นักวิชาการชี้คนไทยเชื่อมั่นองค์กรตรวจสอบลดลง-สื่อเลือกข้างทำประชาธิปไตยสะดุด
ส.พระปกเกล้าจัดเวที 80 ปีประชาธิปไตย นักวิชาการแฉ สตง.ภาคบางแห่งรับสินบนท้องถิ่น ปลุกประชาชนตรวจสอบ อปท.คอรัปชั่น แนะสร้างการเมืองฐานรากจากชุมชนเข้มแข็ง
วันที่ 27 มิ.ย. 55 ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาการเมืองการปกครองไทย 2555 : 80 ปีประชาธิปไตย โดย ดร.ถวิล บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงพัฒนาการประชาธิปไตยไทย จากการวิจัยตั้งแต่ปี 2546 ถึงปลายปีที่ผ่านมาพบว่า การพัฒนาประชาธิปไตยคนไทยต้องมีลักษณะพลเมือง ลักษณะสำคัญที่พบคือการทำงานซื่อสัตย์สุจริตและออกไปเลือกตั้ง คุณลักษณะน้อยสุดคือการการร่วมชุมนุมหรือการประท้วงหรือคุยเรื่องการเมือง แต่ถ้ามองลักษณะพลเมืองต้องคุยการเมืองได้ ซึ่งตรงนี้คนไทยมีลักษณะที่น้อยเกินไป ส่วนพลเมืองที่เน้นวิถีวัฒนธรรมเน้นวิถีวัฒนธรรมเชื่อฟังผู้ใหญ่ ยอมรับระบบกฎหมายจะเป็นอยู่ในภาคอีสานเยอะที่สุด ขณะที่กลุ่มคนที่เน้นเรื่องชุมชน ทำงานเพื่อชุมชน กลุ่มนี้จะอยู่ในภาคใต้ ส่วนกลุ่มที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์นิยมจะอยู่ในภาคกลาง แต่ละภาคมองความเป็นพลเมืองต่างกัน แต่ก็พบว่าที่ผ่านมาคนไทยพอใจในความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นยกเว้นคนภาคไต้ ขณะเดียวกันคนที่ติดตามการทำงานของรัฐบาลก็อยู่ที่คนภาคกลางและภาคใต้มากที่สุด
“การมีส่วนร่วมการเมืองการปกครองท้องถิ่นร้อยละ 1.6 เท่านั้นที่เคยร้องเรียน แต่หนึ่งในสามเท่านั้นที่มีความพอใจในการร้องเรียน ส่วนใหญ่เข้าใจว่าคอรัปชั่นเกิดขึ้นในระดับประเทศมากกว่าท้องถิ่น แต่ก็พบว่าความเชื่อมั่นต่อสถาบันประชาธิปไตย สื่อสารมวลชน และองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบลดน้อยลง สังคมไทยกลายเป็นสังคมขาดความเชื่อมั่น มีความหวาดระแวงมากขึ้น”
ศ.ดร.โรเบิร์ต บี.อัลบริตตัน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี ผู้ร่วมวิจัยสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ประชาธิปไตยกับธรรมาภิบาลไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ประชาธิปไตยอยู่ที่ว่าใครปกครองและที่สำคัญปกครองอย่างไร ธรรมาภิบาลเน้นเรื่องความโปร่งใส ตอบสนองความต้องการประชาชน ความเท่าเทียมในการเป็นสมาชิกในสังคม คนที่บอกว่าสนับสนุนประชาธิปไตยกลับมีแนวคิดทางลบกับหลักนิติธรรม ไม่สนับสนุนการรวมตัวหรือความเทียมกันในสังคม การสนับสนุนประชาธิปไตยไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันในการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม
“เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยไทยสะดุดคือการทำรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารไม่เคยไปด้วยกันกับประชาธิปไตย การรัฐประหารไม่ยอมรับให้ใครปกครอง คนทำรัฐประหารต้องปกครองเท่านั้น ส่วนสื่อมวลชนเลือกข้างก็มีส่วนทำให้ประชาธิปไตยสะดุด แต่ทั้งนี้ประชาชนไทยต้องอดทนเชื่อมั่นในระบบธรรมาภิบาล ถ้าผู้แทนไม่ดีก็เลือกใหม่ แต่อย่าเปลี่ยนผู้ปกครองด้วยการรัฐประหาร”
รศ.ดร.ขจิต จิตตเสวี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในตอนหนึ่งของการปาฐกถาธรรมาภิบาลโลกว่า ประชาธิปไตยกับธรรมาภิบาลโลกเป็นเรื่องใกล้ชิดโลกเปลี่ยนไปคนไทยไม่ได้อยู่คนเดียว อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ลมประชาธิปไตยเกิดขึ้นในพม่ารุนแรงมากทั้งเรื่องแรงงาน วิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบกับประเทศไทย เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเกิดขึ้นจะเกิดผลกระทบกับไทย ทั้งเรื่องแรงงานข้ามชาติ การลงทุนถ้ามีธรรมาภิบาลก็จะเป็นตัวป้องกันที่ดี สิ่งเหล่านี้ที่เราเรียกว่าธรรมาภิบาลโลก ซึ่งอาจชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น คำว่าธรรมรัฐชุมชน ความสัมพันธ์ในชุมชนก็เป็นเรื่องที่พยายามสร้างสิ่งเอื้ออำนวยให้เป็นทางเลือกของสังคม
