นักวิชาการชงคุมโฆษณาเกษตรพันธะสัญญา – ตั้งองค์กรดูแลผลกระทบชาวบ้าน
นักวิชาการเสนอคุมโฆษณาชวนเชื่อเกษตรพันธะสัญญาในสื่อ ชงตั้งสมัชชาแห่งชาติลดช่องว่างขาดองค์กรดูแล จี้รัฐเพิ่ม กม.เอาผิดนายจ้างโก่งค่าแรง
วันที่ 26 มิ.ย. 55 คณะทำงานเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมของระบบเกษตรพันธะสัญญา จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 55 “เกษตรพันธะสัญญา : ใครอิ่ม ใครอด” ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยอ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวถึงวงจรเกษตรพันธะสัญญา ความหวังของเกษตรกรกับความเป็นจริงว่า ระบบเกษตรพันธะสัญญาขณะนี้มักถูกโฆษณาชวนเชื่อว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากรัฐบาลไทยร่วมมือกับบริษัทส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดและข้าวบาร์เลย์ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ทำให้ป่าไม้ถูกทำลายจนเกิดภัยธรรมชาติ นอกจากนี้กลุ่มชนเผ่าชาติพันธุ์ได้ร้องเรียนกับตนว่าหากชาวบ้านรับเมล็ดพันธุ์ของบริษัทมาเพาะปลูกเพื่อการเกษตรในระบบดังกล่าวจะไม่ถูกขับไล่จากหน่วยงานภาครัฐ แม้จะรุกพื้นที่ป่ามากก็ตาม เพราะมีกลุ่มทุนและการเมืองคอยหนุนหลัง แต่หากชาวบ้านทำการเกษตรวิถีชุมชนแบบไร่หมุนเวียนจะต้องโทษคดีอาญาและถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ ซึ่งแสดงถึงความไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้อ.ทศพลยังวิพากษ์กรณีรัฐบาลไทยนำมาตรฐานการตรวจสอบคุณภาพสินค้าของสหภาพยุโรป (อียู) มาใช้กับอุตสาหกรรมเกษตรพันธะที่มุ่งเน้นการทำฟาร์มแบบปิด เสมือนการเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนในการทำธุรกิจ เพราะเกษตรกรรายย่อยคงไม่มีเงินมากมายจะทำฟาร์มให้ได้มาตรฐานที่อียูกำหนด จากสาเหตุดังกล่าวทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยสร้างเครือข่ายธุรกิจตั้งแต่การผลิตจนถึงการกระจายสินค้าที่ผูกขาดครบวงจรผ่านร้านสะดวกซื้อที่ถูกกระตุ้นโดยการโฆษณาแฝงตามรายการต่าง ๆ โดยเฉพาะเรียลลิตี้โชว์ เพื่อสร้างยอดขายและภาพลักษณ์ต่อองค์กร
ดังนั้นจึงหวั่นว่าอนาคตเกษตรกรรายย่อยจะโดนกลุ่มทุนเอาเปรียบมากขึ้น จึงเสนอให้รัฐควบคุมการบิดเบือนข้อมูลการกดขี่ขูดรีดเกษตรกรผ่านการโฆษณาประชาสัมพันธ์และหลอกลวงผู้บริโภคทางวิทยุชุมชน เคเบิลท้องถิ่น และเพิ่มมาตรการทางกฎหมายป้องกันการผูกขาดทางการค้าเกี่ยวกับเนื้อหาพฤติกรรมการผูกขาดให้ชัดเจน ตลอดจนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคต้องปกป้องสิทธิเกษตรในฐานะผู้ซื้อปัจจัยการผลิต มิใช่ช่วยเหลือเฉพาะผู้บริโภคอาหารและยาเท่านั้น
ด้านดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม แสดงความห่วงใยกลุ่มแรงงานข้ามชาติและชนเผ่าชาติพันธุ์ที่ยึดอาชีพเกษตรพันธะเลี้ยงชีพถูกนายจ้างเอาเปรียบโก่งค่าแรงงาน และบังคับให้ตกอยู่ในสภาพลูกหนี้ผ่านวิธีหลอกล่อต่าง ๆ จนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ การแก้กฎหมายเพิ่มสิทธิจึงเป็นทางออกหนึ่งสำหรับคนกลุ่มนี้ เพราะหากจะส่งเสริมให้คนไทยหันมาประกอบอาชีพดังกล่าวมากขึ้นยาก เนื่องจากเห็นว่าการทำเกษตรพันธะเป็นงานสกปรก ยากลำบาก และอันตรายนั่นเอง
ขณะที่รศ.ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (ซีเอสอาร์) ของเกษตรพันธะสัญญาว่า บริษัทต้องหารือกับเกษตรกรเพื่อพัฒนาซีเอสอาร์ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย มิใช่เพียงการส่งตัวแทนองค์กรลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านเท่านั้น แต่ควรกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์รูปธรรมให้จัดตั้งสมัชชาเกษตรพันธะสัญญาแห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาการริดรอนสิทธิ ภายใต้การจัดตั้งพระราชบัญญัติเกษตรพันธะสัญญา และจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองได้ นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้บริษัทปรับปรุงระบบสัญญาแบ่งรับภาระความเสี่ยงกับเกษตรกร และไม่ผลักภาระต้นทุนให้ผู้บริโภคแบกรับ โดยเฉพาะเมื่อเกิดภัยพิบัติควรวางระบบการชดเชยที่ได้มาตรฐานและประกันรายได้ ที่สำคัญตัวแทนบริษัทต้องให้ความรู้แก่เกษตรกรทุกขั้นตอนการทำฟาร์มระบบปิดและใช้เทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
“มีงานวิจัยหลายฉบับระบุว่าระบบเกษตรพันธะสัญญาไม่ใช่เกษตรกรรม แต่เป็นอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าเท่านั้น จึงเป็นปัญหาในการหาหน่วยงานดูแลรับผิดชอบจริงจัง ที่สำคัญมีคนอ้างว่าหากองค์กรใดมีการทำซีเอสอาร์มาก เสมือนต้องการปกปิดสิ่งไม่ดีของหน่วยงานตนไว้” รศ.ดร.พอพันธ์กล่าว.