จะพัฒนาแบบยั่งยืนหรือฉาบฉวย...ต้องเลือกให้ดี
"...นโยบายหลายต่อหลายเรื่องพยายามเน้นแต่โปรโมทสร้างกิเลสให้คนในประเทศหลงไปกับกำไรจากการผลิตการขาย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในระยะยาว ทั้งนี้มักประสบความสำเร็จในการเรียกคะแนนนิยมเสมอมา เนื่องจากคนไม่รู้เท่าทัน..."
ชุมชนเข้มแข็ง...โอกาสยั่งยืนย่อมมีมาก
หลายวันก่อนผมได้มีโอกาสไปซาฟารีเมืองไทยที่สร้างความประทับใจอย่างมาก
หากลองค้นหาข่าวเก่าๆ สักปีที่แล้ว บางคนอาจเคยได้อ่านพบว่า อ.กุยบุรี มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และวางตำแหน่งการตลาดแบบ Niche market กล่าวคือไม่ได้เน้นแบบขายธรรมชาติทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงิน แต่เน้นการขายอัตลักษณ์แบบไม่โลภมาก หากลุ่มนักท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อให้ธรรมชาติได้รับผลกระทบให้น้อยๆ ไม่ใช่เอาแต่โปรโมทจนกระทั่งคนแห่แหนกันมาช่วยกันปู้ยี่ปู้ยำท้องถิ่นบ้านเกิดของชาวบ้าน สิงสาราสัตว์ และสิ่งแวดล้อมจนเสื่อมโทรม
ผมตัดสินใจพาภรรยาไปที่หมู่บ้านรวมไทย อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึงชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานราชการ เพื่อพัฒนาป่าในถิ่นฐานบ้านเกิดของเค้าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชมช้างและกระทิง
พื้นที่นี้อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติกุยบุรีประมาณ 16 กิโลเมตร จัดเป็นพื้นที่ที่ได้รับการอนุรักษ์เนื่องจากเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่า สมัยนั้นมีนายทุนมาบุกรุกป่าค่อนข้างมาก และทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่ามากมาย จึงทรงมีพระราชดำริให้เกิดโครงการอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้ขึ้นมา
ชาวบ้านเล่าว่า เดิมก็ทำมาหากินอยู่ในพื้นที่นี้ แต่ไม่มีโฉนด ทางการจึงพยายามหาแนวทางแบบ "วิน-วิน" ทั้งชาวบ้านและรัฐ ซึ่งออกมาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันคือการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อสร้างให้เกิดรายได้หมุนเวียนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้การท่องเที่ยวชมช้างป่าและกระทิงนี้ ร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการจุดตรวจห้วยลึก อ.กุยบุรี และชาวบ้านในหมู่บ้านรวมไทย โดยจัดให้มีรอบการเข้าซาฟารีในป่าทุกวัน ตั้งแต่เวลา 14.00-18.00 น. โดยแต่ละวันชาวบ้านจะจัดเวรกันมาทำหน้าที่ไกด์ และขับรถพาเข้าไปชมสัตว์ป่า
ค่าเข้าชมนั้นเหมารถกระบะของชาวบ้าน คันละ 850 บาท และหากต้องการเช่ากล้องส่องทางไกล ก็คิดตัวละ 100 บาท
ปัจจุบันมีชาวบ้านในหมู่บ้านเข้ามาร่วมโครงการนี้กับที่ทำการจุดตรวจห้วยลึก ราว 50 คัน แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวโดยเฉลี่ย 10 คันต่อวัน ในช่วงระยะเวลา 4 ชั่วโมงที่เปิดทำการ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ที่จะมีนักท่องเที่ยวเยอะกว่าวันธรรมดา
เสน่ห์ของการท่องเที่ยวของที่นี่คือ ความเป็นระบบของการจัดการ รับรู้ได้ตั้งแต่การขับรถเข้ามาถึงบริเวณพื้นที่หมู่บ้านรวมไทย ที่มีการจัดสรรพื้นที่ในหมู่บ้านเป็นฐานๆ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าไปเยี่ยมชมหัตถกรรมพื้นบ้าน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่แปรรูปจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่
จากนั้นพอขับเลยมาถึงบริเวณที่จอดรถของที่ทำการจุดตรวจห้วยลึก จะพบว่ามีการจัดที่ทางสำหรับจอดรถไว้แบบมืออาชีพ ดูเรียบร้อย สะอาด และมีการตกแต่งสถานที่ที่สวยงาม กำหนดการต่างๆ ถูกจัดตรงเวลา มีที่พักรอนัดหมายสำหรับนักท่องเที่ยว และพอถึงเวลาก็มีการจัดเรียงให้เดินทางอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
ชาวบ้านที่มาดูแลนักท่องเที่ยวแต่ละคันนั้นจะมีคนนึงเป็นคนขับ อีกคนจะเป็นไกด์ นักท่องเที่ยวและไกด์จะนั่งบริเวณท้ายกระบะ ซึ่งมีการจัดวางไม้กระดานที่หุ้มด้วยวัสดุพลาสติกสีที่ดูเรียบร้อย พาดไว้ให้นั่งอย่างสะดวกสบาย แต่ละคันก็จะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาแต่ละกลุ่ม อย่างคันของเราก็มีเพียงผมและภรรยา ทำให้รู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องเบียดเสียดหรือปะปนกับกลุ่มอื่นๆ
ที่น่าสนใจคือ ชาวบ้านที่มาร่วมด้วยช่วยกันทำงานนี้ล้วนเป็นคนในหมู่บ้าน แม้เดิมจะไม่ประสีประสาเรื่องภาษาต่างประเทศเลย แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ ต้องพบเจอชาวต่างชาติ ทั้งรัสเซีย เยอรมัน หรือแม้แต่ประเทศอื่นๆ ที่ใช้ภาษาอังกฤษ ก็พยายามฝึกฝน เท่าที่สังเกตพบว่าหลายต่อหลายคนพูดโต้ตอบได้อย่างไม่เคอะเขิน เป็นการ Learning by doing...
เราใช้เวลาเดินทางตะลุยป่า โดยชาวบ้านจะประสานงานทางวิทยุกับทางเจ้าหน้าที่ทางการซึ่งจะช่วยประจำจุดต่างๆ ในบริเวณป่า และแจ้งให้ทราบว่าพบสัตว์ป่าที่จุดใด ชาวบ้านก็จะพานักท่องเที่ยวไปจอดรถชมสัตว์ป่ากัน ทั้งนี้มีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นจุดชมสัตว์ป่าอย่างเป็นที่เป็นทาง ภูมิทัศน์สวยงาม
คุณจูน ซึ่งเป็นไกด์ของเราเล่าความรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่า ทั้งช้าง กระทิง นก และต้นไม้ชนิดต่างๆ อย่างคล่องแคล่ว เราคุยกันถึงโป่งที่เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งคุณจูนชี้ให้เราดูโป่งธรรมชาติแหล่งสุดท้ายอยู่ที่ใด และชาวบ้านวางแผนจะทำโป่งให้สัตว์ป่าเพิ่มเติม ผมฟังด้วยความสนใจและไต่ถามเกี่ยวกับรายละเอียดการทำโป่งว่าต้องทำอย่างไรบ้าง คุณจูนก็ให้ความรู้พวกเราได้เป็นอย่างดี
ตอนแรกคิดอยู่ในใจว่า น่าจะใช้เวลาไม่นาน แต่เอาเข้าจริงๆ การตะลุยซาฟารีนี้ใช้เวลาสามชั่วโมงผ่านไปอย่างรวดเร็ว เราเจอทั้งช้างป่าตัวใหญ่เดินตัดทางโชว์ตัวให้เราเห็นระยะใกล้ หรือตัวกลางตัวเล็กมายืนกินหญ้าอย่างสบายอารมณ์ ฝูงกระทิงมากันเป็นสิบตัวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ และยังได้เจอเนื้อทรายที่มานอนพักให้เราเห็นตัวเป็นๆ
ชาวบ้านเล่าว่า เดิมมีการเปิดซาฟารีให้เดินทางไปทั่วป่า แต่ระยะหลังมีการตัดสินใจกันทั้งทางการและชาวบ้านว่า จำกัดเส้นทางการส่องสัตว์เป็นเพียงด้านเดียว เพื่อที่จะให้สัตว์ป่านั้นมีพื้นที่ปลอดภัย และมีความเป็นส่วนตัว คำบอกเล่าดังกล่าวนี้ทำให้ผมรู้สึกชื่นชมอยู่ในใจ เพราะแสดงถึงความห่วงใยต่อผืนป่าและสัตว์ป่า มิได้มุ่งเน้นแต่การหากำไรเชิงพาณิชย์
การทำงานในลักษณะดังกล่าวของชุมชนหมู่บ้านรวมไทยนี้มีโอกาสทำให้เกิดความยั่งยืนสูง เพราะแสดงถึงความร่วมไม้ร่วมมือกันของชุมชนและรัฐ การมีความคิดสร้างสรรค์ การประกอบการโดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนและสัตว์ป่าในผืนป่า ตลอดจนการจัดระบบท่องเที่ยวโดยเน้นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
เหมือนที่ผมชอบบรรยายให้น้องหมอและน้องๆ ป.โท ป.เอก ฟังว่า ความยั่งยืนนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้หากเราหมั่นคำนึงถึง Collaboration, Creativity, Cultural fit, และ Continuity by existing resources
ดูชาวบ้านรวมไทยแล้วหันมามองระดับประเทศ
ฤดูกาลหาเสียงของเหล่าการเมือง เราดูแล้วควรหันมาพิจารณาให้ดีว่า ควรเลือกใคร ไม่ควรเลือกใคร
นโยบายหลายต่อหลายเรื่องพยายามเน้นแต่โปรโมทสร้างกิเลสให้คนในประเทศหลงไปกับกำไรจากการผลิตการขาย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมในระยะยาว ทั้งนี้มักประสบความสำเร็จในการเรียกคะแนนนิยมเสมอมา เนื่องจากคนไม่รู้เท่าทัน
นโยบายบางเรื่อง พยายามโปรโมทโดยกลุ่มการเมืองตลอดจนนักวิชาการและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อยกเลิกบางสิ่งบางอย่าง โดยอ้างข้อมูลด้านเดียว แต่มิได้คำนึงถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมโดยรวม และความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การอยู่ การสื่อสาร การทำงาน ฯลฯ
ถ้าเราเรียนรู้จากชุมชนหมู่บ้านรวมไทย อ.กุยบุรี เราจะพบว่าชีวิตคนไทยน่าจะมีความสุขอย่างยั่งยืนได้ หากมีการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง รับความคิดเห็นของคนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ พิจารณาวิถีชีวิตของคนอย่างรอบด้าน และดูด้วยว่าที่เราฝันอยากจะทำนั้น ทรัพยากรที่เรามีนั้นมีมากน้อยเพียงใด และใช้อย่างรอบคอบ เพื่อให้ใช้ได้อย่างยาวนานและต่อเนื่อง
เราจะสามารถแยกแยะได้ระหว่าง "คนจริงใจ กับนายตอแหล"
สวัสดีวันอาทิตย์ครับ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก NoozUp และ cedworks.com