อานันท์ ปันยารชุนกับการสร้างประเทศไทยให้ทันสมัย
"...ความเป็นนักเสรีประชาธิปไตยที่อยู่กับสภาพจริงนิยมเชิงประจักษ์มีผลทำให้นายอานันท์ฯ ไม่มองว่าทุกประเทศมีพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจเหมือนกันหมด ไม่มองว่าประชาธิปไตยเป็นสูตรสำเร็จรูป ไม่มองว่าประชาธิปไตยเป็นสมบัติผูกขาดของกลุ่มประเทศตะวันตก ตลอดจนไม่มองว่า ประชาธิปไตยที่ออกแบบโดยฝ่ายตะวันตกเท่านั้น จึงถือว่าเป็นประชาธิปไตย แต่มองว่าประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากล ทุกประเทศมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะพัฒนาระบบประชาธิปไตยของประเทศตนให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ตลอดจนไม่มองว่าระบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ยัดเยียดให้กันและกันได้..."
ภาพประกอบจาก The Momentum
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีการเปิดตัวหนังสือ Anand Panyarachun and the Making of Modern Thailand หรืออานันท์ ปันยารชุนกับการสร้างประเทศไทยให้ทันสมัย เขียนโดย Dominic Faulder
หนังสือภาษาอังกฤษเล่มนี้ เป็นชีวประวัติที่ผู้เขียน นาย Dominic Faulder ได้รับความยินยอมจากนายอานันท์ฯ ก่อนหน้านี้มีหนังสือเกี่ยวกับชีวิต ความคิด และการงานของอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เรียบเรียงโดยประสาร มฤคพิทักษ์และคณะ จัดทำโดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ (พ.ศ. 2541) หนังสือชีวประวัติทั้งสองเล่มมีเค้าโครงคล้ายกัน เพียงแต่ในเล่มภาษาอังกฤษมีการสัมภาษณ์นายอานันท์ฯ และบุคคลต่าง ๆ ทั้งที่เคยร่วมงานโดยตรงกับนายอานันท์ฯ และที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับนายอานันท์ฯ เป็นการส่วนตัว
กล่าวโดยภาพรวมได้ว่าหนังสือชีวประวัติของนายอานันท์ฯ เล่มภาษาอังกฤษดังกล่าว ทำให้ผู้อ่านได้รู้ทุกแง่มุมของชีวิตของนายอานันท์ฯ ในฐานะนักการทูต ข้าราชการ นักธุรกิจ และนายกรัฐมนตรีที่ผ่านสังเวียนชีวิตมาอย่างโชกโชน และเช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ทุกคน นายอานันท์ฯ ย่อมเป็นผลผลิตของสภาพการณ์แวดล้อมของสังคมไทยในแต่ละบริบทแต่ละห้วงเวลาและได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกความคิด และจิตใจ ทำให้นายอานันท์ฯ เป็นคนที่ซื่อสัตย์ มีหลักการ มีความมุ่งมั่น เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ตรงไปตรงมา กล้าตัดสินใจ ยืดหยัดอยู่บนความถูกต้องและความเป็นจริง พร้อมที่จะประนีประนอมหากจำเป็นบนพื้นฐานของการมีหลักการของความถูกต้องชอบธรรม ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่ทยอยสะสมมาอย่างลึกซึ้งและหลากหลายมาใช้อย่างเหมาะสมตามกาลเทศะในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ โดยไม่ปล่อยให้โอกาสที่จะทำคุณประโยชน์ หรือแทนคุณแผ่นดินให้หลุดลอยไป โดยไม่หวั่นเกรงว่าหากกระทำสิ่งใดแล้ว อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนนำไปสู่ความล้มเหลว ดังคำให้สัมภาษณ์ของนายอานันท์ฯ ในหนังสือชีวประวัติของเขาเล่มภาษาอังกฤษ ในประเด็นนี้ว่า
“Never be afraid to apologize, never be afraid to admit mistakes and never be afraid to make mistakes either”. (Anand Panyarachun, หน้า 193) ความหมายก็คือ คนเราหากกระทำความผิดแล้ว ต้องไม่กลัวที่จะกล่าวขอโทษ ต้องไม่กลัวที่จะยอมรับผิด รวมทั้งไม่กลัวที่จะพลาด
อานันท์ ปันยารชุน เป็นผู้นำที่คิดถึงประเทศชาติและผลประโยชน์ของส่วนรวมเหนือส่วนตน ดังประจักษ์ชัดที่เขาพยายามใช้เครือข่ายของผู้คนที่เขารู้จักมักคุ้นสนิทสนมเป็นอย่างดีในสหรัฐฯ ให้มาช่วยผ่อนเบาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่ประเทศและคนไทยประสบชะตากรรมอย่างหนักหน่วง นายอานันท์ฯ เป็นคนที่ยึดถือในความจริงโดยเชื่อมั่นว่า ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย การที่นายอานันท์ฯ ยึดประโยชน์ของส่วนรวมเป็นตัวตั้ง ทำให้เขาเป็นคนที่กล้าตัดสินใจในเรื่องที่กระทบส่วนรวมหรือที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
