1 ใน 5 มาตรการ พบกรมวิชาการเกษตร ทำสื่อให้ความรู้ ‘พาราควอต’ แค่ 1 คลิป เผยแพร่ 3 ช่องทาง
'อิศรา' เช็คข้อมูลทำสื่อให้ความรู้ 'พาราควอต' หลังกรมวิชาการเกษตรสรุปผลก้าวหน้าดำเนินงาน เสนอคกก.วัตถุอันตราย พบเพียง 1 คลิปวิดีโอ เผยเเพร่ 3 ช่องทาง เฟซบุ๊ก ยูทูป เว็บไซต์ ตั้งเเต่ 2 ต.ค. 61
จากกรณีที่กรมวิชาการเกษตร ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กษ 0933/789 ถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เกี่ยวกับผลสรุปความความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยหนึ่งในมาตรการที่ได้ดำเนินการ คือ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารพาราควอต ผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Youtube และ Facebook ซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับการใช้สารพาราควอตเรียบร้อยแล้ว (อ่านประกอบ:เปิดเหตุผลยื้อต่ออายุ ‘พาราควอต’ รอประกาศฯ 5 ฉบับ กำหนดเงื่อนไข ก่อนแบนถาวร)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ตรวจสอบข้อมูล พบว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพาราควอตเป็นคลิปวิดีโอเพียง 1 ชิ้น เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 2 ต.ค. 2561 ผ่าน 3 ช่องทาง ได้เเก่ เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตร Youtube และแฟนเพจเฟซบุ๊ก
การใช้พาราควอตอย่างถูกต้องเเละปลอดภัย -สำนักควบคุมพืชเเละวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
(เผยเเพร่ทาง Youtube 4 ต.ค. 2561)
(เผยเเพร่ทางเเฟนเพจเฟซบุ๊กสำนักควบคุมพืชเเละวัสดุการเกษตร เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561)
(เผยเเพร่ทางเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562)
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เนื้อหาในคลิปวีดีโอเกี่ยวข้องกับการให้ความรู้เรื่องการใช้พาราควอตอย่างปลอดภัย รายละเอียดดังนี้
เกษตรกรจะต้องทราบถึง คุณสมบัติของพาราควอต วิธีการใช้ที่ถูกต้อง วิธีการดูแล และป้องกันตัวเองเพราะพาราควอตจัดเป็นสารกำจัดวัชพืชที่ไม่เลือกทำลาย ซึ่งมีกลไกลเข้าไปทำลายพืช โดยไปยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์แสงในเซลล์พืช ทำให้เกิดอนุมูลอิสระของออกซิเจน แล้วเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อของพืชอย่างรวดเร็ว ทำให้เซลล์พืชแตก และสูญเสียน้ำ จนพืชแห้งตายภายใน 1-2 วัน หากมีแสงแดดจัดพืชอาจตายได้ภายใน 1 วัน
อีกทั้งพาราควอตยังมีคุณสมบัติที่จะไม่เคลื่อนย้ายภายในต้นพืช หากฉีดพ่นตรงไหนก็จะตายตรงนั้น เกษตรกรจึงควรฉีดพ่นให้ทั่วถึง หากฉีดพ่นไม่ทั่วถึงวัชพืชก็จะแตกต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกษตรกรต้องเสียเวลาฉีดพ่นซ้ำ
เมื่อพาราควอตเป็นสารกำจัดพืชชนิดไม่เลือกทำลาย ดังนั้นการใช้พาราควอตจึงควรระมัดระวังไม่ให้ละอองพาราควอตไปถูกกับพืชที่ปลูก โดยจะสังเกตได้ว่าพาราควอตจะถูกใช้กำจัดวัชพืชในแปลงพืชชนิดที่ปลูกเป็นแถว เช่น อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ ซึ่งการฉีดพ่นพาราควอต ควรมีระยะปลอดฝนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง (หลังการพ่น) จึงจะเกิดประสิทธิภาพที่ดีที่สุด
