พบ2เจ้าหนี้เอิร์ธฯ ก.ล.ต.สอบหนี้เทียม 2.3 หมื่นล.!แจ้งเลิกกิจการแล้ว-โชว์รายได้หลักพัน
"...ก.ล.ต.ระบุพฤติการณ์ว่า อดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ แกล้งให้ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เป็นหนี้ เพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยมูลหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง จากการที่เจ้าหนี้คู่ค้าหลายรายเรียกร้องค่าเสียหายและค่าเสียโอกาส รวมทั้งฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งกับ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ในมูลหนี้ที่สูงเกินความเป็นจริงมากโดยไม่สมเหตุสมผล เพื่อให้บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ อยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นหลายรายมีความเห็นหรืออยู่ในวิสัยที่ทราบว่าหนี้ดังกล่าวไม่สามารถบันทึกบัญชีเป็นหนี้สินในงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีกำหนดได้ รวมทั้งยังพบหลักฐานการนำทรัพย์สินของ EARTH ออกจากบริษัท เพื่อให้เจ้าหนี้นำไปใช้ในการดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ การกระทำดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำการไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้..."
สืบเนื่องจากปรากฎข่าวว่า ในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษผู้บริหารบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) และบริษัทเอกชนภายนอก รวมจำนวน 17 ราย กรณีร่วมกันสร้างหนี้เทียม จำนวน 26,000 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
โดยปรากฎชื่อกรรมการและผู้บริหารหลักของบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) จำนวน 7 ราย ประกอบด้วย (1) นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ (2) นายขจรพงศ์ คำดี (3) นายธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ (4) นายพิรุฬห์ พิหเคนทร์ (5) นายพิพรรธ พิหเคนทร์ (6) นายพิบูล พิหเคนทร์ (7) นางสาวกาญจนา จักรวิจิตโสภณ
ส่วนกลุ่มเจ้าหนี้และผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้ 10 ราย ได้แก่ (8) บริษัท เทียนจิน โบไท จงซิง เทรดดิ้ง จำกัด (9) บริษัท เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง จำกัด (10) นายหลิน ตง ไห่ (11) บริษัท อมาเซน พีทีอี จำกัด (12) บริษัท มาร์โค โปโล เวนเจอร์ จำกัด (13) บริษัท นโปเลียน โลจิสติกส์ จำกัด (14) นายเรืองยศ มหาวรมากร (15) นายสามารถ สุวัชรชัย (16) นางสาวณัฎฐา แซ่ลี้ และ (17) นายอำนาจ ตันกุริมาน (ดูข้อมูลประกอบhttp://capital.sec.or.th/webapp/webnews/printnews.php?preview=Y&cboType=S&lang=th&news_id=&news_yy=2561&news_no=147&sdate=&edate=)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เทียนจิน โบไท จงซิง เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง จำกัด พบว่า มีผู้ถือหุ้นใหญ่คนเดียวกัน และปัจจุบันจดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท เทียนจิน โบไท จงซิง เทรดดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 25/10 ซอยสันติสุข แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจขายปลีกก๊าชและเชื้อเพลิง
ปรากฎชื่อ น.ส. ณัฎฐา แซ่ลี้ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 28 ธันวาคม 2561 น.ส. ณัฎฐา แซ่ลี้ ถือหุ้นใหญ่สุด 99.98% หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นาง ณัฐริกา เผ่าใจมา นาง รุ่งทิวา แซ่ลี้
นำส่งข้อมูลงบการเงิน ล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 1,991 บาท รวมรายจ่าย 19,800 บาท ขาดทุนสุทธิ 17,809 บาท
ปัจจุบัน ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562
ส่วน บริษัท เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ทุน 2 ล้าน ตั้งอยู่เลขที่ 10/845 ซอยรามอินทรา 8 แยก 20 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจ ขายปลีกก๊าชและเชื้อเพลิง
ปรากฎชื่อ น.ส. ณัฎฐา แซ่ลี้ และ นาย หลิน ตง ไห่ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 28 ธันวาคม 2561 น.ส. ณัฎฐา แซ่ลี้ ถือหุ้นใหญ่สุด 99.99% หุ้นที่เหลืออยู่ในชื่อ นาง ณัฐริกา เผ่าใจมา นาง รุ่งทิวา แซ่ลี้
นำส่งข้อมูลงบการเงินล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2560 แจ้งว่า มีรายได้รวม 3,982.19 บาท รวมรายจ่าย 25,300 บาท ขาดทุนสุทธิ 21,317.81 บาท
ปัจจุบันได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 เช่นกัน
จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า บริษัททั้ง 2 แห่ง น.ส. ณัฎฐา แซ่ลี้ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจและถือหุ้นใหญ่สุด จดทะเบียนตั้งวันเดียวกัน 10 พฤศจิกายน 2560 ทำธุรกิจขายปลีกก๊าชและเชื้อเพลิงเหมือนกัน
