ลดเจ็บ ลดตาย .. งดขายแอลกอฮอล์ 13 เมษายน
"...สรุปแล้ว มาตรการ “ห้ามขายเหล้า วันที่ 13 เม.ย.” ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจะช่วยลดการสูญเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะลดการเสียชีวิตจากดื่ม/เมาขับ ได้ไม่น้อยกว่า 20 รายและลดการบาดเจ็บได้ไม่น้อยกว่า 150-200 ราย เพราะผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ร่วมกับเที่ยวงานรื่นเริงต่าง ๆ ในช่วงเย็นและค่ำ..."
จากมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2561 ที่เสนอให้ “งดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 13 เม.ย.” ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่จะช่วยลดความสูญเสียจากคนเมาแล้วขับ โดยเฉพาะกลุ่มที่ออกมาเที่ยววันสงกรานต์แล้วซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้าน รวมไปถึงลดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทและการกระทำความรุนแรงที่มีเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ข้อมูล ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ช่วง 7 วัน สงกรานต์ 2561 ที่ผ่านมา พบว่าวันที่ 13 เม.ย. วันเดียวมีผู้เสียชีวิตถึง 90 คน (ตายมากกว่าช่วงปกติเกือบ 2 เท่า และตายมากกว่าค่าเฉลี่ย 7 วัน ซึ่งตายวันละ 59.71 คน) และถ้ามองย้อนหลังไป 10 ปี เฉพาะวันที่ 13 เม.ย. มีการตายรวมกันแล้วถึง 754 คน (เฉลี่ยวันที่ 13 เมย. มีคนตาย 75.4 คน/วัน) ประเด็นสำคัญคือ 1 ใน 3 ของการตายในวันที่ 13 เม.ย. มีสาเหตุมาจากการดื่มแล้วขับ (เฉลี่ยดื่ม/และเมาขับ เป็นสาเหตุร้อยละ 30-35 ของการตาย หรือคิดเป็นจำนวน 20-30 คน )
สอดคล้องกับ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2555 - 2559 มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรทางถนนที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 44,590 คน คิดเป็นร้อยละ 32.5 จากผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งสิ้นจำนวน 137,385 คน โดยเฉพาะในวันที่ 13 เม.ย. มีผู้ประสบอุบัติเหตุที่บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุรา ที่สำคัญข้อมูลจากการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ (บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต) พบว่ากว่าครึ่ง (ร้อยละ 53) มีระดับแอลกอฮอล์เกินกว่า 50 mg% ซึ่งเกินกฎหมายกำหนด ถ้าคิดเฉพาะวันที่ 13 เม.ย. จะมีสัดส่วนสูงเกือบร้อยละ 60 และยังพบอีกว่า ยิ่งดื่มยิ่งไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย (ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย หรือ ไม่สวมหมวกกันน๊อก)
นอกจากนี้ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่าเกือบ 2 ใน 3 (ร้อยละ 62.1) ของการบาดเจ็บและตายจากดื่มขับจะพบในช่วงเย็น-กลางคืน เพราะแนวโน้มการเล่นน้ำสงกรานต์จะขยับมาเล่นในช่วงเย็นไปจนถึงตอนกลางคืนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ในปัจจุบันแต่ละพื้นที่จะมีกิจกรรมงานรื่นเริงหลากหลายรูปแบบ ทั้งเวทีหมอลำซิ่ง เวทีคอนเสิร์ต มิดไนท์สงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขายในงาน ที่สำคัญกลุ่มที่มาเที่ยวงานนอกจากคนวัยทำงานก็มีเด็กและวัยรุ่นร่วมด้วย
ข้อมูลสงกรานต์ 2561 ยังพบอีกว่า 1 ใน 4 ของผู้บาดเจ็บที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วยเข้ารับการรักษาพยาบาล เกิดขึ้นในวันที่ 13 เม.ย. (ดื่มและบาดเจ็บ วันที่ 13 เมย. จำนวน 1,958 ราย จากยอดรวม 7,893 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 24.8) และในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนถึง 1,494 ราย (มีการดื่มและบาดเจ็บ 445 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 29.8) ทั้งนี้ จะพบว่าส่วนใหญ่ของผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากดื่ม/เมาขับ จะดื่มแอลกอฮอล์นอกบ้าน (มีประมาณ 1/3 ที่ดื่มสังสรรในบ้าน ซึ่งกลุ่มนี้ มาตรการห้ามขายเหล้ายังควบคุมได้จำกัดเพราะสามารถซื้อเหล้ามากักตุนไว้ก่อนได้)
ยังพบอีกว่า มาตรการบังคับใช้กฎหมายดื่ม/เมาไม่ขับ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำได้จำกัด เพราะจำนวนตรวจจับ โดยเฉพาะด่านตรวจจับคนเมาขับ สามารถดำเนินคดีเมาขับได้เพียง 5,376 ราย หรือคิดเป็นเพียง 69.8 ราย/จังหวัด ในขณะที่คนดื่มแล้วออกมาขับขี่บนถนน แค่งานรื่นเริงงานเดียวก็พบว่าเกิน 100 รายแล้ว นอกจากนี้ ข้อมูลจาก จส.100 โพล ที่สำรวจประชาชนผ่าน facebook ช่วงสงกรานต์ 2561 พบว่า ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 69.45) ไม่พบเห็นด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ ที่สำคัญคือเกือบทุกคนที่ตอบสำรวจ (93.80 %) ไม่ถูกเรียกตรวจวัดแอลกอฮอล์
สรุปแล้ว มาตรการ “ห้ามขายเหล้า วันที่ 13 เม.ย.” ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด (ตรวจจับคนดื่มขับเพิ่มขึ้น) จะช่วยลดการสูญเสียจากการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะลดการเสียชีวิตจากดื่ม/เมาขับ ได้ไม่น้อยกว่า 20 รายและลดการบาดเจ็บได้ไม่น้อยกว่า 150-200 ราย (รวมไปถึงลดผู้พิการ 5-10 ราย) เพราะผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ร่วมกับเที่ยวงานรื่นเริงต่าง ๆ ในช่วงเย็นและค่ำ (เวทีหมอลำซิ่ง คอนเสิร์ต มิดไนท์สงกรานต์ ฯลฯ) ไม่นับรวมการสูญเสียจากค่าใช้จ่ายด้านคดีความ ทรัพย์สินเสียหาย ค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงความสูญเสียด้านอื่น ๆ ที่เป็นผลจากดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ทะเลาะวิวาท ฯ .. ที่สำคัญคือ ทำให้เทศกาลสงกรานต์และเทศกาลของครอบครัว อย่างน้อยก็วันที่ 13 เม.ย. ได้เป็นเทศกาลที่มีความสุขเพราะไม่ต้องมาคอยห่วงกังวลกับคนที่ออกไปนอกบ้านและจะเกิดเหตุรุนแรงหรือไม่ได้กลับมา เพราะผลจากดื่มแอลกอฮอล์