การได้อ่านหนังสือชีวประวัติของนายอานันท์ ปันยารชุน เล่มภาษาอังกฤษดังกล่าว ทำให้เราได้รู้ว่า เขาเป็นช่างสงสัยใคร่รู้โดยไม่ด่วนสรุปหรือเชื่ออะไรง่ายๆ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง กล้าพูดและถกแถลงสิ่งที่อยู่ในใจที่ผ่านการไตร่ตรองด้วยเหตุผลและมีข้อมูลในเชิงประจักษ์อย่างชัดเจนมาสนับสนุนความเห็นของตน และอาจเนื่องจากโอกาสทางการศึกษาของตน ทำให้นายอานันท์ฯเชื่อว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดประชาสังคม (civil society) ที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปอยู่แล้วว่ามีความสำคัญโดยตรงต่อการมีระบบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย และจะช่วยให้ประชาธิปไตยสามารถหยั่งรากลึกดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง
นายอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะนักการทูต (สมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ) มีผลงานโดดเด่นเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนที่ชัดเจนที่สุดคือ ช่วงหลังสหรัฐฯ แพ้สงครามในเวียดนาม กัมพูชาและลาว (เมษายน พ.ศ. 2518) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอานันท์ฯ มีบทบาทสำคัญในเรื่องการเจรจาปิดฐานทัพที่ไทยได้อนุญาตให้สหรัฐฯ ใช้เพื่อทำสงครามในอินโดจีน (ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) และการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อให้ถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากประเทศไทยภายใน พ.ศ. 2519
ตลอดจนมีบทบาทโดยตรงในการเจรจาเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518) และ สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเวียดนาม ลาว และกัมพูชา (ระหว่าง พ.ศ. 2518 – พ.ศ. 2519) การเจรจาเพื่อปรับความสัมพันธ์กับจีนและอีก 3 ประเทศในอินโดจีนดังกล่าว ถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับดุลอำนาจในอินโดจีน เพื่อให้มีดุลยภาพใหม่ (equilibrium) ที่ไม่เป็นภัยต่อความอยู่รอดและความมั่นคงของประเทศไทยในยุคสงครามเย็น
โดยข้อเท็จจริงแล้ว นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นที่รู้จักชื่นชอบ ชื่นชม นับถือ และได้รับศรัทธาจากประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริงในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีไทย 2 สมัย (วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534 – วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2535 และวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 – วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2535) ผลงานในด้านการต่างประเทศที่ดีเด่นในทางประจักษ์เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ได้แก่ นโยบายต่างประเทศของไทยที่เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านและนโยบายก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งนายอานันท์ เป็นต้นคิดและผลักดันให้เกิดขึ้นในทางเป็นจริง (วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2535) เป็นการสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน การประกาศลดภาษีศุลกากร 15 รายการของรัฐบาลไทย ทำได้โดยสะดวก เป็นเพราะรัฐบาลนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ไม่มีผลประโยชน์ผูกพันทางธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจใด
ความสำเร็จของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 27 – 28 มกราคม พ.ศ. 2535 นับเป็นมิติใหม่ทางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนทางการเมือง แต่ยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน (อานันท์ ปันยารชุน, เรียบเรียงโดยประสาร มฤคพิทักษ์และคณะ หน้า 131)
ส่วนนโยบายให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านนั้น รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เป็นรัฐบาลแรกของไทยที่ได้คิดนโยบายเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเป็นระบบ และได้ดำเนินตามนโยบายอย่างจริงจังและอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่หวังผลเพียงเพื่อสร้างภาพแต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย
เป็นทั้งข้อเท็จจริงและความจริงที่ไม่มีใครกล้าแย้งว่า นโยบายดังกล่าวที่ริเริ่มในยุคของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นนโยบายที่รัฐบาลต่อ ๆ มาได้สานต่อและได้ขยายวงกว้างออกไปยิ่งขึ้น นโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เป็นนโยบายที่ถือว่า ความมั่นคงของภูมิภาคเป็นส่วนประกอบที่จำเป็น (essential component) ของความมั่นคงของไทย นโยบายดังกล่าวได้รับการต้อนรับจากทั้งรัฐบาลและประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านของไทยเป็นอย่างดี
