นักวิชาการชี้สื่อกินยาฆ่าตัวตาย ‘โฆษณาแฝง’ ทีวีดิจิทัล-ผู้บริโภคมีทางเลือกแพลตฟอร์มอื่น
สำนักงาน กสทช. เผยผลสำเร็จ ร่วมมือ อย. มอนิเตอร์โฆษณาแฝงทีวี-วิทยุ พิจารณาเร็วขึ้น ภายใน 1 สัปดาห์ จากเดิม 7-8 เดือน ด้านนักวิชาการสื่อ ชี้กำกับดูแลยังจำเป็น แนะหาวิธีทำให้ผู้บริโภคแยกแยะจริง-ลวง
วันที่ 8 ก.พ. 2562 ส่วนงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที NBTC Public Forum: ความร่วมมือกำกับดูแลโฆษณาแฝงเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ณ หอประชุมชั้น 1 สำนักงาน กสทช. กรุงเทพฯ
ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้ปฏิบัติงานประจำกรรมการ สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคคาบเกี่ยวกันหลายหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานหลักคือ กสทช. กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยหลักเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในวิทยุโทรทัศน์ จะส่งข้อมูลไปให้ อย. แต่กว่าผลการพิจารณาจะแล้วเสร็จและส่งกลับมา ใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือน ประกอบกับ อย.และกสทช. ต่างมีกฎหมายเป็นของตนเองใช้ลงโทษ ทำให้อาจมีปัญหาว่า เอกชนทำความผิด 1 ครั้ง แต่กลับถูกหน่วยงานรัฐลงโทษ 2 ครั้ง ทำให้จะเกิดปัญหาในอนาคตหรือไม่
“ต้นปี 2561 ได้ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ โดยเมื่อ 4 พ.ค. 2561 ได้ทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงานกสทช.กับอย. ว่าต่อไปนี้ เมื่อปัญหาการร้องเรียนเกิดขึ้น ขอให้มาที่วอร์รูม ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงาน กสทช. จัดพื้นที่ให้ทีมงานของ อย. 7 คน มอนิเตอร์ ทำให้การพิจารณาเรื่องร้องเรียนรวดเร็วขึ้นแล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ จากเดิม 7-8 เดือน” ผู้ปฏิบัติงานฯ สำนักงาน กสทช. ระบุ
ด้าน ดร.ชนัญสรา อรนพ ณ อยุธยา รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า กลไกการรับเรื่องร้องเรียน และการทำงานของภาครัฐล่าช้า ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำงานกันอย่างไร ภายใต้ระบบที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะปัจจุบันไม่มีเฉพาะโทรทัศน์เท่านั้น ทั้งนี้ โฆษณาแฝงเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสาร มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่ ซึ่งถือเป็นธรรมชาติการโฆษณาที่ใช้หลักการโน้มน้าวใจ ทำอย่างไรให้สินค้าไปเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่เป็นเป้าหมายของเรา อย่างไรก็ตาม กลับพบว่าปัจจุบันไม่ได้มุ่งเชื่อมโยงระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่พยายามจะสร้างความเกี่ยวพันมากเกินกว่าสปอตโทรทัศน์ ซับซ้อน และละเอียดมากขึ้น
“การกำกับดูแลมีความจำเป็น โดยหลักการต้องทำให้ผู้บริโภคแยกได้ว่าสิ่งไหนเป็นโฆษณา สิ่งไหนไม่ใช่โฆษณา ทั้งนี้ การโฆษณาต้องมีอยู่เพื่อการอยู่รอดของคนทำโทรทัศน์และสื่อ รวมถึงสุนทรียะของคนดู ดังนั้นต้องทำให้มีความสมดุลกัน” นักวิชาการ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าว
ขณะที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า คนชมโทรทัศน์ลดน้อยลง ถึงแม้จะมีตัวเลขระบุกว่าร้อยละ 50 ยังชมโทรทัศน์ แต่แนวโน้มในอนาคตเชื่อว่า จะลดน้อยลง ทั้งนี้ ไม่แปลกใจเพื่อความอยู่รอดของโทรทัศนืดิจิทัล ทุกอย่างต้องคำนวณ เป็นเรื่องของรายได้ เพื่ออยู่รอด ในวันนี้จะเห็นภาพว่า พยายามตัดรายจ่ายหลายอย่าง หนึ่งในนั้น คือ บุคลากร และคาดหวังจะมีรายได้จากการโฆษณา แต่ปรากฎว่า 5 ปีที่ผ่านมา รายได้ไม่เป็นไปตามคาด เพราะฉะนั้นต้องลดรายจ่ายลง
อีกเรื่องหนึ่ง คือ หารายได้ทุกทาง โดยจะเห็นว่า เม็ดเงินโฆษณา ในอดีตราคาหลักหมื่นและหลักแสน ช่องแทบไม่สนใจ ต้องหลักล้านถึงหันมามอง แต่วันนี้คุยกับผู้ประกอบการบางท่าน มีเงินสดหลักหมื่น หลักพัน ก็เอาแล้ว ที่เหนื่อยคือไปแย่งโฆษณาจากโทรทัศน์ดาวเทียม วิทยุชุมชน มาทั้งหมด ทำให้สิ่งที่เคยปรากฎขายยาในสื่อเหล่านั้น ย้ายแพลตฟอร์มมาโทรทัศน์ดิจิทัล
ขณะที่ผู้ประกาศข่าวหลายท่าน มาปรึกษาว่า ไม่พูดโฆษณาออกอากาศไม่ได้ เพราะจะตกงาน ถือเป็นความคับข้องใจของคนทำงาน ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอด แต่ปัญหาอยู่ที่คนทำงานโทรทัศน์ดิจิทัล ไม่รู้ว่ากำลังฆ่าตัวตาย กินยาฆ่าตัวตายไปทีละนิด หากเป็นเมื่อก่อน คนชมโทรทัศน์ไม่มีโอกาสเลือกแพลตฟอร์มอื่น แต่วันนี้มีแพลตฟอร์มอื่นให้เลือกมากมาย
พร้อมกับตั้งคำถามว่า กสทช. ได้มอนิเตอร์หรือไม่ หากได้ดำเนินการแล้วพบความผิด ดำเนินการอย่างไร และกรณีไม่ดำเนินการ ถือว่าผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 หรือไม่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/