"อภิสิทธิ์" ลั่นดึงกลับดับไฟใต้ใช้ "การเมืองนำการทหาร" ชูพลเรือนหัวหน้าพูดคุยฯ
ช่วงใกล้เลือกตั้งแบบนี้ คงละเลยไม่ได้ที่จะต้องสอบถามพรรคประชาธิปัตย์ว่ามีนโยบายแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เพราะพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศพรรคนี้ มีฐานเสียงสำคัญอยู่ที่ภาคใต้และปลายด้ามขวาน
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าจะนำแนวทาง "การเมืองนำการทหาร" กลับมาใช้เพื่อปรับทิศทางนโยบายให้ถูกต้องเหมาะสมกว่าเดิม ภายหลังรัฐบาล คสช.มุ่งใช้ "การทหารนำการเมือง" จนทำให้สถานการณ์ในภาพรวมไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะเหตุรุนแรงต่อเนื่องช่วงหลังปีใหม่ในวาระ 15 ปีไฟใต้
"ขอเน้นย้ำว่าประชาธิปัตย์เป็นพรรคเดียวที่สมัยเป็นรัฐบาลใช้หลัก 'การเมืองนำการทหาร' จริงๆ เพราะเราไม่ได้มองว่าปัญหานี้จะแก้ได้โดยอาศัยฝ่ายความมั่นคงฝ่ายเดียวเพียงลำพัง แล้วปล่อยให้ทหารตำรวจดูแลไป แต่เราทำเป็นระบบ เราก็เลยผลักดันกฎหมาย ศอ.บต. (พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553) ออกมาเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารพื้นที่ ซึ่งน่าเสียดายว่ารัฐบาลนี้ไปดึงให้ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไปอยู่ภายใต้ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ในเชิงการทำงาน"
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 51-54 บอกว่า ได้พยายามวางแนวทางลดการใช้กฎหมายพิเศษลง และเน้นการพัฒนาพื้นที่ พร้อมเสริมสร้างความเข้าใจ แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ทุกอย่างก็หยุดชะงักไป ฉะนั้นหากได้กลับมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารอีกครั้ง ก็จะดึงการแก้ไขปัญหาให้กลับมาสู่รูปรอยที่ถูกต้องเช่นเดิม
"เราจะสร้างระบบให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ ที่ผ่านมาเราก็ค่อยๆ ลดเรื่องของการใช้กฎหมายพิเศษ (ลดพื้นที่การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เราเป็นคนริเริ่มตรงนี้ (ยกเลิกอำเภอแรกที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) และให้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความมั่นใจเรื่องการรักษาความปลอดภัยควบคู่ไปกับการให้การทำงานของทุกหน่วยงานเน้นไปที่เรื่องการพัฒนา แนวทางนี้เป็นแนวทางที่เราได้เริ่มต้นเอาไว้ ฉะนั้นถ้ามีโอกาสก็จะกลับไปสานต่อ"
แต่ปัญหาสำคัญที่ต้องยอมรับก็คือ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานขององค์กรดับไฟใต้ในพื้นที่ บางเรื่องดำเนินการโดยใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ประเด็นนี้ อภิสิทธิ์ มองว่าหากมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งกลับเข้ามาทำหน้าที่ ก็ต้องแก้ไขอำนาจพิเศษเหล่านั้น แม้จะเป็น ม.44 ก็ต้องแก้ไข ยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลง
"เราไม่เห็นด้วยกับการไปลดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะกฎหมาย ศอ.บต.มีโครงสร้างของสภาที่ปรึกษา ซึ่งมีตัวแทนของประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งตัวแทนองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน แต่ในยุครัฐบาลชุดนี้กลับยกเลิก ฉะนั้นถ้าเราได้กลับมาบริหารอีก ก็จะต้องแก้ไข แล้วก็ยืนยันว่าหนทางที่จะเดินไปข้างหน้าต้องแก้ด้วยการเมือง บางเรื่องที่มีคำสั่งตามมาตรา 44 อยู่ก็แก้ได้ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อยกเลิกคำสั่งตามมาตรา 44 ได้ ถ้าจำเป็นต้องทำก็ต้องทำ เป็นเรื่องของนโยบาย ทิศทางของเราก็ชัดเจนว่าแตกต่างจากที่รัฐบาลชุดนี้ทำมา"
ส่วนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่มีทหารเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯมาแล้ว 3 คน ตั้งแต่ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาถึงรัฐบาล คสช. ซึ่งแตกต่างจากยุคประชาธิปัตย์ที่ใช้พลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยนั้น แม้ประเด็น อภิสิทธิ์ ไม่ได้ตอบตรงๆ ว่าจะเข้าไปเปลี่ยนแปลง แต่หากจับสัญญาณจากคำตอบก็น่าเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น
"การพูดคุยเป็นนโยบายที่ทำกันมานานแล้ว แต่มาเปิดเผยในรัฐบาลชุดที่แล้ว (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) ฉะนั้นหลังจากนี้ก็ต้องเดินต่อ แต่ต้องเป็นการพูดคุยที่มีทิศทาง ไม่ใช่เป็นการพูดคุยโดยไม่มีความชัดเจนว่าจะคุยกันเรื่องอะไร"
"เรามองว่าในที่สุดการพูดคุยไม่ใช่เรื่องของความมั่นคงที่จะเป็นตัวชี้ขาด แต่เป็นเรื่องของการเมืองว่าข้อเรียกร้องคืออะไร แล้วรัฐบาลไทยคิดว่าการจะตอบสนองความคิดเห็นที่มันแตกต่างอยู่ในรูปแบบไหน อย่างไร เพราะฉะนั้นการพูดคุยจะเน้นเอามิติตรงนี้เข้าไป ก็ต้องไปหาบุคคลที่เหมาะสม แต่ฝายความมั่นคงก็ต้องมีส่วนร่วม เพราะเวลาเราไปพูดคุยแล้วจะต้องมีการทำข้อตกลง หรือทำการทดลองทดสอบมาตรการบางอย่าง ก็ต้องได้รับความร่วมมือและความเข้าใจจากทางกองทัพและฝ่ายความมั่นคงด้วย"
เมื่อพูดถึงข้อเสนอทางการเมือง หลายคนก็หวนคิดไปถึงเรื่อง "เขตปกครองพิเศษ" หรือ "เขตปกครองตนเอง" ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายความมั่นคงและผู้คนในหลายภาคส่วนในสังคมค่อนข้างกังวล แต่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกว่าเรื่องการปรับโครงสร้างการปกครอง จริงๆ แล้วคือแกนหลักของการแก้ปัญหา ซึ่งน่าจะมีรูปแบบที่ดีและไม่กระทบกับความเป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งก็คือการกระจายอำนาจให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่นั่นเอง
"เราคิดว่าเวลาไปใช้คำว่าการปกครองตนเอง มันฟังแล้วอาจจะน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วหลักของเราคือการกระจายอำนาจ และพรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายเรื่องการเลือกตั้วผู้ว่าฯอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าการที่จะหาคำตอบในเชิงการกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ น่าจะเป็นทางออกที่ดี และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่กระทบกระเทือนกับคนอื่นๆ เพราะในนั้นมีความหลากหลาย เป็นพหุวัฒนธรรมอยู่ ก็ต้องรักษาความสมดุลกันให้ได้ด้วย ผมคิดว่าไม่ได้ยากเกินไป"
นี่คือแนวทางและนโยบายหลักๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ หากได้มีโอกาสเข้าไปจัดการปัญหาไฟใต้อีกคำรบ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ : "เสรีรวมไทย"ชูนโยบายดับไฟใต้ ดึงงบจากมือทหาร สร้างงานคนพื้นที่