ร่างพ.ร.บ.ข้าวฯ เข้าสู่การพิจารณาสนช. 20 ก.พ.นี้-นายกฯ ห่วงข้อมูลบิดเบือน
ร่างพระราชบัญญัติข้าวฯ เข้าสู่การพิจารณาสนช. 20 ก.พ.นี้แล้ว หลังมีประเด็นข้อสงสัย กรณีการแก้ไขมาตรา 27/1 ห้ามจัดจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองจดทะเบียนจากกรมการข้าว ด้านนายกฯ ประยุทธ์ ห่วงข่าว พ.ร.บ.ข้าวบิดเบือน แนะประชาชนระวังการเสพข้อมูล พร้อมย้ำมุ่งสร้างความเป็นธรรมแก่ชาวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. .... หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. .... ประกอบด้วย พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ รองประธานคณะกรรมาธิการ พลเอก ศุภวุฒิ อุตมะ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นายพรศักดิ์ เจียรณัย กรรมาธิการ และ ดร.พนิต ธีรภาพวงศ์ รองเลขานุการคณะกรรมาธิการ ร่วมกันแถลงข่าวร่าง พ.ร.บ. ข้าว พ.ศ. .... ในประเด็นที่ประชาชนมีข้อสงสัย กรณีการแก้ไขมาตรา 27/1 ประเด็นที่ห้ามจัดจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองจดทะเบียนจากกรมการข้าวนั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่า กฏหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ตามปกติแม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว พร้อมกับยืนยันว่า การขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เนื่องจากการรับรองจะทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพและสามารถตรวจสอบได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้จำหน่ายข้าวในอนาคต
ล่าสุด วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการนำเสนอข่าวที่บิดเบือนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ข้าว ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ทั้ง ๆ ที่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวเปลือกอย่างเป็นธรรม
"พาดหัวข่าวทำนองว่า ชาวนาสะอื้น ชาวนาอ่วม หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยถ้าชาวนาคนใดมีเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ในครอบครองจะมีความผิด และยังเป็นกฎหมายที่เอื้อนายทุนด้วยนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นสื่อมวลชนควรระมัดระวังในเรื่องนี้"
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่แชร์กันจากหลายเพจ เช่น เพจเฟซบุ๊กของนายสุเทพ คงมาก ที่ระบุถึงโทษของชาวนาที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องถูกจำคุก 5 ปี หรือถูกปรับ 500,000 บาทนั้น ก็ไม่ถูกต้อง จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว และผู้ที่โพสต์หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือน อาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ชาวนาสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองได้โดยไม่มีความผิด แต่หากจะนำไปขายก็ต้องไปขอขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว เหมือนกับสินค้าอาหารเครื่องดื่มที่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อรับรองคุณภาพ
"พ.ร.บ.ข้าว จะช่วยคุ้มครองชาวนาในระยะยาวไม่ให้ถูกโรงสีเอาเปรียบกดราคาโดยอ้างว่า ข้าวเปลือกของชาวนาไม่มีคุณภาพ และยังทำให้พันธุ์ข้าวต่าง ๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐาน ป้องกันการหลอกขายเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าที่ไร้ความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้รวบรวมข้อท้วงติงและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เสนอไปยังคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้แล้ว"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รอรัฐบาลใหม่ดีกว่า! "นิพนธ์" ฉะร่าง พ.ร.บ.ข้าวฯ ล้าหลัง เสี่ยงทุจริต สูญงบฯ มหาศาล