คณะพาณิชย์ฯ มธ. แจงปรับปรุง ‘ตึกตู้ปลา’ สร้าง iSpace-iLab โปร่งใส ประชาคมรับรู้ตลอด
โปร่งใส! ปรับปรุง “ตึกตู้ปลา” กลุ่มบริหารคณะพาณิชย์ฯ มธ.ย้ำ ทำงานไม่ผ่านประชาคมเป็นไปไม่ได้ กล่าวหายกที่ราชพัสดุให้เอกชน ไม่มีมูล เดินหน้าประชุมแจงคณาจารย์ต่อ 25 ก.พ. นี้ ไม่ติดกฎหมาย-ทุจริต พร้อมไปต่อ มั่นใจแล้วเสร็จ ก.ค. 62
สืบเนื่องจากคณาจารย์ออกมาคัดค้านกรณีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และร้าน Too Fast Too Sleep (ทู ฟาสต์ ทู สลีป) ปรับปรุงพื้นที่ชั้น 1 ของตึกตู้ปลา ที่เดิมเป็นอาคารสำนักงาน เพื่อสร้างพื้นที่ iSpace และ iLab นั้น (อ่านประกอบ:ไทยพาณิชย์ชี้แจงกรณีการปรับปรุงพื้นที่ "ตึกตู้ปลา" ม.ธรรมศาสตร์)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 18 ก.พ. 62 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “เปิดข้อเท็จจริง ตึกตู้ปลา ตอบทุกประเด็น แจงทุกขั้นตอน” ณ ห้องประชุมห้อง 500 ชั้น 5 นำโดย รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี รศ.อานนท์ มาเม้า ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ณภัทร สรอัฑฒ์ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ร่วมแถลง
รศ.ดร.พิภพ กล่าวว่า การปรับปรุงตึกตู้ปลาในครั้งนี้ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาพื้นที่ทำงานร่วมกันนอกห้องเรียนของนักศึกษาที่มีมายาวนานเท่านั้น แต่มีเป้าหมายที่จะทำให้ตึกตู้ปลาเป็นพื้นที่สร้างและต่อยอดไอเดียไปสู่ธุรกิจจริงให้ครบในที่เดียว การเรียนการสอนต้องลงมือปฏิบัติจริงทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ซึ่งเป็นแนวโน้มที่นักศึกษาและโลกธุรกิจต้องการ เราต้องการพื้นที่เปิดกว้างให้เรียนรู้และทำงานร่วมกันข้ามศาสตร์ ข้ามโครงการ กระทั่งข้ามสถาบัน ซึ่งก็เป็นแนวทางที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในโลกกำลังก้าวเดิน การปรับชั้นล่างตึกตู้ปลาในครั้งนี้ เราจึงย้ายออฟฟิศออกเพื่อคืนพื้นที่ให้นักศึกษา ด้วยการสร้าง iLab และ iSpace เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันประมาณ 1,120 ตารางเมตร มีทั้ง coworking space ห้องประชุมเล็กใหญ่ เวที Pitch กับนักลงทุน รวมไปถึงพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้จัดสัมมนา และ event ในรูปแบบต่างๆได้
“เรามองว่าเป็นการพัฒนานักศึกษา เป็นการสร้างรูปแบบการเรียนรู้แห่งอนาคต ไม่ใช่เรื่องพื้นที่ เพียงแต่ว่าเมื่อเดินหน้ามาเราจำเป็นที่จะต้องมีหุ้นส่วนเพื่อให้เงินลงทุนของเราน้อยลง”
รศ.ดร.พิภพ กล่าวอีกว่า เรื่องการเอาที่ราชพัสดุมายกให้เอกชน ก็ไม่มีมูลทั้งสิ้น เป็นเรื่องการจัดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยมีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 14 (10) ของพ.ร.บ. ซึ่งมีข้อบังคับกำหนดวิธีดำเนินการชัดเจน และมีคณะกรรมการที่ราชพัสดุรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เรื่องนี้ไม่มีประเด็นผิดกฎหมายใดๆ โดยเด็ดขาด
พร้อมกล่าวถึงขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปว่า วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 62 จะเรียนเชิญคณาจารย์เข้าร่วมประชุมชี้แจงเพิ่มเติม เราคาดหวังว่าเมื่อกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเห็นแล้วว่าไม่มีประเด็นใดที่เป็นข้อท้วงติงในเชิงกฎหมายหรือการร้องเรียงในข้อทุจริตใดๆ น่าจะสามารถเดินหน้าเจรจาโครงการกับพันธมิตรต่อได้ อยากให้นักศึกษาได้ทันใช้ เพราะระยะเวลาในการดำเนินการเพียง 60 วัน หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้นักศึกษาน่าจะได้ใช้ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562
ขณะที่ รศ.อานนท์ กล่าวถึงหลักการในการดำเนินการราชพัสดุว่า ที่ดินในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถือเป็นที่ราชพัสดุ โดยหลักการเป็นที่ดินที่อยู่ในอำนาจการดูแลของกรมธนารักษ์ และมีกรณีที่เป็นข้อยกเว้น คือ กฎหมายอาจกำหนดให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐอื่นๆ สามารถมีอำนาจจัดการดูแลได้ ปรากฏว่าพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 มาตรา 14 (10) ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอำนาจจัดการใช้และจัดหาผลประโยชน์จากพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในการครอบครองของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงสามารถใช้สอยที่ราชพัสดุได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกรมธนารักษ์ก่อนเป็นคราว ๆ ไปแต่อย่างใด
“การดำเนินงานของคณะพาณิชย์ฯ เกี่ยวกับการตกลงเอกชนเพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตึกคณะ จึงเป็นอำนาจของทางมหาวิทยาลัย ที่จะอนุญาตให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ได้ตามกฎหมายดังที่ได้กล่าวมา ทั้งคณะพาณิชย์ฯ ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากการกลั่นกรองของคณะกรรมการในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว นั่นคือคณะกรรมการจัดหารายได้และผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”
ในฐานะที่เป็นส่วนกลาง ดูแลรับผิดชอบปัญหากฎหมาย และข้อร้องเรียนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย กรณีการปรับปรุงตึกคณะพาณิชย์ฯ นี้ ปัจจุบันมีข้อร้องเรียนจากฝั่งคณาจารย์คณะพาณิชย์ฯ และจากฝั่งผู้บริหารคณะพาณิชย์ฯ มายังมหาวิทยาลัย ซึ่งมหาลัยได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนดังกล่าว เพื่อพิสูจน์ความจริง และรักษาธรรมาภิบาลของมหาวิทยาลัย โดยตั้งคณะกรรมการจากบุคคลที่ไม่มีส่วนได้เสีย เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนดังกล่าวอย่างเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ด้วยบทบาทและมารยาทจึงไม่อาจให้ความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ปัจจุบันอยู่ในอำนาจคณะกรรมการดังกล่าวได้
ด้าน รศ.วิทยา กล่าวว่า การที่ฝ่ายบริหารจะกระทำการใดๆ ในคณะ โดยไม่ผ่านประชาคมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การประชุมคณาจารย์เพื่อแจ้งเรื่องกระทำการต่อเนื่อง รวม 8 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ในแต่ละครั้งจะมีการเสนอแบบการปรับปรุงตึก และมีการปรับค่อนข้างใหญ่ในระยะต้นๆ คณะอาจารย์มองเห็นว่าเกินจำเป็น อาจจะใช้งบประมาณมากเกินไป การปรับแก้จึงเกิดขึ้นตลอด ซึ่งการประชุมทั้ง 8 ครั้งนั้นก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากความหลากหลายในเรื่องของความคิดเห็น จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 ได้ตกลงในที่ประชุมว่าให้มีการนำผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาทำการระดมสมอง
“เป็นการจัด work shop โดยเชิญสถาปนิกจากคณะสถาปัตย์ฯ มาออกแบบร่วมกัน 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายผู้บริหาร ฝ่ายคณาจารย์ ฝ่ายนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ ซึ่งถือว่าเป็นคนที่เกี่ยวข้องที่จะใช้สถานที่ทั้งหมด สรุปได้แบบออกมา 2 รูปแบบ คือ 8A และ 8B โดยเสนอในที่ประชุมวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ได้มติรูปแบบ 8A เสนอมหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาต่อไป”
ทั้งยังกล่าวว่า เมื่อมหาวิทยาลัยมองว่าการดำเนินงานเป็นเหตุเป็นผลมาโดยตลอด จึงจัดตั้งคณะกรรมการขึ้น เรียกว่า คณะกรรมการกำกับการปรับปรุงพื้นที่ของคณะพาณิชย์ฯ เพื่อกำกับให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรายละเอียดการตกลงระหว่างคณะพาณิชย์ฯ กับพันธมิตร เช่น รายละเอียดการแบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ต่างๆ คณะพาณิชย์ฯ และพันธมิตรจะตกลงร่วมกัน มหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวข้อง
“กระแสข่าวที่ออกไปว่า ประชาคมไม่ได้รับทราบเรื่องเหล่านี้ เรามีการดำเนินงานเรื่องนี้มาเป็นขั้นเป็นตอนโดยตลอดเวลา และทำอย่างโปร่งใสชัดเจน ต้องเรียนว่าโปรเจคใหญ่ขนาดนี้ไม่มีทางที่เราจะไปแอบทำ เป็นไปไม่ได้ ประชาคมก็รับรู้เรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด เพียงข้อสรุปของประชาคมในแต่ละครั้งนั้นอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจบ้าง ต้องเรียนว่าในหมู่คนจำนวนมาก อาจจะทำไม่ได้ทุกเรื่องในสิ่งที่ต้องการ” รศ.วิทยา กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/