ธปท.เผยธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตโต260% -ปี61ยอดถอนเงินATMลด
แบงก์ชาติ ประกาศแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 หวังต่อจากนี้อีก 3 ปี Digital Payment จะเป็นทางเลือกหลักของการชำระเงิน เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ราคาถูก และตรงความต้องการของผู้ใช้ทั้งประชาชน
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธานในงานแถลงข่าวแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 และร่วมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวต่อไปของ Digital Payment” ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท กล่าวตอนหนึ่งถึงการใช้ Digital Payment ที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ Digital Payment เพิ่มมากขึ้น เช่น การใช้ Digital Payment ของรายย่อยโตขึ้นถึง 115% ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการใช้ถึง 5,868 ล้านรายการต่อปี (ณ 31 ธ.ค. 2561) เพิ่มขึ้น 83%จากปี 2559 เฉลี่ย 89 ครั้ง/คน/ปี ขณะที่ Internet Mobile Banking โตขึ้นถึง 260% มีจำนวน 27.8 ล้านบัญชี (ณ 31 ธ.ค. 2561) เพิ่มขึ้นจาก14.6 ล้านบัญชีในปี 2559 การใช้ Mobile ePayment มีจำนวน 47 ล้านบัญชี (ณ 31 ธ.ค. 2561) เพิ่มขึ้นจาก 21 ล้านบัญชีในปี 2559
"ธุรกรรมหลายอย่างที่อาศัยเงินสด กระดาษ ก็เริ่มมาเป็นดิจิทัล เพิ่มมากขึ้น เห็นได้จาก การโอนเงินผ่านสาขา ปี 2561 ลดลง 30% การโอนเงินและชำระเงินผ่าน ATM ลดลง 34% ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การใช้เช็คลดลงปีละ 6.6-6.7% และเป็นครั้งแรกที่ปี 2561 การถอนเงินสดผ่าน ATM ลดลง ทุกปีเห็นการถอนเงินสดผ่าน ATM เพิ่มขึ้น"
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงช่วงที่เริ่มทำพร้อมเพย์ Digital Payment เมื่อปี 2559 นั้น มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 49 ครั้งต่อคนต่อปี วันนั้นปริมาณการใช้ Digital Payment ของไทยน้อยกว่ามาเลเซียประมาณเท่าหนึ่ง ปัจจุบัน ในภาพรวมมีปริมาณการใช้ถึง 5,868 ล้านรายการต่อปี (ณ 31 ธ.ค. 2561) เพิ่มขึ้น 83%จากปี 2559 เฉลี่ย 89 ครั้งต่อคนต่อปี โดยการใช้พร้อมเพย์มีการลงทะเบียนรวม 46.5 ล้านเลขหมาย (ณ 31 ธ.ค. 2561) เฉลี่ย 4.5 ล้านรายการต่อวัน มูลค่าเฉลี่ย 5,000 บาทต่อรายการ ในปี 2561 เติบโตเฉลี่ย 20% ต่อเดือน นอกจากนี้ การใช้บัตรเดบิตและเครดิตขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะทาง Online ที่จำนวนการทำรายการเพิ่มขึ้น 155%
"หากเทียบกับสิงคโปร์ การใช้ Digital Payment 770 ครั้งต่อคนต่อปี ของไทยยังตามหลัง ดังนั้นเรายังมีโอกาสทำได้อีกเยอะมาก ซึ่งรากฐานหลายอย่างที่ทำไปเป็นพัฒนาการสำคัญของการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับการชำระเงินอิเล็คทรอนิกส์ ลดต้นทุนให้กับคนไทย ธุรกิจไทย สถาบันการเงิน และรัฐบาลไทย โดยเฉพาะเพิ่มโอกาสการมาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างใหม่ ๆ เหล่านี้"
ดร.วิรไท กล่าวถึงโจทย์ใหญ่ 3 ปีข้างหน้าด้วยว่า ทำอย่างไรให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักในการชำระเงิน ของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ธุรกิจกลุ่มต่างๆ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของแผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน ฉบับที่ 4 ซึ่งมุ่งสร้างระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ให้ Digital Payment เป็นทางเลือกหลักของการชำระเงิน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินและบริการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ราคาถูก และตรงความต้องการของผู้ใช้ทั้งประชาชน ธุรกิจ e-Commerce และ Social Commerce ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจ SME และธุรกิจขนาดใหญ่ ตลอดจนขยายการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านกรอบการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้ได้มาตรฐานพร้อมเชื่อมโยง(Interoperable Infrastructure) โดยเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงปลอดภัยของระบบการชำระเงินสำคัญให้ได้มาตรฐานสากล ยกระดับการใช้ ISO20022 เพื่อรองรับการส่งข้อมูลทางธุรกิจและการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ
(2) การส่งเสริมนวัตกรรมและบริการชำระเงิน (Innovation) โดยพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
(3) การส่งเสริมการเข้าถึงและใช้บริการชำระเงิน(Inclusion) โดยขยายการใช้ Digital Payment และความรู้ความเข้าใจในทุกภาคส่วน
(4) การกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยง(Immunity) สร้างภูมิคุ้นกันพร้อมรับมือภัยไซเบอร์และคุ้มครองผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม
(5) การพัฒนาข้อมูลชำระเงิน(Information)โดยเชื่อมโยงข้อมูลการชำระเงินอย่างบูรณาการและพัฒนาการวิเคราะห์เชิงลึกการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ฯ ฉบับนี้มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2562 –2564 โดย ธปท. จะร่วมกับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการชำระเงิน และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันมาตรการต่าง ๆ ให้บรรลุผล ซึ่งจะช่วยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินให้มีความมั่นคง ปลอดภัย รองรับการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน