ประเทศไทยกับการก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มภาคภูมิ
"...ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเดินครั้งสำคัญอีกครั้งไปสู่ยุค 4.0 พร้อมกับสิ่งขับเคลื่อนที่เรียกว่าเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อน องค์กรกลางที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นมาอย่าง “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเป็นองค์กรกลางประสานความร่วมมือภาครัฐเอกชนในการส่งเสริมสนับสนุนผลักดันธุรกิจดิจิทัลตลอดจนร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องนโยบายดิจิทัลต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในยุคใหม่ ดังเช่นประเทศไทยที่มีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้าอย่างสมภาคภูมิมาถึงวันนี้..."
บทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีต่อสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน "ปัจจัยห้า" ไปแล้ว โดยกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ล้วนแต่ผนวกรวมไว้ด้วยเทคโนโลยี เพื่อความสะดวกสบายและความรวดเร็วที่เพิ่มมากขึ้น การผนวกรวมเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับทิศทางการพัฒนาสังคมและประเทศชาติในด้านต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ขาดเสียมิได้ สิ่งนี้จึงนำไปสู่การขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมดิจิทัลซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ กอปรกับการทำธุรกิจทางเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่มีความสลับซับซ้อนและมีการแข่งขันทางการค้าสูง ตลาดด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงเติบโตทัดเทียมกับอุตสาหกรรมใหญ่อื่นๆ และจะเติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต การมีองค์กรกลางเพื่อกำกับดูแลและออกกฎระเบียบควบคุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งอดีต สมัยที่ประเทศไทยเริ่มมีการพัฒนาตัวเองจากการทำการค้า ประเทศเริ่มมีการพาณิชย์ที่เติบโตรุ่งเรือง ทำให้มีบริษัท ร้านค้า รวมถึงสมาคมการค้าในสาขาต่างๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงจำนวนผู้ประกอบธุรกิจชาวต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศ การพาณิชย์ในประเทศจึงมีความสลับซับซ้อนเพิ่มขึ้น โดยแปรผันตรงกับจำนวนผู้ทำการค้า ประกอบกับความแปรปรวนตามสภาพสังคมและผลกระทบทางการเมืองเป็นระยะ ทำให้การจัดระเบียบการค้านั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศดำเนินไปได้โดยไม่หยุดชะงัก โดยรัฐบาลได้ทำการจัดตั้ง "สภาการค้า" เพื่อเป็นองค์กรกลางในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินการส่งเสริมและจัดระเบียบการค้า ตลอดจนให้ข้อเท็จจริงและคำแนะนำแก่รัฐบาลในเรื่องการค้าและประสานงานต่างๆระหว่างผู้ประกอบการค้ากับทางราชการ โดยได้จดทะเบียนเป็นสมาคมภายใต้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2498 และกลายเป็น ”สภาหอการค้าไทย” อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้ ซึ่งทำให้การกำกับดูแลการพาณิชย์ในประเทศไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จนเมื่อมาถึงยุคที่กิจการทางด้านอุตสาหกรรมเติบโต เจริญรุ่งเรืองและมีการขยายตัวขึ้นมาก องค์กรกลางในการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลจึงเป็นสิ่งจำเป็นอีกเช่นเดียวกัน ประเทศไทยจึงได้มีการจัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมไทย ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. 2510 และกลายมาเป็น “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2530 ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นแกนกลางเสริมสร้างความเข้มแข็ง และผลิตภาพอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยให้ยั่งยืน” ทำให้การกำกับดูแลกิจการของอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ
ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเดินครั้งสำคัญอีกครั้งไปสู่ยุค 4.0 พร้อมกับสิ่งขับเคลื่อนที่เรียกว่าเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเต็มไปด้วยความซับซ้อน องค์กรกลางที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นมาอย่าง “สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเป็นองค์กรกลางประสานความร่วมมือภาครัฐเอกชนในการส่งเสริมสนับสนุนผลักดันธุรกิจดิจิทัลตลอดจนร่วมมือกับรัฐบาลในเรื่องนโยบายดิจิทัลต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในยุคใหม่ ดังเช่นประเทศไทยที่มีสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนประเทศให้ไปข้างหน้าอย่างสมภาคภูมิมาถึงวันนี้
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Thaitribune