อีกทั้งเป็นนโยบายที่มิได้สร้างความหวาดระแวงให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยเหตุผลสำคัญคือรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน มิได้มีวาระแอบแฝงทางธุรกิจ หรือการค้าส่วนตัว หรือของพรรคและพวก เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย อีกทั้งมิได้มีความพยายามเอาผลประโยชน์แห่งชาติไปหยิบยื่นให้กับรัฐบาลต่างชาติ เพื่อหวังให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้าส่วนตัวหรือของพวกพ้อง (ไม่เหมือนบางรัฐบาลหลัง พ.ศ. 2540 ที่ได้ใช้นโยบายต่างประเทศและการต่างประเทศของไทยเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์โดยเฉพาะของพวกพ้องอย่างไร้ยางอาย)
นโยบายให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน มีผลช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ ภาพพจน์ และความน่าเชื่อถือให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ไทยเป็นที่เลื่อมใสเป็นแบบอย่างที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านของไทยใฝ่หาเรียกร้อง (สุรพงษ์ ชัยนาม, ขอคุยกับคุณอานันท์ หน้า 129 – 130)
ภาพประกอบจาก AsiaBooks
นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ไทยคนเดียวที่มีความรู้ ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของประชาสังคม (civil society) ที่มีต่อการเมืองในระบบประชาธิปไตย ความก้าวหน้า เสถียรภาพ ความเสมอภาค เสรีภาพ และความยุติธรรมในสังคมประชาธิปไตย
และที่สำคัญคือ นายอานันท์ตระหนักดีว่า ในทางการเมืองนั้น เรื่องของอำนาจและการใช้อำนาจเป็นปัจจัยชี้ขาดต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของรัฐบาล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ทราบดีว่า อำนาจมีไว้ให้ใช้ ไม่ใช่มีไว้ให้บูชา (ซึ่งบ่งบอกถึงความอ่อนแอ) อีกทั้งตระหนักดีด้วยว่า การใช้อำนาจจะได้ผลตามความมุ่งหมาย และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างแท้จริงหรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจนั้นว่า เป็นไปอย่างมีความชอบธรรม ชอบด้วยเหตุผล ข้อเท็จจริง และมีความโปร่งใสหรือไม่ เป็นสำคัญ
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ความโปร่งใสจะมีได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลสามารถเปิดเผยและชี้แจงเหตุผลและการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ให้ประชาชนเข้าใจ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้นายอานันท์ฯ ตระหนักดีว่า โอกาสที่รัฐบาลจะมีเสถียรภาพ ความมั่นคง ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อรัฐบาลของตนได้รับการสนับสนุนไว้วางใจและเชื่อมั่นจากประชาชนเป็นสำคัญ การมีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย (democrat) ทำให้นายอานันท์ฯ ตระหนักดีว่า การเมืองในระบบประชาธิปไตย ความชอบธรรมคืออำนาจ ไม่ใช่อำนาจคือความชอบธรรม
รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุนได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า แม้เป็นรัฐบาลที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีผลงานหลายด้าน ที่เป็นรูปธรรม เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม มีความชอบธรรม และชอบด้วยเหตุผล มากกว่ารัฐบาลที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยเพราะมาจากการเลือกตั้ง แต่ในทางเป็นจริง กลับไม่มีผลงานที่เป็นรูปธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน มีแต่เรื่องที่สร้างความเสียหายแก่ภาพพจน์ ภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ดังอาทิ การคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน และการสร้างความขัดแย้งแตกแยกในสังคมการเมืองไทย
