ไม่มีอะไรลึกลับ โฆษกกห. แจงงบฯ กองทัพพุ่ง 2 แสนล้าน โชว์กราฟยันได้ไม่เกิน 7-8%
โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุ งบประมาณกลาโหมเคยลงไปต่ำสุดปี 2549 อยู่ที่ 6.32% ของงบประมาณทั้งประเทศ จากนั้นค่อยๆ ขยับอยู่ที่ 7-8% จนถึงปัจจุบัน โอดช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ กองทัพไม่มีงบฯ แม้กระทั่งการฝึก น้ำมัน การปฏิบัติบำรุงยุทโธปกรณ์ไม่มี นักบินอยู่ไม่ได้เกิดสมองไหล ไล่ไปดูอยู่ช่วงรัฐบาลไหน
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวชี้แจงงบประมาณว่า กระทรวงกลาโหม ถือเป็นหน่วยงานความมั่นคงโดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ให้ทหารทำภาระกิจป้องกันประเทศ และการรักษาความมั่นคงภายใน พิทักษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ของชาติและประชาชน รวมถึงทำงานสนับสนุนงานของรัฐบาลด้วย ซึ่งมีมานานแล้ว เช่น การแก้ปัญหายาเสพติด ลักลอบตัดไม้ทำลายป่า
"ขนาดของกองทัพเติบโตจากภัยคุกคามของประเทศ ยามประเทศชาติเจอภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ก็เพิ่มการเกณฑ์ทหารมากขึ้น รัฐบาล สังคมเป็นผู้กำหนดทั้งนั้น เมื่อเกณฑ์คนเข้ามาก็ต้องมีการจัดสรรงบประมาณ โดยระบบงบประมาณกองทัพไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากกระทรวงอื่น เช่น มีการเสนอคำขอไป รัฐบาลให้ความเห็นชอบ และนำงบฯ นั้นเสนอเข้าสภา มีกรรมาธิการจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้กลั่นกรอง และสุดท้ายก็มาเป็นงบประมาณ ไม่มีอะไรผิดเพี้ยนหรือซ่อนเล้น รัฐทุกยุคทุกสมัยก็ทำเช่นนี้"
พล.ท.คงชีพ กล่าวถึงงบประมาณของกองทัพ เปรียบเหมือนรั้ว การทำรั้วทหารให้เข้มแข็งก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของชาติ ทรัพย์สินที่มีอยู่ งบประมาณของกระทรวงกลาโหม หลายคนพูดเติบโตต่อเนื่องถึง 2 แสนล้านบาท ซึ่งงบฯ นี้เติบโตขึ้นมาจากงบฯ ของประเทศทั้งหมด อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท (ปี2562) จากเดิมอยู่ที่ 1 ล้านล้านบาท
"หากเปรียบเทียบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับงบประมาณประเทศด้วย"
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า งบประมาณทหารปี 2536-2541 อยู่ที่ 12.7% ของงบประมาณทั้งประเทศ จากนั้นมีวิกฤตเศรษฐกิจปี 2542-2548 งบประมาณทหารอยู่ที่ 7.76% ของงบประมาณทั้งประเทศ และปี 2550-2562 งบประมาณทหาร อยู่ที่ 7.79% ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งงบประมาณกองทัพเคยลงไปต่ำสุดปี 2549 อยู่ที่ 6.32% ของงบประมาณทั้งประเทศ จากนั้นค่อยๆ ขยับอยู่ที่ 7-8% จนถึงปัจจุบัน
"ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจงบประมาณกองทัพลดลงจนเหลือ 6% เราไม่มีงบประมาณแม้กระทั่งการฝึก น้ำมัน การปฏิบัติบำรุงยุทโธปกรณ์ไม่มี ยุทโธปกรณ์เสียหายพอสมควร เครื่องบินฝึกไม่มีน้ำมันที่จะบิน นักบินอยู่ไม่ได้เกิดสมองไหล ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ ยุทโธปกรณ์กองทัพเสื่อมสภาพพอสมควร มีการนำกระสุนในคลังสำหรับสำรองสงครามมาใช้ หลังจากนั้นก็ดีขึ้น เราได้งบฯ เพิ่มมากขึ้น จึงมีการซ่อมฟื้นฟู ปี 2549 -2551 "
พล.ท.คงชีพ กล่าวต่อว่า ทุกรัฐบาลงบประมาณกองทัพต้องผ่านสภาฯ ผ่านกระบวนการวิธีงบประมาณ กลั่นกรองโดยกรรมาธิการ ไม่มีอะไรลึกลับ ดังนั้น ควรพูดในภาพรวม ไม่หยิบบางเรื่องไปพูด การพูดเฉพาะงบประมาณของกองทัพที่ได้รับมา ดูเพิ่มขึ้น เป็นการพูดมุมเดียว แต่หากเปรียบเทียบกับงบประมาณของประเทศที่โตขึ้น สัดส่วนงบประมาณของกลาโหมก็เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ปกติกว่า 7%
ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปรียบเทียบงบประมาณของกระทรวงกลาโหมกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) พบว่า ปี2536-2541 อยู่ที่ 2.3% ของ GDP พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เหลือ 1.4-1.5% ของ GDP จนถึง 1.1 % ของ GDP ขณะที่แผนพัฒนาขีดความสามารถกองทัพเราตั้งไว้ที่ 2% ของ GDP ซึ่งกองทัพเคยได้เมื่อปี 2536-2542
จากนั้น ในการแถลงข่าว ได้มีการเปรียบเทียบงบประมาณกองทัพไทยกับงบประมาณประเทศมหาอำนาจ เช่น รัสเซีย สหรัฐฯ จีน ซึ่งเฉลี่ยงบประมาณกองทัพอยู่ที่ 3.11-3.5 % ของ GDP ขณะที่ประเทศในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 1.6 % ของ GDP ส่วน 20 ประเทศที่มีการใช้งบฯทางทหารสูงสุด ได้แก่ โอมาน 12.1 % ของ GDP สิงคโปร์ 3.3 % ของ GDP (อันดับที่ 17) ซึ่งเมื่อเทียบในอาเซียนไทยมีการใช้จ่ายงบกองทัพอยู่อันดับที่ 6 (2002-2017)
"การจัดหายุทโธปกรณ์ ก็เพื่อให้ครบตามอัตรา วันนี้เรายังไม่มียุทโธปกรณ์ครบ ยังขาดอยู่เยอะมาก และทยอยจัดหาตามความจำเป็น และที่ปลดประจำการไปแล้ว ยืนยัน งบประมาณของประเทศคือภาษีประชาชน ทหารก็เสียภาษี ไม่ใช่ทหารเอาภาษีประชาชนไปใช้ เวลาเปรียบเทียบต้องครอบคลุม"
1.3-1.4 % ของ GDP