ประชาชาติชู "พหุรัฐ" ดับไฟใต้ ให้คนพื้นที่ออกแบบการปกครอง
หลายๆ พรรคการเมืองที่โลดแล่นอยู่ในสังเวียนการหาเสียงเลือกตั้งขณะนี้ ส่วนใหญ่จะมีนโยบายเน้นแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง และนโยบายแนวๆ ประชานิยม รวมไปถึงรัฐสวัสดิการ ประเภท "ลดแหลก แจกแถม" มีอยู่น้อยพรรคที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคม การอยู่ร่วมกันบนฐานพหุวัฒนธรรม และปัญหาชนกลุ่มน้อย
ทั้งที่ประเด็นเหล่านี้หากบริหารจัดการไม่ดี ย่อมเป็นสาเหตุของความขัดแย้งแตกแยก และยังเชื่อมโยงถึงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
พรรคการเมืองหนึ่งที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้อย่างแข็งขัน คือ "พรรคประชาชาติ"ที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา เป็นหัวหน้าพรรค และมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรค
ไอเดียเก๋ๆ ที่สอดคล้องกับแนวคิดพหุวัฒนธรรมซึ่งพรรคได้ดำเนินการแล้วก็เช่น เสนอรายชื่อแคนดิเดตนายกฯในบัญชีพรรคจาก 3 ศาสนา คือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ศาสนาอิสลาม, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ศาสนาพุทธ และ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม ศาสนาคริสต์
นโยบายหลักของพรรคที่เชื่อมโยงกับพหุวัฒนธรรม ก็คือการกระจายอำนาจ ทำให้กระทรวง ทบวง กรม เล็ก และสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นใหญ่ขึ้น มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ได้ติดยึดแค่เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเท่านั้น
เมื่อพรรคประชาชาติพูดถึงนโยบายกระจายอำนาจ ก็ต้องเงี่ยหูตั้งใจฟังเป็นพิเศษ เพราะพรรคประชาชาติมีฐานเสียงสำคัญจาก "กลุ่มวาดะห์" ที่เป็นนักการเมืองมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นแนวนโยบายกระจายอำนาจย่อมเชื่อมโยงกับรูปแบบการปกครองที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาไฟใต้ด้วย
"กระจายอำนาจต้องทำภายใต้ 4 เงื่อนไข" พ.ต.อ.ทวี เริ่มต้น
"4 เงื่อนไขที่ว่าคือท้องถิ่นนั้นมีกองกำลังทหารของตัวเองไม่ได้ ท้องถิ่นนั้นทำนโยบายต่างประเทศของตัวเองไม่ได้ ท้องถิ่นนั้นออกกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิ์ชาติพันธุ์ไม่ได้ ต้องมีหลักธรราภิบาล และท้องถิ่นนั้นต้องสร้างความเจริญ จะต้องแก้ปัญหาความยากจน สร้างอาชีพ ดูแลเรื่องสาธารณูปโภค ให้โอกาสทางการศึกษา และสำคัญอย่างยิ่งคือต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทุกวันนี้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและมลภาวะต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่ของส่วนกลางดูแล แต่ทุกปีป่าจะหายไปเกือบๆ แสนไร่ ทั้งๆ ที่เอางบประมาณไปใช้ปีละ 30,000 ล้านบาท ฉะนั้นถ้าจะแก้เรื่องนี้ แค่ใช้กฎหมายเดิม แต่ให้ผู้รักษาการตามกฎหมายเป็นชุมชนท้องถิ่น ก็จะช่วยได้มาก เพราะท้องถิ่นจะรู้ดีเรื่องทรัพยากร"
ในความเห็นของเลขาธิการพรรคประชาชาติ หลักการเรื่องการบริหารและการปกครอง คือหัวใจของการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้
"การบริหาร การปกครอง คือสิ่งที่อยู่ในใจของทุกฝ่าย แม้จะเป็นฝ่ายรัฐก็ตาม ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาโดย 'ทวิรัฐ' ไม่ใช่ 'พหุรัฐ' หรือ 'พหุวัฒนธรรม' คือแก้ปัญหาโดยฝ่ายความมั่นคงกับกลุ่มผู้เห็นต่าง แต่พอเกิดเหตุ คนที่ได้รับผลกระทบกลับเป็นผู้หญิง เด็ก คนบริสุทธิ์ ฉะนั้นวันนี้ต้องนำแนวทางพหุสังคม พหุรัฐ มาแก้ปัญหา"
"รูปแบบการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการศึกษามาเยอะ แต่ 4 เงื่อนไขต้องใช้ทั้งประเทศ รวมทั้งภาคใต้ด้วย จะได้มีความสบายใจว่าจะเป็นรูปแบบการปกครองที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ"
"สามจังหวัดใต้อาจจะเป็นรูปแบบที่เคยมีงานวิจัยศึกษาเอาไว้ เช่น รูปแบบ ศอ.บต. ที่มีสภา ศอ.บต. มีพระ สตรี พุทธ มุสลิม ปอเนอะ ตาดีกา เป็นตัวแทนอยู่ในสภา จากนั้นให้สภาไปเลือกเลขาธิการ ศอ.บต. สรรหาเลขาธิการ แต่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเป็นพหุวัฒนธรรมในการบริหาร เช่น ถ้าเลขาธิการที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นมุสลิม รองเลขาฯต้องเป็นพุทธ เป็นสตรี เป็นคริสต์ นี่ยกตัวอย่าง เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายรูปแบบจะเป็นอย่างไรต้องให้คนพื้นที่คิด เปิดพื้นที่ให้คนพื้นที่คิด เราอย่าไปคิดแทน"
พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า ผู้นำไม่ว่าระดับใด ควรมาจากประชาชน
"ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญ ไม่ว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างไร แต่คนมีความสำคัญที่สุด เพราะผู้นำ ถ้าถูกแต่งตั้งหรือสืบทอดอำนาจ เขาก็จะไปรับใช้คนที่เขาสืบทอดอำนาจมา แต่ถ้าผู้นำมาจากประชาชน หาก 4 ปีทำไม่ดี จะไม่มีสิทธิ์กลับมาเป็นผู้นำอีก ตัวอย่างเคยมีแล้วในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ช่วงปี 56 -57 มีการเลือกตั้งท้องถิ่น นายกองค์กรปกครองท้องถิ่นเดิมประมาณ 70-80% ถูกเปลี่ยนหมดเลย เพราะว่าคนภาคใต้ตื่นตัวทางการเมืองเยอะ ถ้าคุณมีภาพ ความไม่โปร่งใส ไม่มีธรรมาภิบาล ประชาชนพร้อมเปลี่ยน"
นี่คืออีกหนึ่งแนวนโยบายดับไฟใต้จาก "พรรคประชาชาติ" ซึ่งว่ากันว่าน่าจะเป็นหนึ่งในหลายๆ พรรคที่มีลุ้นแชร์เก้าอี้ ส.ส.ในการเลือกตั้งหนนี้ที่ดินแดนปลายด้ามขวาน
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"เสรีรวมไทย"ชูนโยบายดับไฟใต้ ดึงงบจากมือทหาร สร้างงานคนพื้นที่
"อภิสิทธิ์" ลั่นดึงกลับดับไฟใต้ใช้ "การเมืองนำการทหาร" ชูพลเรือนหัวหน้าพูดคุยฯ