ใช้เงินจากไหน-คุ้มค่าไหม! โชว์เกณฑ์ ป.ป.ช.ป้องโกงนโยบาย-ปิดฉากพรรคการเมืองขายฝัน?
“…นอกจากนี้ยังมีส่วนของเกณฑ์ความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ที่ให้พรรคการเมืองอธิบายถึงแหล่งที่มางบประมาณ และ/หรือการสนับสนุนอื่นใดแก่นโยบายที่ได้พัฒนาหรือไม่ งบประมาณที่ใช้จ่ายมาจากเงินคงคลัง เงินกู้ยืม หรือเงินอุดหนุน หรือเงินอื่น ๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันนโยบายที่พัฒนาขึ้นนั้น เป็นนโยบายของไทยหรือต่างประเทศ มีผลลัพธ์จากนโยบายดังกล่าวหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องระบุถึงกลุ่มเป้าหมาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจน หากมีผู้เสียผลประโยชน์จะเยียวยาอย่างไร เป็นต้น…”
เหลือเวลาอีกประมาณเดือนเศษ จะถึงวันที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่รอคอยมานานเกือบ 5 ปี นั่นคือการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562
สารพัดพรรคการเมือล้วนงัดนโยบายหาเสียง มาชูโรงหวังโกยแต้มเข้าสภาให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางการงัดข้อช่วงชิงฐานมวลชนกันระหว่าง 2 กลุ่มการเมือง คือ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ)’ และ ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหารหลายครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังปี 2475 คือ รัฐบาลขณะนั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต ผลาญงบประมาณแผ่นดินอย่างมหาศาล มีผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น
ที่สำคัญพลวัตรของการทุจริต มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก พัฒนาการค่อนข้างก้าวกระโดด จากเดิมที่ทำกันอย่างง่าย ๆ ไม่เกรงกลัวใคร เริ่มปรับปรุงให้ซับซ้อนแยบยลมากยิ่งขึ้น จนกลายมาเป็น ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’ นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะหน่วยงานหลักป้องกันและปราบปรามการทุจริต ศึกษากรณีการทุจริตที่ทำให้เกิดความเสียหายระดับชาติ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศอีกครั้ง ในรัฐบาลถัด ๆ ไปหลังการเลือกตั้งครั้งนี้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไปใช้เป็นหลักเกณฑ์ตรวจสอบนโยบายของพรรคการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งว่า ดำเนินนโยบายเป็นไปตามหลักเกณฑ์นี้หรือไม่ โดยสาระสำคัญคือ นโยบายทั้งหมดต้องมีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงต้องอธิบายแหล่งที่มาของงบประมาณในการจัดทำนโยบายให้ชัดเจน และต้องระบุกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากการจัดทำนโยบายดังกล่าวด้วย (อ่านประกอบ : ต้องเชื่อมยุทธศาสตร์ชาติ! เจาะเกณฑ์ชี้วัด ป.ป.ช.ชง กกต.ตรวจนโยบายพรรคไหนเสี่ยงโกง)
หลักเกณฑ์ชัด ๆ คืออะไร พรรคการเมืองต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปให้ทราบ ดังนี้
ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายฯ แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนแรก ขั้นตอนการพัฒนานโยบาย และส่วนที่สองขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยในตอนนี้จะนำเสนอในช่วงของ ขั้นตอนการพัฒนานโยบายก่อน
ขั้นตอนการดำเนินการคือ ภายหลัง กกต. กำหนดวันเลือกตั้ง ให้ กกต. ส่งมอบเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายฯ ในขั้นตอนการพัฒนานโยบายให้แก่พรรคการเมืองที่จะประสงค์ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคดำเนินการตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยง และตอบคำถามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยง
หลังจากนั้นให้พรรคดำเนินการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายที่จะใช้นำไปหาเสียงเลือกตั้ง จำนวน 5 นโยบาย และให้ตอบคำถามตามเกณฑ์ชี้วัดคความเสี่ยง โดยระยะเวลาให้ กกต. เป็นผู้กำหนด หลังจากนั้นให้พรรคนำคำตอบส่งกลับไปยัง กกต. เพื่อรวบรวมข้อมูล และเผยแพร่ผลการดำเนินการตามเกณฑ์ชี้วัดดังกล่าว ให้สาธารณชนรับทราบ
เมื่อหลังการเลือกตั้ง ให้ กกต. รวบรวมผลการดำเนินการตามเกณฑ์ชี้วัดดังกล่าว เพื่อสร้างฐานข้อมูลนโยบาย และส่งมอบข้อมูลให้แก่สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อวิเคราะห์สภาวการณ์ทุจริตต่อไป
สำหรับแนวทางคำถาม-คำตอบตามหลักเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย สรุปได้ ดังนี้
หนึ่ง นโยบายต้องมีการศึกษา อ้างอิง หรือแนวคิดของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ โดยต้องแสดงความเชื่อมโยงนโยบายพรรค และนโยบายที่พัฒนาขึ้นมาประเด็นใดในยุทธศาสตร์ชาติที่จะประสบความสำเร็จ
สอง ต้องศึกษาความจำเป็นในการพัฒนานโยบายดังกล่าว แสดงข้อมูลความเป็นมาของนโยบาย ปัญหา หรือภูมิหลังที่ทำให้เกิดการพัฒนานโยบายดังกล่าว หรือการวิเคราะห์ปัญหาหรือผลกระทบของปัญหาว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และต้องสรุปวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
สาม การประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย โดยพรรคการเมืองต้องอธิบายถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณให้ชัดเจนว่าจะนำมาจากไหนในการจัดทำนโยบาย และนโยบายนี้เป็นนโยบายที่คิดเอง มาจากประเทศไทย หรือต่างประเทศ และผลลัพธ์ที่ผ่านมาเคยเป็นอย่างไร
สี่ มีกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเป็นไป และความเสี่ยงต่อนโยบาย โดยจัดให้มีบุคคล หรือคณะทำงาน รับผิดชอบในการวิเคราะห์ผลกระทบ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และฐานทางการเงินการคลังของประเทศ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงของนโยบายอย่างรอบคอบ นอกจากนี้ต้องเผยแพร่ผลการศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส ชัดเจน และง่ายต่อการทำความเข้าใจ
ห้า ต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายผ่านช่องทางที่สะดวก เข้าถึงง่าย และมีการจัดทำร่างรายงานการพัฒนานโยบายพรรค เช่น การแสดงความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ การกำหนดวัตถุประสงค์ เป็นต้น
นี่คือสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายของพรรคการเมือง ที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ กกต. อย่างเป็นทางการแล้ว นับเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทำให้นโยบายแต่ละพรรคการเมือง ไม่อาจ ‘ขายฝัน’ แบบลอย ๆ ได้อีกต่อไป
ส่วนจะปฏิบัติได้จริงหรือไม่ ต้องขอยืมคำพูดของนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เคยสรุปว่า “ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หลักเกณฑ์นี้ประสบความสำเร็จได้คือ เราจะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและนำหลักเกณฑ์นี้ไปใช้ นอกจากนี้ยังรวมถึงการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวัง มอนิเตอร์ความผิดปกติ โดยเฉพาะขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เรื่องเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าไปแก้ไขปัญหาในอนาคต” (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ส่งเกณฑ์ชี้วัดการทุจริตให้ กกต. สอบนโยบายแต่ละพรรคเสี่ยงโกงหรือไม่)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/