“หมอวิชัย” ออกโรงแจง “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินช่วยคนจนไม่จริง”
บอร์ด สปสช.เผยนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนมีปัญหา ประชาชนยังสับสนนิยาม ส่วน รพ.เอกชนอาศัยช่องว่างพลิ้วเรียกเก็บเพิ่มตามราคาตลาด ด้าน สธ.เตรียมปรับราคาตาม
วันที่ 27 มิ.ย.55 นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่าภายหลังจากที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)แถลงว่า สธ.กำลังทบทวนปรับราคาค่าชดเชยกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินให้กับหน่วยพยาบาลต่างๆเพื่อให้เป็นราคาที่เหมาะสม
และมีรายงานว่า สธ.มีหนังสือถึง 3 กองทุนสุขภาพ(กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนประกันสังคม, กองทุนสวัสดิการข้าราชการ) แจ้งผลการประชุมร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนว่าได้ข้อสรุปตามที่สมาคม รพ.เอกชนขอเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก 3 กองทุนตามราคาที่แท้จริงของแต่ละ รพ. หากศูนย์ประสานงานการส่งต่อของ 3 กองทุนไม่สามารถจัดหาเตียงในรพ.ตามระบบของตนรับผู้ป่วยกลับภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับแจ้งจาก รพ.เอกชนได้ และสำหรับผู้ป่วยที่สมัครใจรักษาต่อที่ รพ.เอกชนเดิมต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเองนั้น
“ตั้งแต่เริ่มนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน 1 เม.ย.ที่ผ่านมาท่ามกลางเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่เดือดร้อนเพราะ รพ.รัฐมีไม่เพียงพอ ขณะที่ รพ.เอกชนมีการเรียกค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ผ่านไป 3 เดือนนโยบายนี้กำลังถูกตั้งคำถามว่าคนไข้ฉุกเฉินได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หรือแอบแฝงเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจ รพ.เอกชนมากกว่า”
น.พ.วิชัย ยังกล่าวว่าจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า 1.มีการปรับคำนิยามให้เหลือเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดงหรือผู้ป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิตจึงจะไม่ถูกตรวจสิทธิและไม่เสียเงิน ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินส่วนใหญ่ที่จำเป็นไม่ได้รับประโยชน์ 2.ผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากเข้าใจผิดและถูกประชาสัมพันธ์ให้ไปใช้บริการ รพ.เอกชน ซึ่งสะดวกกว่า แต่ถูกเก็บเงินตามราคาที่ รพ.กำหนด 3.รพ.เอกชนถือโอกาสเรียกเก็บเงินชดเชยจาก 3กองทุนตามราคาที่ตัวเองกำหนด ไม่ยอมรับราคามาตรฐานตามกลุ่มโรค(DRG) เป็นการดูดเงินครั้งใหญ่จากงบประมาณเข้าสู่ธุรกิจ รพ.เอกชน
4.ผลกระทบตามมาทำให้งบเหมาจ่ายรายหัว สปสช.ลดน้อยลงเรื่อยๆ เพราะงบก้อนใหญ่ถูกแบ่งปันไปอุ้ม รพ.เอกชน จะกระทบฐานะทางการเงินของ รพ.รัฐ นำไปสู่การปฏิเสธไม่ให้บริการผู้ป่วยบัตรทองเหมือนในอดีตที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพ 5.ท้ายที่สุดระบบประกันสุขภาพที่ออกแบบไว้และทุกภาคส่วนช่วยกันทำอย่างต่อเนื่องกันมา 10ปีจนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศจะถูกทำให้ถดถอยกลายเป็นระบบอนาถาสำหรับคนจนและล้มสลายไปในที่สุด
ด้านนายสหรัฐ ศราภัยวานิช รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าถ้ารัฐบาลต้องการสร้างความเท่าเทียมในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจริงตามที่หาเสียงไว้ ต้องเร่งทำตามที่นักวิชาการโรคไตเสนอดังนี้ 1.สนับสนุนนโยบาย PD First หรือการล้างไตทางช่องท้อง ให้ผู้ป่วยไตวายรายใหม่ทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ให้เริ่มต้นทำการทดแทนไตผ่านช่องท้องก่อน เพราะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้ดีกว่า และลดต้นทุนใช้จ่ายในอนาคต 2.ให้ สปสช.ยกเลิกการเรียกเก็บร่วมจ่าย 500 บาทต่อการฟอกเลือดหนึ่งครั้งในกรณีที่เป็นผู้ป่วยเก่าฟอกเลือดก่อนวันที่ 1 มกราคม 2551 เพราะผู้ป่วยในขณะนั้นไม่มีทางเลือกและวิธีผ่านทางช่องท้องในขณะนั้นยังมีจำกัดมาก และผู้ป่วยต้องรับภาระค่าฟอกเลือดกันเองมานานแล้ว
3.ให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มค่าชดเชยฟอกเลือด ค่าชดเชยทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และสนับสนุนยากระตุ้นการเพิ่มเม็ดเลือดแดง เหมือนระบบสปสช. และห้ามรพ.เรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ป่วยไม่ว่ากรณีใดๆ 4.ให้กรมบัญชีกลางที่รับผิดชอบผู้ป่วยข้าราชการและครอบครัว ให้ปรับราคาค่าฟอกเลือด ค่าทดแทนไตผ่านทางช่องท้อง และยากระตุ้นการเพิ่มเม็ดเลือดแดง ให้เป็นราคามาตรฐานเดียวกับสปสช. เพราะที่ผ่านมามีการตั้งราคาไว้สูงเกินกว่าราคาจริง และสูงกว่าที่สปสช.สั่งซื้ออย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยไตวายเข้าไม่ถึงการบริการและเป็นภาระต่อเงินภาษีของประเทศ
“ทางชมรมเพื่อนโรคไตฯ เห็นว่าระบบทดแทนไตของ 3 กองทุนจะเท่าเทียมกันได้จริง รัฐบาลต้องประกาศเป็นนโยบายและสั่งให้ 3กองทุนดำเนินการตามที่นักวิชาการเสนอ” รักษาการประธานชมรมเพื่อนโรคไตฯ กล่าว