาโหมฉบับนี้ เมื่อ พ.ศ.2499 แต่จะช้าไปหรืออย่างไรไม่ทราบหรือสืบเนื่องจากข้อบังคับดังกล่าวนี้เอง เพราะเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ภายหลังข้อบังคับนี้ประกาศใช้บังคับได้ไม่กี่เดือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ใต้บังคับบัญชาลูกน้องคนสนิทที่ท่านไว้ใจมากคนหนึ่ง ก็ยึดอำนาจและขับท่านออกนอกประเทศไป และถึงแก่กรรมที่ประเทศญี่ปุ่นผู้เป็นพันธมิตรที่แท้จริงของท่านในสงครามโลกครั้งที่สอง
ภาคผนวก
ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. 2499
เนื่องจากคณะรัฐมนตรีลงมติให้ข้าราชการประจำการมีเสรีภาพทางการเมืองทำนองเดียวกับประชาชนทั่วไป และเปิดโอกาสให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองได้ กระทรวงกลาโหมเห็นควรวางแนวทางการปฏิบัติของข้าราชการกลาโหมที่เกี่ยวกับการเมืองไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงตราข้อบังคับไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. 2499"
ข้อ 2 ให้ใช้ข้อบังคับนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้ยกเลิกข้อบังคับทหารว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างข้าราชการกลาโหมประจำการ กับการเมือง พุทธศักราช 2489 และข้อบังคับทหารว่าด้วยความเกี่ยวข้องระหว่างข้าราชการกลาโหมประจำการกับการเมือง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2489
ข้อ 4 ข้าราชการกลาโหมตามข้อบังคับนี้หมายความว่า
(1) ข้าราชการประจำการในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งทหารและพลเรือน เว้นแต่ข้าราชการประเภทการเมือง
(2) นักเรียนทหาร
(3) ทหารกองประจำการ
(4) ลูกจ้างและคนงานสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งจ้างประจำและจ้างชั่วคราว
ข้อ 5 ข้าราชการกลาโหมผู้ใดได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดๆ ที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายให้รายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ หัวหน้าส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แล้วแต่กรณีเพื่อทราบ
ข้อ 6 ข้าราชการกลาโหมจะเข้าร่วมประชุมอันเป็นการประชุมของพรรคการเมืองเป็นการส่วนตัว ก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมิใช่ในเวลาราชการ
ความในวรรคก่อนไม่ใช้บังคับข้าราชการกลาโหมที่เป็นวุฒิสมาชิก
ข้อ 7 ข้าราชการกลาโหมจะต้องปฎิบัติราชการในหน้าที่ หรือเกี่ยวกับประชาชนด้วยการวางตัวเป็นกลาง โดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องปฎิบัติตามนโยบายของรัฐบาล และไม่กระทำการให้เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง แบบธรรมเนียมของทหาร
ข้อ 8 ข้าราชการกลาโหมจะต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามดังต่อไปนี้
(1) ห้ามมิให้ใช้หรือยอมให้ผู้อื่นใช้เขตสถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง ไม่ว่าด้วยการกระทำหรือวาจา ยกเว้นสโมสรซึ่งมีระเบียบการให้ใช้ในกิจการต่าง ๆ ได้เป็นครั้งคราวโดยเสียค่าบริการ
(2) ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฎแก่ประชาชน
(3) ไม่แต่งเครื่องแบบซึ่งทางราชการกำหนดไว้ร่วมประชุมพรรคการเมือง หรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณะใด ๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง
(4) ไม่ประดับเครื่องหมายของพรรคการเมืองในสถานที่ราชการ หรือในเวลาราชการ หรือในเวลาสวมเครื่องแบบซึ่งทางราชการกำหนดไว้
(5) ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการทุก ๆ แห่ง
(6) ไม่บังคับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนทั้งโดยตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในทางให้คุณหรือโทษเฉพาะเหตุที่ผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรือประชาชนนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
(7) ไม่ทำการขอร้องหรือบังคับให้บุคคลใดอุทิศเงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง
(8) ไม่เขียนจดหมายหรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือหรือใบปลิว ซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชนอันมีข้อความที่เป็นลักษณะของการเมืองและไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมืองหรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใด ๆ ในที่ที่ปรากฏแก่ประชาชน
(9) ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือกระทำกิจการต่าง ๆ อาทิเช่น วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนหรือสมาชิกวุฒิสภาหรือพรรคการเมือง เพื่อนำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอสภาผู้แทนหรือวุฒิสภา หรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นต้น
(10) ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เว้นแต่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองให้กระทำการดังกล่าวเช่นนั้นได้ และในทางกลับกันไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
(11) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิสภาผู้แทนราษฎรไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนันสนุน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในทางกลับกัน ไม่กีดกันตำหนิติเตียน ทับทม หรือให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง
ประกาศ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2499
(ลงชื่อ)
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม