เปิดละเอียด สนช.ชี้แจงร่างพ.ร.บ. ข้าวฯ- ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ มีเวลาปรับตัว 3 ปี
นับตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ข้าว เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระที่ 1 และสนช.มีมติรับหลักการ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 ตั้งแต่แรก มาตรา 26 วรรคสอง แห่งร่าง พ.ร.บ.ข้าว ได้เขียน "ยกเว้น" ในกรณีชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้กันเองแล้วอย่างชัดเจน โดยไม่ถือเป็นความผิด ไม่มีการลงโทษ ทั้งจำคุก หรือปรับใดๆ
ก่อนที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. .... ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้นั้น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. .... นำโดย พลเอก มารุต ปัชโชตะสิงห์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตั้งโต๊ะชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ พร้อมด้วยผู้แทนกลุ่มชาวนาจากเครือข่ายชาวนาจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตะวันออก กลาง และตะวันตก โดยมีศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เข้าร่วมรับฟัง
คำชี้แจงถึงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ
@ ร่างพระราชบัญญัติข้าวฯ เกิดมาจาก
ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ฉบับนี้ เกิดมาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ศึกษาและลงพื้นที่เก็บข้อมูล เกี่ยวกับปัญหาข้าว และชาวนามานานกว่า 2 ปีเต็ม ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากชาวนาที่ล้วนอยากให้มีการเสนอกฎหมายว่าด้วยข้าว
หลักการของ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ไม่เกิดผลกระทบหรือเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตการประกอบอาชีพของพี่น้องชาวนา หากแต่เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกภาครัฐในการส่งสริมและพัฒนาอาชีพชาวนา ตลอดจนภาคการผลิตและภาคการตลาดให้มีความเข้มแข็ง ผลผลิตข้าวมีคุณภาพมีมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงช่วยลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ในราคาที่ดีและเหมาะสม ป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบที่ไม่เป็นธรรม
@ สาระสำคัญ โดยสรุปร่าง พ.ร.บ.ข้าว
1.ให้มีการวิเคราะห์และจัดทำเขตศักยภาพการผลิตข้าว (Zoning) ทั้งประเทศ โดยทำให้เสร็จภายใน 3 ปี (มาตรา 21,มาตรา 34)
2.ให้มีการดูแลเรื่องคุณภาพ มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว (มาตรา 27/4) กำหนดให้โอนอำนาจหน้าที่ ตามพ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 เป็นของกรมการข้าว ซึ่งเดิมตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืชฯ นั้นเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร แต่เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช มีถึง 33 ชนิด ดังนั้นในทางปฏิบัติ กรณีเมล็ดพันธุ์ข้าว กรมวิชาการเกษตรจะมอบอำนาจให้กรมการข้าวดูแลแทน
โดยพ.ร.บ.ข้าว ได้กำหนดเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.พันธุ์พืช คือ กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมเรื่องการรับรองพันธุ์ ที่จะช่วยแก้ปัญหาเมล็ดพันธุ์ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะ ที่เรียก 'ถุงขาว' ที่สร้างปัญหาเพิ่มต้นทุนของชาวนา ทำให้ขายข้าวเปลือกได้ในราคาต่ำ
3.เพื่อสร้างกติกาให้ความเป็นธรรมต่อทุกๆ ฝ่ายในการซื้อขายข้าวเปลือก และเพื่อให้ภาครัฐรับทราบข้อมูลในปริมาณข้าวเปลือกในประเทศไทยที่แท้จริง รัฐบาลจะสามารถกำหนดนโยบายและการส่งเสริมในแต่ละกลุ่ม หรือตามพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง พ.ร.บ.ข้าว จึงกำหนดให้ คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวด้านการผลิต มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณต้นทุนการผลิต เพื่อให้ได้มาซึ่งข้าวเปลือกและผลพลอยได้ (มาตรา 13/3) และกำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือกต้องจัดทำหลักฐานการซื้อขายตามความจริง ได้แก่ ใบรับซื้อ ออกให้แก่ชาวนา และต้องจัดส่งสำเนาให้กรมการข้าวทางอิเลคทรอนิกส์ (ทั้งนี้ ห้วงเวลาการจัดส่ง และรายละเอียดของใบรับซื้อ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ที่นบข.กำหนด ) (มาตรา 20)
4.พ.ร.บ.ข้าว จะให้มีคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศ โดยการยกระดับ นบข. ซึ่งถือเป็นคณะกรรมการที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ให้มากำหนดไว้เป็นการถาวรภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ เพื่อให้การดูแลข้าวและชาวนาทั้งระบบมีความต่อเนื่อง
โดยมาตรา 12 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ ของนบข.พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนและช่วยเหลือ สำหรับการแก้ไขปัญหา รวมถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ของชาวนา เครือข่ายชาวนา ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประกอบการโรงสี ผู้ค้า และผู้ส่งออกข้าว รวมทั้งสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวนาเพื่อสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
ในร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ ยังเพิ่มองค์ประกอบของผู้แทน นบข.ให้มีทั้งผู้แทนจากภาคชาวนาเกษตรกร ภาคเอกชน เช้ามามีส่วนร่วม พร้อมสร้างกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายของนบข. โดยให้มีอนุกรรมการฯ ด้านการผลิต และอนุกรรมการฯ ด้านการตลาด (ตามมาตรา 13/1-13/5) ทั้งนี้ผู้ตัดสินใจคือ นบข.ในการกำหนดนโยบายตามที่อนุกรรมการฯ ทั้งสองร่วมกันวิเคราะห์นำเสนออย่างบูรณาการ โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลทั้งภาคการตลาด และภาคการผลิตข้าวครบวงจร รวมถึงระบบตรวจสอบย้อนกลับที่ พ.ร.บ.ข้าว กำหนดให้มีการจัดทำขึ้น (มาตรา 19)
ทั้งนี้ นบข.จะสามารถให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือปรับเปลี่ยนได้ ตามความเหมาะสมกับเหตุการณ์นั้นๆ
5.เพิ่มมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทศไทย ปัญหาการลักลอบดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของชาติ รวมถึงสร้างปัญหาด้านคุณภาพข้าวและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปลอมปนของพันธุ์ข้าวในท้องนา ซึ่งจะมีผลตกค้างยาวนานถึง 5 ปี โดยกำหนดให้ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาล และศาลได้พิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ริบ ให้ข้าวเปลือกที่ริบนั้นตกเป็นของกรมการข้าว เพื่อจัดการตามที่เห็นสมควร รวมถึงการทำลายทิ้ง ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ (มาตรา 28/1)
@ ประเด็นเมล็ดพันธุ์ การเพาะ การเก็บเมล็ดพันธุ์
นับตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.ข้าว เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในวาระที่ 1 และสนช.มีมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ข้าว เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 แล้วนั้น ตั้งแต่แรก มาตรา 26 วรรคสอง แห่งร่าง พ.ร.บ.ข้าว ได้เขียน "ยกเว้น" ในกรณีชาวนาที่เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้กันเองแล้วอย่างชัดเจน โดยไม่ถือเป็นความผิด และไม่มีการลงโทษ ทั้งจำคุก หรือปรับใดๆ
นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ก็ไม่ได้เอื้อนายทุนยักษ์ตามที่หลายฝ่ายกล่าวหา เพราะถ้าชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี ก็สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ เว้นแต่ชาวนาจะไปทำในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบการเพื่อค้ากำไรเสียเอง เช่นนี้ ก็ต้องขอรับรองพันธุ์ข้าวก่อนเท่านั้น
@ ผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ มีเวลาปรับตัว 3 ปี
คณะกรรมาธิการวิสามัญ ยังเสนอให้เพิ่มบทเฉพาะกาล โดยให้มีการทยอยปรับตัวของผู้ที่ยังไม่ได้รับรองพันธุ์ เพื่อเข้าสู่ระบบภายใน 3 ปี โดยห้วงเวลาดังกล่าว ผู้ประกอบการที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ที่ยังไม่ได้พันธุ์รับรอง ยังขายได้ตามปกติ และให้กระทรวงเกษตรฯ เมื่อครบ 3 ปีแล้ว สามารถพิจารณาทบทวนว่า จะต้องขยายเวลาออกไป หรือจะพิจารณาอย่างอื่นใดที่เห็นว่า จำเป็นเหมาะสมก็ได้
รวมถึง เพิ่มบทเฉพาะกาลในกรณีพันธุ์ข้าวที่มีการคิดค้นวิจัย มีเรื่องสิทธิบัตรคุ้มครอง ก็สามารถขายได้ต่อไปเช่นกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในในช่วงแรก ๆ ที่กฎหมายมีผลบังคับใช้
ส่วนการยกร่างบทกำหนดโทษ ก็พิจารณาไปตามที่ผู้แทนกฤษฎีกาเสนอ โดยอ้างอิงจากพ.ร.บ.พันธุ์พืช
สรุปได้ว่า ในชั้นกรรมาธิการฯ ที่พิจารณานั้น ไม่เคยมีข้อเสนอที่จะสร้างผลกระทบกับชาวนาที่แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ หรือผู้วิจัยคิดค้นพันธุ์ โดยเฉพาะข้อห่วงใยจากรมว.เกษตรฯ เรื่องการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงนำมาประกอบพิจารณาเพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุด
ล่าสุด วันที่ 13 กุุมภาพันธ์ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ลงมติรับแนวทาง "การส่งเสริมการใช้พันธุ์ที่ได้รับการรับรอง" ด้วยเหตุที่มีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ ดังนั้น ในวาระแรกเริ่มที่ พ.ร.บ.ข้าวนี้เริ่มมีผลใช้บังคับ โดยในส่วนของการซื้อขายเมล็ดพันธุ์ข้าว ยังเป็นไปตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช ที่มีอยู่ในปัจจุบันเช่นเดิม และไม่มีการกำหนดการห้ามจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ได้รับรองพันธุ์ในร่าง พ.ร.บ.ข้าว คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งเป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมไปยังรัฐบาล เพื่อให้กระทรวงเกษตรฯ ต้องพิจารณาทบทวนถึงความจำเป็น ความพร้อม เรื่องการสร้างระบบรับรองพันธุ์ข้าวภายใน 3 ปี หรือทุกๆ รอบ 3 ปี เสนอ นบข.เพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
@ ใบรับซื้อข้าวเปลือก ไม่ใช่ใบรับรองข้าวเปลือก
อย่างไรก็ตาม คำชี้แจง ของสนช.ยืนยัน การขึ้นทะเบียนชาวนาทุกคนนั้น ไม่มีการระบุไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.ข้าว โดยมาตรา 19 ได้กำหนดเพียง ให้กรมการข้าว เชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ของภาครัฐ
อีกทั้ง ไม่มีบทบัญญัติใด ๆให้ผู้ประกอบการโรงสี ต้องออก 'ใบรับรองข้าวเปลือก' โดยในร่าง พ.ร.บ.ข้าว มาตรา 20 กำหนดให้ผู้รับซื้อข้าวเปลือกออก 'ใบรับซื้อข้าวเปลือก' ซึ่งเป็นหลักฐานการรับซื้อข้าวเปลือกที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และให้ส่งสำเนาใบรับซื้อข้าวเปลือกให้กรมการข้าว เพื่อใช้เประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลเท่านั้น ซึ่งสมาคมโรงสีข้าว ยืนยันมาตลอดว่า ใบรับซื้อข้าวเปลือก เป็นเอกสารในการรับซื้อและเป็นหลักฐานในการชำระค่าข้าว ทำเป็นปกติอยู่แล้ว และหากออกใบรับซื้อ เป็นไปตามที่ได้ตกลงซื้อขายตามจริงกับชาวนา ย่อมไม่อยู่ในบังคับต้องโทษตาม พ.ร.บ.ข้าว นี้แต่อย่างใด
@ ประเด็นเสี่ยงต่อการเรียกรับ
ประเด็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ สามารถเข้าไปตรวจสอบโรงสี โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ซึ่งเรื่องเจ้าพนักงานนั้น ความจริงคือ เจ้าพนักงาน ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐมนตรี ตามพ.ร.บ.ข้าว เพื่อดูแล กำกับ เรื่องเมล็ดพันธุ์ ไม่ใช่ไปตรวจใบรับซื้อ และในส่วนเนื้อหาของอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานนั้น พ.ร.บ.ข้าวได้กำหนดไว้เช่นเดียวกับ บทบัญญัติว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช หรือกฎหมายอื่นๆ มิได้เพิ่มเติม หรือกำหนดให้มีอำนาจไว้เป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด
และทั้งหมด คือ คำชี้แจงต่อข่าวที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ ที่กำลังเข้าสู่สภาฯ กลางสัปดาห์นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ร่าง พ.ร.บ.ข้าว : เพื่อชาวนาจริง หรือ ?
ถอดรหัส ร่าง พ.ร.บ.ข้าว จำคุก-ปรับชาวนา จริงหรือ?
รอรัฐบาลใหม่ดีกว่า! "นิพนธ์" ฉะร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ ล้าหลัง เสี่ยงทุจริต สูญงบฯ มหาศาล
"สนช."ตัวเล็กๆ ทำอะไรเพื่อชาติได้บ้าง? ท่ามกลางวงล้อมสายทหารพรึบ