ในทางอุดมการณ์ (ideology) แม้นายอานันท์ฯ เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democrat) แต่เขาหาใช่เป็นนักจิตนิยมเพ้อฝัน (idealist) เขาได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์มาโดยตลอดว่า เขาเป็นนักเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่ศึกษาการเมืองและเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยยึดกรอบการศึกษาแบบ “สัจนิยม” หรือ “สภาพจริงนิยม” (Realism) โดยมองและศึกษาระบบระหว่างประเทศ (international system) จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางเป็นจริง ไม่ใช่จากการสมมติหรือจากการจินตนาการทึกทักเอาเองว่าเป็นจริง ยอมรับว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ ผลประโยชน์เป็นตัวกำหนดความคิด ความเชื่อ และนโยบาย ไม่ใช่ความคิด และความเชื่อกำหนดผลประโยชน์
ความเป็นนักเสรีนิยมที่อยู่กับความเป็นจริง (realist liberal) สะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ว่า นายอานันท์ฯ ตระหนักดีว่า โอกาสที่การเมืองในระบบประชาธิปไตยจะมีเสถียรภาพ ความมั่นคง และหยั่งรากลึกได้ ต้องเป็นการเมืองที่อยู่กับความจริง ที่ยอมรับความหลากหลายของผลประโยชน์และความคิด ยอมรับว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของความขัดแย้งและความร่วมมือ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎกติกาของสังคมการเมือง ต้องเคารพหลักนิติรัฐ – นิติธรรม เห็นถึงความสำคัญของการต้องรู้จักประนีประนอมบนพื้นฐานของการมีหลักการที่ถูกต้อง ไม่ยึดสูตรสำเร็จรูปมายัดเยียดให้ประชาชนเห็นดีด้วย
ความเป็นนักเสรีนิยมที่อยู่กับความจริงเชิงประจักษ์ (realist liberal) เป็นผลทำให้นายอานันท์ฯ ตระหนักดีว่า หากเขาต้องการช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะวิกฤติการเมืองร้ายแรงช่วง พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2535 ก็จำเป็นต้องยอมรับสภาพจริงนิยม ที่ปรากฏในสังคมการเมืองไทยช่วงระหว่าง พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2535 ตลอดจนไม่ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาบ้านเมืองในช่วงนี้ผ่านแว่นของอุดมการณ์เสรีนิยมอย่างเคร่งครัดอย่างไม่ยอมรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบริบทที่เปลี่ยนไป (contextual change) แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่พึงตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางบริบท เพื่อศึกษาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากภาวะวิกฤติร้ายแรง อีกทั้งต้องไม่เอาเรื่องการเป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตยมาเป็นอุปสรรคต่อการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของระบอบ รสช.
หากนายอานันท์ฯ ทำตัวเป็นนักเสรีนิยมแบบไร้เดียงสา หรือแบบหัวชนฝา ที่ยึดอุดมการณ์เสรีนิยมเสมือนเป็นคัมภีร์ตายตัว แข็งทื่อ และดันทุรังให้การเมืองไทยต้องเป็นแบบการเมืองเสรีนิยมของสังคมการเมืองของประเทศตะวันตกก็จะไม่สามารถเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากวิกฤติการเมือง แต่เป็นเพราะนายอานันท์ฯ ไม่เพียงเป็นนักประชาธิปไตย (democrat) ที่อยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง เขายังเป็นผู้รักชาติ รักแผ่นดิน (patriot) อย่างบริสุทธิ์ใจ เขาจึงประสบความสำเร็จพาประเทศไทยพ้นจากวิกฤติการเมืองในครั้งนั้นได้
ความเป็นคนมีเหตุมีผล เปิดใจรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย ไม่เป็นคนดันทุรังทำให้รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบยอมรับความเป็นจริงที่ปรากฏในแต่ละบริบทและปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องและทันต่อเหตุการณ์ระหว่างประเทศ ที่ปรากฎทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งจากการเปลี่ยนนโยบายและท่าทีของไทยต่อจีน เวียดนาม ลาว และกัมพูชา หลังสหรัฐฯแพ้สงครามเวียดนาม (เมษายน พ.ศ. 2518) ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการปรับดุลอำนาจในอินโดจีนเพื่อมิให้เป็นภัยต่อความอยู่รอดและความมั่นคงของประเทศไทย (Dominic Faulder, Anand Panyarachun, หน้า 222 – 226 และประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ อานันท์ ปันยารชุน หน้า 106 – 116)