“การแก้ปัญหาโลกร้อนไม่มีรัฐไหนจะสามารถแก้ได้ ต้องคุยกันระดับประเทศ รวมทั้งการย้ายถิ่นฐานแรงงาน หรือผู้ที่ไม่ใช่แรงงานแต่หนีภัยเศรษฐกิจ รัฐเองก็ทำไม่ได้ต้องอาศัยการแก้ปัญหาจากเอ็นจีโอ เมื่อเป็นเช่นนี้การเมืองระดับประเทศจะทำอย่างไร การตกลงเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่เบียดเบียดโลกและสิ่งแวดล้อมจะทำอย่างไร วิธีการมองโดยเอารัฐเป็นตัวตั้งอาจเป็นวิธีคิดที่ต้องมีการทบทวน ทุกวันนี้เรื่องใกล้ตัวที่สุดคือเรื่องน้ำ แม้การสร้างเขื่อนไซยบุรีก็ไม่อาจยุติได้ด้วยการเจรจา แต่อาจต้องนำเรื่องธรรมาภิบาลของโลก ะหว่างรัฐต่อรัฐมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันจึงจะเป็นทางออก”
น.ส.พิศอำไพ คิดชอบ นักศึกษาปริญญาโท สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สาขาการบริหารการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงองค์ความรู้ประชาชนในการป้องกันและปราบปรามคอรัปชั่นในการพัฒนาประชาธิปไตยว่า การทำงานด้านการแจ้งข้อมูลคอรัปชั่นในองค์กรต่างๆ คนที่ปฏิบัติมีความสำคัญมากกว่าคนคิด เพราะหมายถึงความปลอดภัย ปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย การหาข้อมูลในการทุจริตเป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้จะมีพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่สามารถบังคับใช้กับหน่วยงานรายการได้จริง เช่น เมื่อขอข้อมูลไปยังหน่วยงานที่ถูกสงสัยเรื่องงบประมาณก็จะถูกขีดทำลายตัวเลขบางส่วนทิ้งทางออกคือใช้ข้อมูลสาธารณะในอินเตอร์เน็ต หรือข้อมูลในศาลปกครอง รวมทั้งการหาพันธมิตรทั้งในและนอกพื้นที่ แต่ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ การดำเนินการหากลุ่มเพื่อนมาทำค่อนข้างง่ายกว่า
“การทำงานคือเรียนรู้จากกลุ่มอื่นที่มีวิธีการใกล้เคียงกัน ทำการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล ตรวจสอบ จัดเรียงข้อมูล เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง มีองค์กรไหนบ้างที่เข้าร่วมประมูล มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้บริหารท้องถิ่นอย่างไร ใครเป็นคนอนุมัติ ใครเป็นผู้ตรวจสอบ การเปิดประเด็นสาธารณะทางสื่อก็เป็นทางเลือกที่ดี ส่วนชุมนุมประท้วงเป็นวิธีสุดท้ายเพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิต ที่ผ่านมาพบว่ามีข้อน่าสนใจ การส่งข้อมูลให้สตง.ภาคบางแห่งแทนที่จะแก้ไขปัญหากลับไปชี้ช่องให้หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนแก้ไขความผิด ทั้งนี้เพราะมีความสนิทสนมกับผู้ถูกตรวจสอบ ประชาชนเป็นหูเป็นตาคือเครื่องมือที่ดีที่สุด สามารถตรวจสอบได้ทั้งองค์กรท้องถิ่นและระดับประเทศ”
น.ส.พรรณราย ขันธกิจ อดีตเลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงการสร้างความเป็นพลเมือง กรณีศึกษาธรรมรัฐชุมชนบ้านดุง จ.อุดรธานีเป็นทางเลือกประชาธิปไตยฐานราก เพราะเป็นการเริ่มต้นจากหลักคิดให้ชุมชนดูแลตัวเอง ภาคประชาสังคมไม่ใช่ผู้บริหารประเทศหรือจังหวัดมาชี้นำ มีการรวมตัวเป็นองค์กรมีความเชื่อมั่นทำให้เกิดองค์ความรู้ ประชาชนพึ่งตนเอง ไม่ใช่พึ่งรัฐ ทั้งเรื่องเงินทุนมีการออมทรัพย์ เมื่อมีปัญหามีการคุยกัน ใช้สื่อสาธารณะกระจายความรู้สู่ชุมชน ด้วยนโยบายจากล่างสู่บน ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ เลิกสั่งการ เลิกใช้อำนาจ มีการจัดการ มีการวางแผนที่เป็นระบบ ประเมินผล เรียนรู้พัฒนาแก้ปัญหาผ่านกลุ่มองค์กรชุมชน ใช้หลักโปร่งใส เอื้ออาทร เพิ่มเพื่อนเพิ่มมิตร ไว้วางใจซึ่งกันและปัจจุบันมีงบประมาณบริหารกว่า 20 ล้านบาท ลักษณะเช่นนี้นำไปสู่การบูรณาการความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
“การมีส่วนร่วมต้องคำนึงคนในชุมชนเป็นหลัก ให้ความสำคัญคนมีส่วนได้ส่วนเสียเป็นผู้ร่วมตัดสินใจ เชื่อมโยงการทำงานในระดับตำบล จังหวัด ประเทศ การมีประชาธิปไตยในระดับนี้ สิ่งที่ตามมาคือการส่งไม้ต่อคนรุ่นหลัง หากประชาชนมีความเป็นพลเมืองมากขึ้นเท่าใด การสร้างชุมชนประชาธิปไตยจะมีความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น”