“ณรงค์ชัย” จวกค่าแรง 300 บ.-เงินเดือน 1.5หมื่นกระทบ 25 ล้านคน อัด น.ยอดแย่คุมจานด่วน
อดีต รมว.พาณิชย์ ชี้ขึ้นค่าแรงทั่ว ปท. 300บ.-เงินเดือน 1.5หมื่น กระทบแรงงานนอกระบบ 25 ล้านคน ชี้นโยบายคุมราคาจานด่วนยอดแย่ แนะคุมมาเฟียขายส่งแทน นายจ้างเตรียมถกวิกฤติยุโรปต่อค่าแรง
วันที่ 26 มิ.ย.55 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีราคาสินค้าปีนี้ซึ่งจะแพงขึ้นจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท และการเพิ่มเงินเดือน 1.5 หมื่นบาทว่าผู้ที่จะได้รับผกระทบมากที่สุดคือ คนที่ทำอาชีพอิสระ 10 ล้านคนที่ค้าขายหาบเร่แผงลอย และไม่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าแรงหรือการเพิ่มเงินเดือน และยังจะถูกรัฐบาลควบคุมการขายสินค้าอาหารจานด่วนที่เป็นอาชีพส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการอาชีพอิสระ
โดยปัจจุบันแรงงานอายุ 15 ปี ขึ้นไปมีจำนวน 55 ล้านคน ทำงานจริงประมาณ 40 ล้านคน เป็นแรงงานในระบบ 15 ล้านคน ที่เหลือ 25 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบอาชีพอิสระ จำนวนนี้ 15 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตร 15 ล้านคน และค้าขาย 10 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายอะไรของรัฐบาลเลย ทั้งขึ้นค่าแรงเงืนเดือน ระบบสวัสดิการต่างๆ ประกันสังคมก็ไม่ได้รับ
"นโยบายการคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์ เป็นที่สุดของนโยบายยอดแย่ เพราะนอกจากไม่แก้ปัญหายังเป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม ทั้งเรื่องการลดปริมาณและคุณภาพ จนทำให้สินค้าขาดแคลน"
อดีต รมว.พาณิชย์ กล่าวอีกว่าผู้ประกอบการอาชีพอิสระ ไม่ว่าจะขายข้าวแกงหรือค้าขายเล็กๆน้อยๆ ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่ม เพราะต้องคิดต้นทุนในส่วนของค่าแรงตัวเองที่ต้องการได้เพิ่มขึ้นตามนโยบายการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล และยังมีต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต้องแพงขึ้น ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ไม่ควรไปควบคุมราคาสินค้าจากผู้ประกอบการอาชีพอิสระอีกต่อไป แต่ควรแก้ปัญหาโดยลดการผูกขาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ และการผูกขาดของมาเฟียตามตลาดสดขายส่งที่มีอยู่จำนวนมาก ที่เป็นต้นเหตุสำคัญทำให้ราคาสินค้าแพง แต่ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ดำเนินการในเรื่องนี้น้อยมาก เพราะไม่ต้องการไปกระทบผลประโยชน์ของนายทุน
นายณรงค์ชัย ยังมองว่าการที่ราคาสินค้าที่แพงขึ้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับ 3% กว่าๆ เป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยในีนี้ไม่ควรต่ำกว่า 5.5% เพราะเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาได้รับกระทบจากน้ำท่วมใหญ่ หากมีแนวโน้มเศรษฐกิจโตน้อยกว่าระดับดังกล่าว ทาง กนง. พร้อมจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขณะนี้อยู่ระดับ 3% ลดลง เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้การขยายตัวเศรษฐกิจ ยังมีปัญหาจากการลงทุนของภาครัฐที่ดำเนินการได้ล่าช้า นอกจากนี้การขยายตัวการส่งออกยังทำไม่เต็มที่ เพราะภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีการต่อรองเรื่องค่าจ้างกับนายจ้างไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ภาพรวมของการผลิตมีปัญหาผลิตสินค้าไม่ทันความต้องการของผู้บริโภคที่ยังมีอยู่
ด้าน นายปัณณพงศ์ อิทธิอรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง เปิดเผยว่าเตรียมนำประเด็นวิกฤตหนี้ยุโรปเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางวันที่ 4 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจการส่งออก เศรษฐกิจไทยในภาพรวมและภาวะการจ้างงานในอนาคต รวมทั้งผลกระทบต่อการขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ที่จะถึงนี้ แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง 4 ก.ค. ไม่มีวาระพิจารณาเรื่องนี้ แต่ตนจะเสนอเป็นวาระอื่นๆเพื่อให้ที่ประชุมหารือ
"กรรมการฝ่ายนายจ้างได้หยิบยกประเด็นนี้มาหารือบ้างแล้ว และขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องศึกษาหามาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น"นายปัณณพงศ์ กล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าวิกฤตหนี้ยุโรปทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในโซนนี้ลดลง และส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ ขณะที่ไทยตั้งเป้าขยายตัวเลขการส่งออกไว้ที่ 15% ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนื่อย เพราะยอดส่งออกเดือน ม.ค.-เม.ย. ติดลบ 3.87% เพิ่งมาบวก 7% ในเดือน พ.ค. ฉะนั้นเดือนที่เหลือในปีนี้ต้องทำให้ตัวเลขเป็นบวก 25% ทุกเดือนเพื่อชดเชยยอดส่งออกที่ลดลงในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อภาวะการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม เพราะทุกวันนี้ใช้กำลังผลิตน้อยอยู่แล้วแค่ 65% ของกำลังการผลิตทั้งหมด กำลังแรงงานที่หายไปในช่วงน้ำท่วมปี 2554 ยังกลับสู่ภาคการผลิตไม่หมด
"การขึ้นค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ม.ค. รัฐบาลได้เดินหน้าไปมากแล้วและคงยากที่จะกลับตัว ที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นห่วงคือต้นทุนค่าแรงทำให้กำไรน้อยลงและไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่นได้ และเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าในอนาคตเนื่องจากเงินทุนจากยุโรปไหลเข้าตลาดหุ้นในประเทศจนกระทบต่อการส่งออกมากกว่า" นายธนิต กล่าว