ความเป็นนักเสรีประชาธิปไตยที่อยู่กับสภาพจริงนิยมเชิงประจักษ์มีผลทำให้นายอานันท์ฯ ไม่มองว่าทุกประเทศมีพัฒนาการทางการเมืองและเศรษฐกิจเหมือนกันหมด ไม่มองว่าประชาธิปไตยเป็นสูตรสำเร็จรูป ไม่มองว่าประชาธิปไตยเป็นสมบัติผูกขาดของกลุ่มประเทศตะวันตก ตลอดจนไม่มองว่า ประชาธิปไตยที่ออกแบบโดยฝ่ายตะวันตกเท่านั้น จึงถือว่าเป็นประชาธิปไตย แต่มองว่าประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากล ทุกประเทศมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะพัฒนาระบบประชาธิปไตยของประเทศตนให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ค่านิยม ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ตลอดจนไม่มองว่าระบบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ยัดเยียดให้กันและกันได้
จากการที่นายอานันท์ฯ มองว่าค่านิยมและหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย เป็นค่านิยมสากล ไม่ใช่สมบัติผูกขาดของมหาอำนาจใด อีกทั้งมองประชาธิปไตยว่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง (process) ไม่ใช่คัมภีร์ตายตัว ทุกประเทศจึงมีสิทธิพัฒนาระบบประชาธิปไตยของตน ประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ประเพณี ค่านิยม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศโดยปราศจากการข่มขู่ การยัดเยียดและการละเมิดเอกราชและอธิปไตยที่มาจากภายนอก (regime change) ดังเป็นที่ประจักษ์จากการให้สัมภาษณ์ของนายอานันท์แก่นาย Dominic Faulder ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของนายอานันท์เล่มภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับนายลี กวน ยิว อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ มีความตอนหนึ่งว่า
“I was fond of him and have high respect for what he did for Singapore, and his achievements, but he was an autocrat – and a very good one. It was the right time to be autocrat in Singapore in the 1950s and 1960s.” (Anand Panyarachun หน้า 272 – 273)
ความเห็นข้างต้นของนายอานันท์ฯ เกี่ยวกับนายลีฯ อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์พอสรุปสาระสำคัญได้ว่า เป็นความเห็นที่บ่งบอกให้เป็นที่ประจักษ์ว่า การเป็นผู้นำที่ดี ที่ทำความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติได้ ไม่จำเป็นต้องได้ชื่อว่าเป็นนักประชาธิปไตย (democrat) แต่อยู่ที่ผู้นำว่าเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มีความโปร่งใส กล้าตัดสินใจหรือไม่ ตลอดจนเป็นผู้นำที่มีความซื่อสัตย์หรือไม่
ภาพประกอบจาก positioningmag.com
นายลีฯ ในทัศนะของนายอานันท์ฯ มีคุณลักษณะที่ดีเหล่านี้ นายอานันท์ฯ จึงมองว่านายลีฯ เป็นนักอำนาจนิยมที่ดี (good autocrat) และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นายอานันท์ฯ ได้เน้นเรื่องความสำคัญของปัจจัยบริบท (contextual factor) ที่มีอิทธิพลต่อความคิดนโยบายและท่าทีของผู้นำประเทศในแต่ละห้วงเวลา ช่วงระหว่าง พ.ศ.2503-2508 เป็นห้วงเวลาที่เอื้อให้สิงคโปร์มีผู้นำอย่างนายลีฯ เพราะเป็นช่วงเวลาที่สิงคโปร์ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย (พ.ศ. 2506) ต่อมาได้ถูกขับออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย (พ.ศ. 2508) และได้ประกาศเป็นประเทศเอกราช (วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2508)
บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับภูมิภาค (นโยบายประจันหน้ากับมาเลเซียและกับสิงคโปร์ของอินโดนีเซีย ระหว่าง พ.ศ. 2505 - พ.ศ. 2508) และความขัดแย้งระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ มีผลทำให้สิงคโปร์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีลี กวน ยิว กลายเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดในอาเซียน
แม้ว่านายลี กวน ยิว มิได้เป็นนักเสรีนิยมประชาธิปไตย (liberal democrat) อย่างนายอานันท์ปันยารชุน แต่เช่นเดียวกับนายอานันท์ฯ นายลีฯ เป็นนักสัจนิยม (realist) ที่ยอมรับสภาพจริงนิยม (realism) และเป็นผู้รักประเทศชาติ (patriot) ซื่อสัตย์ และโปร่งใส มีวิสัยทัศน์เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุนของไทย แต่บุคคลทั้งสองมีความแตกต่างอย่างชัดเจนตรงที่ความเป็นผู้นำของนายลี กวน ยิว เน้นการครอบงำ (domination) ขณะที่ความเป็นผู้นำของนายอานันท์ ปันยารชุนเน้นที่การนำ (lead)
ถ้าเห็นด้วยว่าประเทศไทยยังต้องการผู้นำอย่างนายอานันท์ ปันยารชุน มาช่วยนำให้ประเทศไทยพ้นภาวะวิกฤติที่มีอยู่ในปัจจุบัน การอ่านหนังสือ “Anand Panyarachun and the Making of Modern Thailand” เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง