ตุุลาการเตรียมชงศาล ปค.สูงสุดสั่งชดเชยชาวบ้านคลิตี้เพิ่มรายละ1.76 แสน
ตุลาการแถลงเตรียมชงศาลปกครองสูงสุดสั่งกรมควบคุมมลพิษชดเชยเพิ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วคลิตี้ 22 รายๆละ 1.76แสนบาท "สุนี ไชยรส"-ภาค ปชช.ผิดหวังไร้แนวทางฟื้นฟูลำห้วย
จากกรณีนายยะเสอะ นาสวนสุวรรณที่1 กับพวกรวม 22 คน (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (ผู้ถูกฟ้องคดี)ในคดีหมายเลขดำที่ อ.597/2551 พิพาทเกี่ยวกับการกระทำการละเมิดของหน่วยงานทางปกรองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินควร โดยสุรชัย ตรงงาม ผู้รับมอบอำนาจฟ้องว่ากรมควบคุมมลพิษไม่ตรวจสอบการประกอบกิจการบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอเนื่องจากบริษัทฯปล่อยน้ำเสียที่มีสารตะกั่วเจือปนในลำห้วยคลิตี้โดยเรียกค่าใช้จ่ายจากบริษัทฯ ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 พ.ค.51 โดยวินิจฉัยว่า นับแต่มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ พบว่าระยะแรกมีการปนเปื้อนของสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นต่อทรัพยากรน้ำและดินกินระยะเวลานานกว่า 10 ปี แม้ต่อมาผู้ถูกฟ้องจะมีหนังสือลงวันที่ 7 ธ.ค.50 ชี้แจงต่อศาลว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการประเมินความเสียหายก็ตาม แต่เป็นการดำเนินการหลังจากที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาล ผู้ถูกฟ้องจึงฟังได้ว่าละเลยต่อหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ปฏิบัติหน้าที่ฟื้นฟูหรือระงับการปนเปื้อนล่าช้าเกินควร จึงให้ผู้ถูกฟ้องชดใช้ค่าเสียหายผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 รายๆละ 33,782 บาทรวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 743,226 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 26 มิ.ย.55 นายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ประจำศาลปกครองสูงสุด แถลงการณ์ด้วยวาจาประกอบคำแถลงเป็นหนังสือลงวันที่ 14 มีนาคม 2555 ต่อองค์คณะที่ 5 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองสูงสุด ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 1 อาคารศาลปกครอง ชั้น 3ว่า ตุลาการผู้แถลงคดีพิเคราะห์เห็นว่าโรงตาแร่ของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษตามมาตร 4 ของพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เนื่องจากเป็นที่รวมของเสียคือสารตะกั่วและน้ำยาเคมีที่ใช้ในการแต่งแร่ปริมาณมาก ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับค่าชดใช้เสียหายและค่าทดแทนจากบริษัทตะกั่วคอนเซนเทรตส์ ตามมาตรา 6 วรรค 1 และศาลพิเคราะห์เห็นว่าบทบัญญัติมาตร 6 วรรค 2รัฐสภาบัญญัติหลักความรับผิดชอบของรัฐในฐานะรัฐที่ดี เพื่อชดใช้ค่าทดแทนแก่พลเมือง ซึ่งได้รับความเสียหายจากการแพร่กระของมลพิษที่มีสาเหตุมาจากการดำเนินกิจการหรือโครงการที่หน่วยงานรัฐมีส่วนร่วมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งทำให้พลเมืองเดือดร้อนเสียหายจากภยันตรายดังกล่าว
สำหรับระยะเวลาการชดใช้ค่าเสียหายที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารกำหนดให้คนละ 700 บาทต่อเดือนตามความเป็นจริง คือตั้งแต่เดือนพ.ย.45จนถึงวันที่ 27 ส.ค.47 เป็นเวลา 22 เดือน อย่างไรก็ตามเห็นสมควรให้จ่ายค่าทดแทนต่อจากวันที่ 27 ส.ค.47 ถึงวันที่ 21 มิ.ย.52 เป็นเวลาอีก 58เดือน เนื่องจากเป็นเวลาอยู่ในช่วงระยะเวลา 10 ปีของการปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายในการแบกรับภาระค่าซื้ออาหารคนละ 700 บาทต่อเดือน รวมเป็นเวลา 80 เดือนเป็นจำนวนเงินคนละ 56,000 บาท สำหรับกรณีการชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนในอนาคตจากการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติตามวิถีดั้งเดิม เช่น สมุนไพร หน่อไม้ ใบไม้ เปลือกไม้และผลไม้ กุ้ง หอย ปู ปลาและอื่น พิเคราะห์เห็นว่าค่าทดแทนคนละ 1,000 บาทต่อเดือนเป็นคำขอที่ไม่เกินความเป็นจริง เมื่อวินิจฉัยใช้ช่วงเวลา 10 ปีเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.42ถึงวันที่ 21 มิ.ย.52 ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายคนละ 1,000 บาทต่อเดือนหรือคนละ 12,000 บาทต่อปีรวมระยะเวลา 10 ปี เป็นจำนวนเงิน 120,000 บาท
เพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิที่พึงได้โดยชอบตามบทบัญญัติของกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิโดยชอบตามกฎหมายของประชาชนไม่ให้เสียไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมทางปกครอง ศาลปกครองในฐานะองค์กรตุลากรที่ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐต้องทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้นในสังคมไทยตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยสรุปสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น เป็นดังนี้ 1.ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าเสียหายหรือค่าทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนละ 176,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,872,000 บาท 2.ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสอง
นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดี กล่าวว่า ตัวแทนชาวบ้านยืนยันสารปนเปื้อนที่มีผลกระทบต่อชุมชนมายาวนาน ชาวบ้านมีความประสงค์กรมควบคุมมลพิษละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ชาวบ้านอยากให้มีการฟื้นฟูเพื่อกลับไปใช้ประโยชน์ดังเดิม ความเห็นตุลากรไม่ได้ผูกพันว่าศาลจะมีคำพิพากษาอย่างไร ตุลาการผู้แถลงคดีก็จะมีความเห็นไปอีกแนวทาง ท่าไม่ได้วินิจฉัยว่ากรมควบคุมมลพิษละเลยหรือไม่ แต่วินิจฉัยว่ากรมควบคุมมลพิษเป็นตัวแทนหน่วยงานรัฐ ซึ่งตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาตร 6 ถ้าเกี่ยวข้องอนุญาตโครงการใดที่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องชดใช้ค่าเสียหายเพราะรัฐทราบได้อยู่แล้วเพราะอนุญาตให้โรงงานไปตั้งเหนือต้นน้ำ คำวินิจฉัยให้แก้ศาลปกครองกลาง แต่ยังไม่ได้กำหนดให้มีการฟื้นฟู ซี่งความเห็นตุลาการไม่ได้ผูกพันองค์คณะที่จะมีคำพิพากษา เพราะได้มีการตั้งประเด็นในการละเลยการปฏิบัติ ซึ่งชาวบ้านยังมีความประสงค์ที่จะให้ศาลปกครองสูงสุดวางบรรทัดฐานให้กรมควบคุมมลพิษฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ปลอดภัยจากสารตะกั่ว
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ครั้งนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุดแต่ข้อสังเกตท่านไม่ได้วิเคราะห์การฟื้นฟู ประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านคาดหวังในการมาศาลปกครองสูงสุด คือคาดหวังว่าศาลจะให้มีการเกิดกระบวนการฟื้นฟู ตามที่ชาวบ้านต้องการ แต่ประเด็นนี้หายไปแล้ว เพราะศาลไปเน้นที่การเพิ่มเงินชดเชย แต่ข้อดีก็คือศาลระบุว่ากรมควบคุมมลพิษ แม้จะไม่ใช่ผู้กระทำโดยตรง แต่ในความเป็นรัฐต้องรับผิดชอบ ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ เพราะบางทีหน่วยงานรัฐจะปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการทำให้เกิดผลกระทบกับชุมชน แต่ศาลได้เปิดประเด็นว่า กรมควบคุมมลพิษไม่ใช่คนอนุญาต แต่ก็เป็นหนึ่งในภารกิจของรัฐ ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจสำหรับกรมต่างๆในการทำงาน แต่น่าเสียดายที่ศาลไม่รับในประเด็นฟื้นฟู เพราะไปยอมรับสูตรฟื้นฟูโดยธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านและภาควิชาการ ภาคประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่ามันไม่ใช่หลักการที่ถูกต้อง มันอาจจะสะท้อนว่าศาลคงต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจว่า ความเชี่ยวชาญของผู้เชี่ยวชาญอะไรเป็นสิ่งที่ถูก ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่มากในคดีสิ่งแวดล้อมในอนาคต ซึ่งต้องเอาคนเป็นตัวตั้ง เพราะคนอยู่กับตรงนั้นและไม่สบายใจที่จะยอมรับการฟื้นฟูโดยธรรมชาติ
“การยอมรับการฟื้นฟูโดยธรรมชาติจะมีปัญหาในระยะยาว เพราะสารตะกั่วอยู่ตรงนั้น ยังอยู่ไปชั่วนาตาปี ในขณะที่ชาวบ้านก็หวังว่าองค์คณะใหญ่ของศาลปกครองจะมีโอกาสพิจารณาอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าผู้เชี่ยวชาญที่หน่วยงานรัฐใช้มีข้อมูลทางเทคนิคมากมายกลายเป็นละเลยต่อชีวิตจริงของคน ขณะที่ค่าเสียหายไม่มีเรื่องพยาบาลจะป้องกันอย่างไร จะดูแลเด็กอย่างไร ถ้าศาลจะทำให้การฟื้นฟูแก้ปัญหาได้ มีกระบวนการไปรักษาสุขภาพของเด็กๆก็จะส่งผลทั้งหมู่บ้าน นี่แค่ 22 คนที่ตัดสินใจฟ้องแล้วได้เงิน ส่วนคนอื่นที่มีสารตะกั่วสะสมในร่างกาย ใครจะรักษาเขา ใครจะฟื้นชุมชนทั้งชุมชนให้อยู่ได้”
นายประชา อารุณศรีสุวรรณ 1 ใน 22 ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า เบื้องต้นรู้สึกดีใจที่ศาลให้ความช่วยเหลือเพิ่มเงินค่าเสียหาย เพราะชาวบ้านเดือดร้อนมานานกว่า10 ปีแต่ก็ยังๆไงก็อยากให้หน่วยงานรัฐเข้าไปฟื้นฟูลำน้ำเพราะยังมีอันตราย กุ้ง ปูปลาก็ยังกินไม่ได้ น้ำก็ยังใช้ดื่มใช้อาบไม่ได้เลย การฟื้นฟูยังไงก็ต้องหาวิธีให้ได้ เพราะที่ผ่านมายังไม่ทำอะไรเลย ถึงได้เงินมาก็คงช่วยไม่ได้มาก ระยะยาวจะยังคงเดือดร้อนเหมือนเดิม
ด.ช.มิตร นาสวนประภา อายุ 10 ปีอยู่บ้านคลิตี้ล่าง กล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆว่า สารตะกั่วทำร้ายชีวิตพวกเรา ทุกวันนี้ยังคงเดือดร้อน เพราะลงเล่นน้ำในลำน้ำไม่ได้ พ่อแม่ก็ทำมาหากินลำบาก ชีวิตผูกพันอยู่กับแม่น้ำมาตั้งแต่เกิด น้ำใช้ไม่ได้ อยากให้รัฐบาลเร่งเข้าไปฟื้นฟู เงินไม่อยากได้