อีกหนึ่งคุณสมบัติสำคัญของพาราควอต ในเรื่องความสำคัญกับดิน ในกรณีที่เกษตรกรบางรายฉีดพ่นพาราควอตที่ใช้ปริมาณน้ำมากเกินไป จนละอองไม่เกาะใบแล้วไหลลงดิน พาราควอตก็จะถูกไว้กับอนุภาคของดิน โดยแร่ดินเหนียว และอินทรียวัตถุ ที่อยู่ในดิน และอยู่ในสภาพเสื่อมฤทธิ์ ในการที่จะแยกสารพาราควอต ออกจากการดูดยึดของดิน ต้องนำดินไปต้มในกรดกำมะถันเข้มข้น 6N นาน 5 ชั่วโมง ดังนั้นในสภาพธรรมชาติ จึงเป็นไปไม่ได้ที่พาราควอตจะหลุดออกมาจากอนุภาคของดิน อีกทั้งในความเป็นจริง พาราควอตมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ หากตกลงสู่ดินก็จะถูกจุลินทรีย์หลายชนิดที่อยู่ในดินย่อยสลาย
การใช้พาราควอตแบบถูกวิธี และมีประสิทธิภาพ มีขั้นตอนวิธีการ ดังนี้
- ควรผสมพาราควอตในอัตราส่วนที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ คือ พาราควอต 300-500 ซีซี ผสมน้ำ 60-80 ลิตร ต่อการฉีดพ่น 1 ไร่
- ควรใช้หัวพ่นที่เหมาะสมกับพาราควอต คือ หัวพ่นแบบปะทะ หรือหัวพ่นแบบผ่า จะทำให้ละอองที่พ่นออกมาเป็นแนวระนาบแบบพัดทำให้สามารถกำจัดวัชพืชได้อย่างทั่วถึง แต่หากใช้หัวพ่นชนิดกรวยแบบฉีดยาฆ่าแมลงทั่วไป จะทำให้น้ำยาออกมามาก ละอองออกมาเป็นกรวย ละอองเม็ดใหญ่ทำให้สิ้นเปลืองน้ำยามากกว่า 2 เท่า และน้ำยาที่ฉีดพ่นจะไหลลงสู่ดิน และทำให้หมดประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช
- ควรตรวจหัวพ่นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่ชำรุด เพราะหากหัวพ่นชำรุดจะทำให้ประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชไม่ดี เพราะละอองไม่สม่ำเสมอ ส่วนที่ฉีดพ่นไม่โดนก็จะไม่ตาย
- ควรฉีดพ่นในขณะที่ วัชพืชยังต้นเล็ก/ไม่หนาแน่น เพราะหากวัชพืชมีต้นสูงและหนาแน่นซ้อนกัน จะกำจัดได้เฉพาะวัชพืชที่โดนพาราควอตเท่านั้น
- การฉีดพ่นพาราควอต โดยยกหัวฉีดให้ต่ำ ควรฉีดพ่นตอนเช้า หรือในขณะที่ลมสงบ
- ควรฉีดพ่นก่อนวัชพืชออกดอก-ติดเมล็ด
- พาราควอตสามารถกำจัดได้เฉพาะวัชพืชที่อยู่เหนือดิน ส่วนพืชที่มีหัวหรือมีเหง้าอยู่ใต้ดิน พาราควอตไม่สามารถกำจัดได้
- ไม่ควรฉีดพ่นพาราควอตแบบส่ายไปมา เพราะละอองจะไม่ครอบคลุมพื้นที่และสม่ำเสมอ
ใช้พาราควอตอย่างไรให้ปลอดภัย เกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้
- สำรวจเครื่องฉีดพ่น/ถังบรรจุสารเคมี ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ไม่มีรอยรั่วซึม เพื่อป้องกันพาราควอตสัมผัสผิวหนัง
- คนที่มีบาดแผลตามร่างกายห้ามพ่นพาราควอต เพราะมีโอกาสที่พาราควอตจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผล
- ระหว่างการใช้พาราควอตต้องแต่งตัวให้มิดชิดรัดกุม ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงมือ หมวก รองเท้า แว่นตา ผ้าปิดปากปิดจมูก
- หลังใช้พาราควอตต้องทำความสะอาดร่ายกายด้วยสบู่ เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อนรับประทานอาหาร หรือหยิบอาหารเข้าปาก
- แยกซักเสื้อผ้าที่สวมใส่หลังการฉีดพ่นให้สะอาด
อ่านประกอบ:มติคกก.วัตถุอันตราย ไม่เเบน 'พาราควอต' สั่งกรมวิชาการเกษตรหามาตรการทดเเทน-คาดเลิกถาวรใน 2 ปี
686 องค์กร แถลงผิดหวังมติไม่แบนพาราควอต ลั่นเดินหน้าหนุนผู้ตรวจการฯ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/