ขณะที่เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2561 บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงสถานะของคดีความที่เกี่ยวข้องกับคู่สัญญาทางการค้า จำนวน 9 ราย ซึ่งมีชื่อ บริษัท เทียนจิน โบไท จงซิง เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง จำกัด รวมอยู่ด้วย
โดย บริษัท เทียนจิน โบไท จงซิง เทรดดิ้ง จำกัด ฟ้อง บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เป็นจำนวนเงิน 12,600 ล้านบาท ส่วน บริษัท เจียงซู กวางรัน เทรดดิ้ง จำกัด ฟ้องบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เป็นจำนวนเงิน 11,200 ล้านบาท
รวมวงเงินทั้ง 2 คดีอยู่ที่ 23,800 ล้านบาท และได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยตกลงถอนฟ้องคดีไปแล้ว เป็นผลทำให้บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด (ดูหนังสือประกอบ ที่นี้ file:///C:/Users/User/Downloads/18110515%20(1).pdf)
อย่างไรก็ดี ในการกล่าวโทษผู้บริหารบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) และบริษัทเอกชนภายนอก รวมจำนวน 17 ราย ต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นั้น ก.ล.ต.ระบุพฤติการณ์ว่า อดีตกรรมการและผู้บริหารของบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ แกล้งให้ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เป็นหนี้ เพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยอาศัยมูลหนี้ซึ่งไม่เป็นความจริง จากการที่เจ้าหนี้คู่ค้าหลายรายเรียกร้องค่าเสียหายและค่าเสียโอกาส รวมทั้งฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่งกับ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ในมูลหนี้ที่สูงเกินความเป็นจริงมากโดยไม่สมเหตุสมผล เพื่อให้บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ อยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นหลายรายมีความเห็นหรืออยู่ในวิสัยที่ทราบว่าหนี้ดังกล่าวไม่สามารถบันทึกบัญชีเป็นหนี้สินในงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีกำหนดได้ รวมทั้งยังพบหลักฐานการนำทรัพย์สินของ EARTH ออกจากบริษัท เพื่อให้เจ้าหนี้นำไปใช้ในการดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ การกระทำดังกล่าว จึงเข้าข่ายเป็นความผิดฐานกระทำการไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
ขณะที่ ในช่วงเวลาดังกล่าวบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ กับเจ้าหนี้บางรายได้ร่วมกันทำธุรกรรมต่าง ๆ หลายรายการ ซึ่งมีผลเป็นการนำทรัพย์สินออกจาก บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการดำเนินการปกติ ไม่มีความสมเหตุสมผล และเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าหนี้บางรายเป็นกรณีพิเศษ การกระทำดังกล่าว เข้าข่ายเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เพื่อประโยชน์ของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ทำให้บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ เสียหาย
ทั้งนี้ การกระทำตามรายละเอียดข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 308 มาตรา 310 และมาตรา 311 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 17 รายข้างต้นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป และการถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตามประกาศ ก.ล.ต. จึงไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี
ในการนี้ ผู้ถือหุ้นและ/หรือเจ้าหนี้ของ บริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำข้างต้นสามารถเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะผู้เสียหายโดยตรง เพื่อรักษาประโยชน์ของตัวท่านและของบริษัทต่อไปด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ:
เบื้องลึก! 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน ซีไอเอ็มบี 2 ด. สู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ-ตอนนี้มีอะไรในมือบ้าง?
ซีไอเอ็มบี แจ้งตลาดฯ 'กิตติพันธ์' ขอพักงาน 2 ด. ไปต่อสู้ข้อกล่าวหาปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ : ศักดิ์ศรีจรรยาบรรณวิชาชีพนายธนาคาร กับ กรณีปล่อยกู้เอิร์ธฯ
กรุงไทย ยันไม่เคยหารือเอิร์ธฯออกมติเชิญเป็นกก.ย้ำสถานะผู้เสียหายฟ้องแพ่ง-อาญา
ก.ล.ต. กล่าวโทษ ก.ก. EARTH 11 ราย ยินยอมให้ลงข้อความเท็จหนี้เพิ่ม2.6หมื่นล้าน
ตั้ง บ.อีวายฯ ทำแผน! ศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ‘เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ’-หลังปมหนี้ 2.6 หมื่นล.
ถ้าผิดจริงคุก240ปี! กรุงไทยเตรียมแจ้งดีเอสไอเพิ่ม-พบปลอมใบขนถ่านหิน80ฉบับเกือบหมื่นล.
ใช้1.5หมื่นล.แลกเหมืองถ่านหิน! เปิดรายงานตรวจสอบบ.เอิร์ธฯ สัญญาซื้อ3หมื่นล.ล่องหน
แนะกสิกรไทย-กรุงศรี-ธสน.ตรวจสอบใบขนถ่านหิน 'เอิร์ธ' หวั่นเจอเหมือนกรุงไทย!
ฉ้อโกงกรุงไทยหลายพันล.ปลอมใบขนถ่านหิน บ.เอิร์ธกู้เงิน-แจ้งดีเอสไอลุยสอบ